โทเคนดิจิทัล NFT : ลิขสิทธิ์เป็นของใคร?

โทเคนดิจิทัล NFT : ลิขสิทธิ์เป็นของใคร?

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเล่าถึง NFT ว่าคืออะไร ครั้งนี้จึงหยิบยกเรื่องราวของ NFT มาเล่าอีกครั้ง แต่ในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบ้าง

NFT, Blockchain และกรรมสิทธิ์

        NFT (Non-Fungible Asset) คือ การออกโทเคนดิจิทัลประเภทที่มีทรัพย์สินอ้างอิงเป็นทรัพย์ประเภทที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นของหายากและไม่สามารถนำทรัพย์สินอื่นมาทดแทนกันได้ หรืออาจเป็นทรัพย์สินประเภทที่มีชิ้นเดียวบนโลก เช่น งานศิลปะ งานเพลง คลิปวีดีโอภาพเคลื่อนไหว หรืองานสะสม ทั้งที่มีงานจริงอยู่ในทางกายภาพ หรืองานนั้นอาจอยู่ในรูปดิจิทัลทั้งหมดก็ได้

           ดังนั้น NFT จึงเปรียบเสมือนใบแสดงกรรมสิทธิ์ในรูปแบบดิจิทัลของทรัพย์สินที่ถูกจดบันทึกไว้แบบ distributed ledger บนบล็อกเชน ซึ่งจะทำหน้าที่ บันทึก และ ติดตาม (Tracks & Report) ประวัติการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ NFT หรืออาจกล่าวได้ว่า NFT ได้ถูกใช้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เนื่องจากสามารถเป็นหน่วยที่เก็บมูลค่าของทรัพย์สิน และผู้ถือครองสามารถเก็งกำไรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

          อย่างไรก็ดีสำหรับผู้เขียน เห็นว่าแม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะทำให้การโอน NFT เป็นเรื่องที่สามารถบันทึกที่มาที่ไปของการจำหน่ายจ่ายโอนได้ แต่ยังคงมีประเด็นในเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญหาที่ชวนคิดอยู่หลายแง่มุม

 

        หลักเรื่องลิขสิทธิ์

        ทรัพย์สินที่มักนิยมนำมาอ้างอิงในการออก NFT นั้น ส่วนมากมักเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี งานศิลปะ หรืองานดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ (ข่าว หรือข้อเท็จจริง ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารแม้จัดทำในรูปแบบดิจิทัล ก็ไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย)

         ลิขสิทธิ์ในงานจะเกิดขึ้นอัตโนมัตินับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานเสร็จ (โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนก่อนจึงมีสิทธิ) เช่น เมื่อนาย ก. วาดภาพรูปหนึ่งเสร็จ ลิขสิทธิ์ในงานนั้นย่อมเป็นของ นาย ก. ทันที

         ประเด็นคำถามที่ตามมา คือ หาก นาย ก. นำภาพวาดดังกล่าวไปออก NFT และมีผู้ซื้อ NFT ดังกล่าวไป ลิขสิทธิ์ในภาพวาดจะเป็นของใคร?

 

        ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์?

        ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า   ลิขสิทธิ์ในภาพวาด (ที่มีอยู่ในโลกกายภาพ) ยังคงเป็นของผู้สร้างสรรค์เสมอ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่นหรืออาจกล่าวได้ว่า NFT คือ โทเคนดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาให้มีลักษณะคล้ายเป็น หน่วยที่ใช้เก็บข้อมูลในการซื้อ NFT ที่อ้างอิงกับทรัพย์สินประเภทต่างๆ ซึ่งผู้ถือ NFT อาจไม่ได้ลิขสิทธิ์ในงานจริงที่อยู่ในโลกกายภาพเลยก็ได้  

         เช่น NBA NFT ที่ถูกสร้างโดยการอ้างอิงคลิปวีดีโอไฮไลท์จากการแข่งขันบาสเกตบอล NBA ซึ่งเงื่อนไขที่ผู้สร้าง NBA NFT ได้ระบุไว้ในสัญญา คือ ผู้ซื้อจะไม่ได้สิทธิในการตัดต่อ เปลี่ยนแปลง หรือทำซ้ำในคลิปวีดีโอ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจาก NBA ก่อน โดยหากมีการละเมิดสิทธิดังเช่นว่า แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการซื้อขาย สามารถลบหรือหยุดการให้บริการต่อบัญชีของผู้ซื้อทันที

         ดังนั้น ผู้ซื้อ NFT ในกรณีนี้ จึงได้เพียงแค่สิทธิในการเก็บคลิปวีดีโอไฮไลท์ดังกล่าวไว้ในบัญชีของตนเท่านั้น ซึ่งลิขสิทธิ์ทั้งหมดยังคงเป็นของ NBA แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive right)

        ในทางกลับกัน กรณีของ Sir Tim Berner-Lee นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้สร้าง World Wide Web ในปี 1999 เจ้าของลิขสิทธิ์ Source Code ต้นฉบับ ได้นำงานดังกล่าวออกมาประมูลในแบบ NFT และไม่ได้กำหนดข้อจำกัดในเรื่องการใช้สิทธิเข้มงวดอย่างกรณีของ NBA ซึ่งผู้ที่ประมูลได้สามารถทำซ้ำงานของเขาในรูปแบบดิจิทัลได้ ซึ่งถือเป็นการให้ลิขสิทธิ์รูปแบบหนึ่งต่อผู้ที่เป็นเจ้าของ NFT ดังกล่าว

        ดังนั้น “licensing agreement” หรือ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิของ NFT แต่ละเหรียญจึงมีความแตกต่างกันตามข้อกำหนดของเจ้าของงาน หรืออาจกล่าวได้ว่า กรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ ของงานอ้างอิงที่อยู่ในโลกกายภาพ อาจไม่ได้ถูกส่งผ่านไปยังผู้ถือ NFT ทั้งหมด

 

        การละเมิดสิทธิ และข้อจำกัดของบล็อกเชน

      แม้ NFT พยายามสร้างสถานะในโลกดิจิทัลให้กับงานอ้างอิงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกกายภาพ อย่างไรก็ดี กรณีจะเป็นเช่นไร หากเจ้าของลิขสิทธิ์นำงานอ้างอิงไปออก NFT ซ้ำ ๆ บนหลากหลายแพลตฟอร์ม และอาจในหลายประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ แม้บล็อกเชนจะสามารถบันทึกประวัติการทำธุรกรรมได้ แต่ก็ไม่อาจป้องกันการออก NFT ซ้ำโดยอ้างอิงงานเดิมที่อ้างอิงไปแล้วได้ และไม่อาจตรวจสอบได้ร้อยเปอร์เซ็นว่าผู้ที่ออก NFT นั้นเป็นเจ้าของที่แท้จริงในงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่
          เช่น กรณีของ
Weird Whale Image หรือภาพคอลเลกชั่น NFT ที่สร้างโดยเด็กชาวอังกฤษอายุ 12 ปี ซึ่งขายได้กว่า 5 ล้านบาท และในเวลาต่อมาได้มีการขาย NFT ดังกล่าวต่อในราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ภายหลังได้มีการตรวจพบว่า ภาพวาด Weird Whale อาจมีที่มาจากการลอกเลียนงานศิลปอื่นที่ได้สร้างมาก่อน ซึ่งเป็นที่ของการตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมดังกล่าว ถือเป็น “IP Theft” หรือ การขโมยทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่?

        กฎหมายในบางประเทศ เช่น สหรัฐ ได้วางหลักที่เข้มงวดต่อผู้ที่ขายงานประเภท IP Theft ให้มีความผิดตามกฎหมายแม้ทำไปโดยไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวได้กระทบต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง

        ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ โดย NFT ไม่ได้มีประเด็นเพียงแค่ว่าเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่ แต่ NFT ยังคงจะมีประเด็นแวดล้อมในกฎหมายอื่น ๆ ที่ผู้สนใจพึงศึกษาข้อมูลของ NFT ดังกล่าวให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ