สกุลเงินดิจิทัล กับการลงทุนที่มากกว่าการเก็งกำไร

สกุลเงินดิจิทัล กับการลงทุนที่มากกว่าการเก็งกำไร

หนึ่งในประเด็นสำคัญในแวดวงการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมาหนีไม่พื้นการทำราคาสูงสุดใหม่ของบิทคอยน์ที่ระดับ 67,000 ดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 2.22 ล้านบาท ต่อ 1 เหรียญ และการจัดตั้งกองทุนบิทคอยน์อีทีเอฟ (ETF) ที่อิงกับราคาบิทคอยน์ฟิวเจอร์ส

ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการตอบรับในเกณฑ์ดี สะท้อนจากมูลค่าซื้อขาย 984 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาทในวันแรกของการซื้อขาย เมื่อรวมเข้ากับการเติบโตในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ แนวคิดในการอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาดำเนินธุรกรรมทางการเงินแทนตัวกลางดั้งเดิม หรือ ที่เรารู้จักสั้นๆ ว่า Defi (Decentralized Finance) หรือเรื่องของการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ในรูปของ Non-fungible Token (NFT) โดยแม้จะยังมีปัญหากับทางการในบางประเทศรวมถึงความพยายามในการจัดระเบียบในรูปแบบต่างๆ แต่สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถาม ว่าหากมองในแวดวงการลงทุน นอกเหนือไปจากการเก็งกำไรในระยะสั้น สินทรัพย์เหล่านี้เหมาะสมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดพอร์ตฟอลิโอของเราหรือไม่ หรือควรหรือยังที่จะนับเป็น Asset Class กลุ่มหนึ่ง

คำว่า Asset Class ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในแวดลงการลงทุน คือ การจัดกลุ่มสินทรัพย์ที่มีลักษณและพื้นฐานใกล้เคียงกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ การลงทุนทางเลือก โดยแต่ละกลุ่มก็มีการจัดกลุ่มย่อยลงไปอีกเพิ่มเติม เช่น ตราสารหนี้รัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หุ้นใหญ่ หุ้นเล็ก ต่างๆ กันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนี้ที่ต้องจัดกลุ่มเดียวกันเพื่อให้เรากำหนดน้ำหนักภาพรวมของการลงทุนในแต่ละกลุ่มได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบทนคาดหวังที่เรารับได้

หากมองในลักษณะสินทรัพย์สำหรับการลงุทนเพื่อเก็บมูลค่าของเงิน (Store of Value) ว่าสกุลเงินเหล่านี้ลงทุนแล้วจะสามารถรักษามูลค่ากำลังการซื้อของเราไว้ได้หรือไม่ เราน่าจะคาดเดาได้ไม่ยากจากราคาของสกุลเงินหลักๆ ที่โดยรวมๆ เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น และการเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ หรือหากมองลึกลงไป นับตั้งแต่วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2551 ปริมาณเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นอัดฉีดเข้าไปในระบบนั้นมีจำนวนมหาศาล การถือสินทรัพย์ดั้งเดิม (Traditional Asset) หากมองในรูปของมูลค่าที่แท้จริง หักการเติบโตของเงินในระบบและเงินเฟ้อนั้นแทบจะรักษาระดับมูลค่าของเงินของเราไว้ไม่ได้เสียด้วยซ้ำ ยังไม่นับรวมกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องเป็นประวัติการ ทำให้เราต้องตั้งคำถามในส่วนนี้ให้ดีว่าสินทรัพย์ดั้งเดิมนั้นยังตอบโจทย์ในเรื่องของการเก็บมูลค่าของเงิน ในโลกการเงินปัจจุบันจริงๆ หรือไม่ และสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้หากรู้และเข้าใจ นำเสนอทางเลือกอะไรให้เราได้บ้าง

แน่นอนว่าในอนาคตหากสกุลเงินดิจิทัลหมดความนิยมลง และไม่สามารถเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม หรือตอบโจทย์ธุรกรรมทางการเงินได้อีกต่อไป การพิจารณาสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ในฐานะของการเก็บมูลค่าของเงินก็คงหมดไปโดยอัตโนมัติ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ดีว่าความกังวลดังกล่าวน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ น่าจะแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถตอบโจทย์และช่วยเสริมประสิทธิภาพในหลายๆ ด้านที่ตลาดการเงินดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความโปร่งใส การมีส่วนช่วยพัฒนาระบบการชำระเงินให้มีต้นทุนที่ถูกลง ทำได้สะดวกมายิ่งขึ้น

การกู้ยืมเงิน และยังไม่รวมประโยชน์ต่างๆ อีกมากมาย ส่วนประเด็นเรื่องของ ESG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฟอกเงิน หรือการสิ้นเปลืองพลังงานในการพิสูจน์ธุรกรรมหรือที่เรียกกันว่าการขุดเหมือง (ซึ่งไม่ใช่สำหรับทุกสกุลเงิน) นั้น หากมองในเรื่องของอรรถประโยชน์น่าจะมีมากกว่าความเสี่ยงในด้านนี้ แต่ก็ต้องคอยจับตาดูพัฒนาการในด้านนี้ต่อไปครับ

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่น โดยหากเรากระจายลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกัน พอร์ตการลงทุนของเราความเสี่ยงก็จะลดลง เมื่อเทียบกับกรณีที่สินทรัพย์ของเราขึ้นลงพร้อมๆ กัน ซึ่งมีการคำนวณในหลากหลายตำรา หลากหลายบทความ โดยหากยึดบิทคอยน์เป็นตัวประมาณการจะพบว่าความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ดังเดิมนั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ต่ำกว่าความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและพันธบัตรเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นในกรณีนี้บทบาทค่อนข้างชัดเจนในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตฟอลิโอ แม้แต่ในกรณีที่เราต้องการผลตอบแทนไม่มาก ซึ่งสินทรัพย์ดั้งเดิมยังสามารถให้ผลตอบแทนได้ แต่การเพิ่มทางเลือกในการลงทุน โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นๆ ต่ำ จะสามารถทำให้เรารักษาระดับผลตอบแทนได้ ด้วยความเสี่ยงที่ต่ำลง ความกังวลอีกอันหนึ่งก็คือเรื่องของความผันผวนที่นับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก อาจจะสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่หลายเท่าตัวเสียด้วยซ้ำ แต่ความผันผวนที่สูงมากหากเราบริหารจัดการ โดยเฉพาะการกำหนดน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสม ความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัลคงไม่ได้ทำให้พอร์ตการลงทุนของเราทั้งหมดเสี่ยงมากจนเกินไป

ท้ายนี้ทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นของผู้เขียน เราควรจะมีสินทรัพย์ดิจิทัลไว้บ้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ลงทุนเอง ในขณะที่การลงทุนจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูล มีกระบวนการตรวจสอบ รวมถึงการติดตามภาวะตลาดและการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง การเลือกจะลงทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับประเด็นในส่วนนี้ด้วย เราไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่เราไม่มีความเข้าใจที่ดีเพียงพอ หากคิดจะลงทุนจำเป็นจะต้องพิจาณาและทำความเข้าใจในหลายๆ ด้านก่อนด้วยครับ .... รู้จักในสิ่งที่ลงทุนจะได้รู้และเข้าใจเวลาที่เกิดความผันผวนครับ