นัยของร่างแผนลงทุนระยะยาวฉบับใหม่ของประธานาธิบดีไบเดน ต่อ หุ้นสหรัฐฯ

นัยของร่างแผนลงทุนระยะยาวฉบับใหม่ของประธานาธิบดีไบเดน ต่อ หุ้นสหรัฐฯ

ในช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดน ได้เปิดเผยข้อเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวฉบับปรับปรุงใหม่ ภายใต้แผน  Build Back Better มูลค่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าน้อยกว่าข้อเสนอเดิมซึ่งอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และช่วยบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด ครอบคลุมการใช้จ่ายที่สำคัญ เช่น การใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดและการแก้ปัญหาโลกร้อน (วงเงิน 555 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ) งบประมาณอุดหนุนการดูแลเด็ก ซึ่งรวมถึงการให้เรียนฟรีสำหรับเด็กอายุ 3-4 ปี (วงเงิน 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และ การลดหย่อนภาษีรายได้จากการทำงานและค่าลดหย่อนบุตร ซึ่งรวมถึงการเพิ่มประกันสุขภาพ ผ่านการขยาย Affordable Care Premium Tax Credit (วงเงิน 330 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ด้านการจัดหารายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายตามแผน Build  Back Better นั้น มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปรับขึ้นภาษีที่สำคัญ เช่น การเก็บภาษีขั้นต่ำกับบริษัทขนาดใหญ่ อยู่ที่ 15%  การเก็บภาษีจากการซื้อหุ้นคืนของบริษัท อยู่ที่ 1% การปรับขึ้นอัตราภาษีบนรายได้จากต่างประเทศ (Global Intangible low-tax income: GILTI) อยู่ที่ 15% รวมทั้ง การเก็บภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่รายได้เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 5% และสำหรับผู้ที่รายได้เกิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 3%

SCB CIO ประเมินผลกระทบจากข้อเสนอการจัดเก็บภาษีใหม่ภายใต้แผน Build Back Better ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวม คาดว่าจะส่งผลลบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ น้อยกว่า ข้อเสนอด้านภาษีในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากข้อเสนอตามแผนฯ ยังคงอัตราภาษีบนรายได้จากในประเทศของบริษัทไว้ในระดับปัจจุบันที่ 21% ต่ำกว่าข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และข้อเสนอเดิมของประธานาธิบดี ไบเดน ที่ต้องการให้ปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวอยู่ที่ 26.5% และ 28% ตามลำดับ นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราภาษี GILTI จาก 10.5% เป็น 15% ก็ต่ำกว่าข้อเสนอของสภาผู้แทนฯ และข้อเสนอเดิมของประธานาธิบดี ไบเดน ที่ต้องการให้ปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวไปอยู่ที่ 16.5% และ 21% ตามลำดับ ดังนั้นเราจึงประเมินว่าผลลบที่มีต่อแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ จึงน้อยลงกว่าข้อเสนอด้านภาษีในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้นักวิเคราะห์บางแห่ง ได้ประเมินว่าแผนการจัดเก็บภาษีใหม่ข้างต้นจะส่งผลกดดันกำไรสุทธิ (EPS) ของดัชนี S&P500 ในปี 2022 ให้ปรับลดลง 2.2%-3% เมื่อเทียบการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายในระดับปัจจุบัน และดีขึ้นจากประมาณการตามสมมติฐานก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะลดลง 4-5% นอกจากนี้หากรวมผลกระทบเชิงบวกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวที่เน้นการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางลบสุทธิต่อ EPS ในปี 2022 อาจต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ และตลาดได้ประเมินไว้

หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่านแผน Build Back Better ได้แก่ กลุ่ม Industrial ที่ได้รับอานิสงค์ทางอ้อม จากการจัดหาวัตถุดิบที่จำเป็น สำหรับใช้ตามแผนการลงทุนด้านพลังงานสะอาด กลุ่มที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านพลังงานสะอาด

ที่ได้รับแรงหนุนจากเครดิตภาษีสำหรับการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ในวงเงิน 430 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศและมลพิษที่รุนแรง ในวงเงิน 105 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ กลุ่ม Consumer ที่ได้รับอานิสงส์จากแผน Build Back Better ที่ช่วยเพิ่มสวัสดิการ ทั้งในด้านการดูแลเด็ก ที่พักอาศัย และสุขภาพ และจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อโดยรวมของผู้บริโภค ขณะที่ในช่วงตั้งแต่เกิดโควิด-19 กลุ่มผู้มีรายได้สูง ได้มีการกันเงินออมส่วนเกินกว่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาระภาษีที่เกิดขึ้น จากแผนการจัดเก็บภาษีใหม่

สำหรับหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลลบจากแผน Build Back Better หลักๆ ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Tech, Health Care และ Communication Service ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษี GILTI บนรายได้จากต่างประเทศ จาก 10.5% เป็น 15% รวมทั้ง การเก็บภาษีขั้นต่ำที่ 15% ขณะที่ หุ้นกลุ่ม Financials และ Tech จะได้รับผลกระทบจากข้อเสนอการเก็บภาษีบนการซื้อหุ้นคืน ที่ 1% โดยคาดว่า บริษัทสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเร่งเพิ่มการซื้อหุ้นคืน ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากแผนการจัดเก็บภาษีใหม่ มีแนวโน้มเริ่มถูกบังคับใช้ปีหน้า

กล่าวโดยสรุป หุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนระยะยาว ได้แก่ กลุ่ม Industrial, Clean Energy และ Consumer ส่วนหุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหลักจากแผนการจัดเก็บภาษีใหม่กับภาคธุรกิจ แต่ได้รับอานิสงส์จากแผนการใช้จ่ายตามแผน Build Back Better ค่อนข้างจำกัด ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Tech, Financials และ Communication Service อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามต่อไป ได้แก่ วงเงินของแผนใช้จ่าย และขนาดของการจัดหารายได้ หลังผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรส ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ข้อเสนอในท้ายที่สุดจะมีการจัดเก็บภาษีน้อยกว่าข้อเสนอตามแผน Build Back Better ล่าสุดนี้ รวมทั้งการตอบสนองของบรรดานักวิเคราะห์ และตลาด ต่อแผนการจัดภาษีใหม่ ซึ่งโดยรวม อาจทำให้คาดการณ์ EPS ปี 2022 ของดัชนี S&P500 ถูกปรับประมาณการเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิม