9.หนี้สินครัวเรือนไทยเป็นนิวนอร์มอล

9.หนี้สินครัวเรือนไทยเป็นนิวนอร์มอล

ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด หนี้สินกลายเป็นนิวนอร์มอลของผู้คนจำนวนมาก เพราะผู้ที่ไม่เคยเป็นหนี้ก็มาเป็นหนี้ครั้งแรก ผู้ที่มีหนี้อยู่แล้วก็ต้องกู้จนไม่มีใครให้กู้ แม้แต่รัฐเองก็ต้องขยายเพดานเงินกู้

ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเป็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย การทบทวนข้อมูลหนี้สินครัวเรือนในโครงการอนาคตประเทศไทยแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติพบว่า หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 2 ของเอเซียตะวันออกคือสูงถึงร้อยละ 78.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในปี 2561 ส่วนหนี้ภาคเอกชนค่อนข้างคงที่ประมาณร้อยละ 70.5 ของ GDP ในปี 2560 เมื่อสิ้นปี 2563 หนี้สินของครัวเรือนไทยเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ร้อยละ 89.3 

อัตราการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน อัตราการเป็นหนี้นี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 40.6 ในปี 2547 และร้อยละ 66.2 (สศช. 2564)  หนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลในเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นั้นเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายจูงใจให้ซื้อรถคันแรกหลังจากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 

การวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อรายบัญชีของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ชี้ชัดว่าคนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้นและมีหนี้ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 25 ปีและสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ คนไทยในกลุ่มเริ่มทำงาน (อายุ 20 - 25 ปี) นั้นกว่าครึ่งมีหนี้ นอกจากนี้ ยอดหนี้ต่อหัวยังสูงขึ้นและเป็นหนี้นานขึ้น แม้ว่าจะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วประมาณร้อยละ 30 ของกลุ่มนี้ยังมีหนี้อยู่และมียอดหนี้ต่อหัวสูงกว่า 150,000 บาทต่อราย 

ผู้กู้มักจะเป็นรายเดิมๆ และกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่โดยเฉพาะลูกหนี้ในเมืองใหญ่มียอดหนี้สูงกว่าจังหวัดอื่นมาก ยอดหนี้และภาระหนี้ที่สูงกว่ารายได้มี ทำให้ขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้และขาดภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (วิรไท สันติประภพ, 2564)

หนี้สินในภาคเกษตร ก็มีปัญหาไม่แพ้กลุ่มในเมืองและเป็นหนี้ประเภทดินพอกหางหมู ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 แสดงว่าหนี้สินสะสมรายปีของเกษตรกรต่อครัวเรือนสูงถึงเกือบ 200,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 55 เป็นหนี้เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้านเกษตร และจะสามารถชำระหนี้คืนได้เพียงประมาณร้อยละ 35 ของมูลค่าหนี้สินเท่านั้น ส่วนข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือนในปี 2556 แสดงว่า ภาระหนี้สินต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 5.5 เท่าของรายได้ต่อเดือนเป็น 7.8 เท่าของรายได้ในปี 2560 และเกษตรกรผู้เช่าที่ดินมีภาระหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 6.8 เท่าเป็น 8.8 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรรุ่นใหม่ยังมีหนี้เร็วขึ้นและมูลค่าของหนี้ก็ใหญ่ขึ้น ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการชะลอการชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้แก่เกษตรกร  

การศึกษาของ ผศ.ดร.ศิวาพร  ฟองทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 พบว่า นอกจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงแล้ว ด้านทัศนคติของการมีหนี้จะเปลี่ยนไปตามรุ่นอายุ กล่าวคือ กลุ่ม Baby boomers (อายุ 56 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มที่ยังเห็นหนี้สินเป็นภาระ คือ กลุ่มผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยชรา คนกลุ่มนี้มองว่าการกู้ยืมเงินไม่ใช่เรื่องปกติในชีวิต จะกู้เมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือการกู้ยืมมาลงทุนทำการเกษตรจากการกู้ยืมกองทุนหมู่บ้าน 

สำหรับกลุ่ม Gen X (อายุ 41-55 ปี) กลุ่มนี้กล้าที่จะกู้ยืมมากขึ้น การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเพื่อนบ้านต่างก็เป็นหนี้เหมือนกัน หรือกู้เพื่อรักษาสิทธิที่ตนเองต้องไปค้ำประกันเพื่อน ความจำเป็นต้องใช้เงินด้านการศึกษาของบุตร ซึ่งยิ่งเรียนสูงขึ้นหรือไปเรียนต่างจังหวัดค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมากขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่สะดวกมากขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้ครัวเรือนมีหนี้มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้น ยังกู้เพื่อซื้อ “ของมันต้องมี” ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ลูก (เทวดา) สามารถไปเล่าเรียนได้อย่างสะดวกสบาย แม้เมื่อปลดหนี้เกษตรได้แล้วก็ยังต้องช่วยกู้ยืมแทนบุตรหลาน  ส่วนกลุ่ม Gen Y (อายุ 23-40 ปี) ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้ต้องเป็นหนี้ เมื่อแยกออกมามีครอบครัวก็อยากสร้างเนื้อสร้างตัว หนี้ก้อนแรกของครัวเรือนเกิดจากการศึกษาของบุตร และกู้ยืมมาเพื่อลงทุน  แต่กลุ่มนี้เห็นว่าตนเองอายุยังน้อยสามารถทำงานหาเงินได้อยู่ ดังนั้นการเป็นหนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว    

สิ่งที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคแบบ 4.0 ผ่านระบบการขายดิจิทัลไปเร็วกว่าวิถีการผลิตที่ยังเป็นเกษตรแบบดั้งเดิม (2.0 และ 3.0) และยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างรายได้จะทำให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการเพิ่มรายได้

หนี้ครัวเรือนในระดับสูงหมายความว่า ครัวเรือนไทยมีเงินออมต่ำ ซึ่งจะฉุดรั้งการขยายตัวของการลงทุนและขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่มีกำลังในการลงทุนเพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและอาจมีไม่เพียงพอสำหรับอนาคตเมื่อตนเป็นผู้สูงอายุและไม่มีรายได้แล้ว ต้องตกเป็นภาระของลูกหลาน  กลายเป็นผู้สูงวัยที่เป็นภาระทางการคลังของภาครัฐที่ต้องดูแลในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยที่มีหนี้สูง (การออมต่ำ) จำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงและไม่มีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุการณ์พลิกผัน เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดการบริโภคของรัฐอาจมีประสิทธิผลลดลง เพราะครัวเรือนที่มีหนี้ต้องนำเงินที่ได้รับจากการเยียวยาไปชำระหนี้ก่อนแทนที่จะนำไปบริโภคโดยตรง

การแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยคงไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มรายได้หรือลดเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเท่านั้น แต่ในโลกยุคใหม่ที่สินค้าและบริการไหลอย่างต่อเนื่องเข้ามาในมือถือและการตัดสินใจง่ายแค่กระดิกปลายนิ้ว การสร้างทักษะในการจัดการเงินเป็นเรื่องจำเป็นและน่าจะเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียน งานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 เกี่ยวกับทักษะด้านดิจิทัลพบว่ากว่า 3 ใน 4 ของนักเรียนมัธยมที่จังหวัดน่าน เริ่มสั่งสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่มีรายได้
    เราคงไม่อยากมีหนี้ออนไลน์มาพอกหางหมูเพิ่มอีกเป็นแน่!!