การลงทุนใน Cryptocurrency มี ESG หรือไม่

การลงทุนใน Cryptocurrency มี ESG หรือไม่

ผู้เขียนจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า คริปโทเคอร์เรนซี ที่นักลงทุนสมัยใหม่นิยมเข้ามาซื้อขาย มีองค์ประกอบของ ESG ประการใดอยู่บ้างหรือไม่ เพียงใด

บทความโดย...พิเศษ เสตเสถียร

ในปัจจุบัน บริษัทที่ต้องการจูงใจให้คนมาลงทุนในบริษัท บริษัทนั้นจะต้องมี ESG (Environment, Social และ Governance) เพราะบริษัทที่มี ESG จะมีคุณภาพและมีการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

ตลท.ก็ส่งเสริมให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงการลงทุนอย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) และเผยแพร่ดัชนีความยั่งยืน SETTHSI Index เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนไทย

ในขณะที่ Cryptocurrency หรือที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เรียกว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” เช่น bitcoin และพวกเงินดิจิทัลทั้งหลายก็เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนสมัยใหม่ให้ความนิยมเข้ามาซื้อขายกันเป็นจำนวนมาก ในบทความนี้ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ให้เห็นว่าคริปโทเคอร์เรนซีมีองค์ประกอบของ ESG ประการใดอยู่บ้างหรือไม่ เพียงใด

ประการแรก Environmental  หมายถึง การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษ การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ แต่ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “การขุด” (mining) คริปโทเคอร์เรนซีนั้นใช้พลังงานมหาศาล ด้วยวิธีการที่ซับซ้อนที่เรียกว่า proof of work ในการรับรองเหรียญที่ขุดได้ ว่ากันว่าเป็นวิธีการที่สิ้นเปลืองพลังงานมาก เช่น bitcoin และ Ethereum ซึ่งจากดัชนี Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index พบว่าการขุดคริปโทเคอร์เรนซีใช้พลังงานมากกว่าการใช้พลังงานของประเทศสวีเดนหรือมาเลเซียทั้งปีเลยทีเดียว  

ประการถัดมา Social หมายถึง การคำนึงผลกระทบทางสังคมอันได้แก่ การปฏิบัติต่อแรงงาน / พนักงาน ความรับผิดชอบต่อลูกค้า การพัฒนาสังคม/ชุมชน และยังรวมไปถึงเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) แต่การทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีนั้น ตามปกติไม่ต้องมีการเปิดเผยชื่อของผู้กระทำ เมื่อทำธุรกรรมก็ใช้เลขรหัสบัญชีนั้นเป็นหลัก ไม่มีผู้ได้ได้ทราบว่าเจ้าของบัญชีเป็นใคร เรียกได้ว่าให้ความเป็นส่วนบุคคล (privacy)ไว้สูงมาก

ดังนั้น คริปโทเคอร์เรนซีจึงมีประโยชน์ในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินที่เป็นไปโดยไม่เปิดเผยชื่อ เช่น คนที่ต้องการซื้ออะไรแพง ๆ เช่น ภาพเขียนที่มีชื่อเสียงก็มักจะไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนอยู่ แต่ในทางกลับกัน มิจฉาชีพก็อาจอาศัยการทำธุรกรรมที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนนี้ไปในทางที่ไม่ชอบได้เช่น เช่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรณีบริษัทท่อส่งน้ำมัน Colonial Pipeline ที่ส่งน้ำมันไปยังภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา มีผู้ไม่หวังดีลักลอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัททำการบล็อกระบบของท่อส่งน้ำมันทั้งหมดแล้วก็เรียกค่าปลดล็อคหรือค่าไถ่เป็นเงินคริปโทประมาณ 5 ล้านเหรียญ และทางบริษัทได้ยอมจ่ายไป แต่ต่อมาทางการสหรัฐได้ทำการสกัดและนำคริปโทเคอร์เรนซีที่จ่ายไปเกือบทั้งหมดกลับคืนมาได้

หรือในกรณีของธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การซื้อขายยาเสพติด เพื่อให้สามารถติดตามแหล่งที่มาของเงินได้จึงต้องมีกฎหมายฟอกเงินมาเป็นตัวกำกับดูแลให้ผู้จะทำธุรกรรมทางการเงินต้องเปิดเผยตัวตน หรือการเปิดบัญชีกับธนาคารก็ต้องมีมาตรการทำความรู้จักกับลูกค้าที่เรียกว่า KYC หรือ Know Your Customer เพื่อจะได้ทราบว่าผู้ที่ทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นใคร อยู่ที่ไหน ดังนั้น เวลาไปเปิดบัญชีที่ธนาคารหรือขอมีบัตรเครดิต ลูกค้าจึงต้องทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบ National Digital ID (NDID) ว่าเป็นใครและมีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่ยืมชื่อคนอื่นมา แต่ด้วยระบบการไม่เปิดเผยตัวตนของคริปโทเคอร์เรนซี จึงทำให้เป็นการยากที่จะทำให้ธุรกรรมที่ใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นธุรกรรมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้อันแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

ข้อสุดท้าย Governance หมายถึง การคำนึงถึงกฎระเบียบ เริ่มตั้งแต่การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และนวัตกรรมองค์กร เป็นต้น

เมื่อมาเทียบเคียงกับระบบของคริปโทเคอร์เรนซีจะพบว่า ระบบจะทำหน้าที่ของตัวเองโดยอิสระโดยไม่ต้องมีอะไรมาควบคุม ดังนั้น ในทางปฏิบัติ คริปโทเคอร์เรนซีจะดำเนินการเองโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ตั้งแต่การออกและจำนวนที่จะมาใช้ก็เป็นไปตามกติกาของคริปโทเคอร์เรนซีชนิดนั้น ๆ ไม่ต้องไปขออนุญาตใคร การใช้จ่ายและการเก็บรักษาก็เป็นไปโดยรหัสทางคอมพิวเตอร์ ไม่มีกฎหมายกำกับโดยตรง จะมีบ้างในบางประเทศที่มีกฎหมายยอมรับคริปโทเคอร์เรนซี แต่ก็ยอมรับในฐานะสินทรัพย์เท่านั้น ไม่มีประเทศใดยอมรับว่าคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินตรา (ยกเว้นประเทศเอลซัลวาดอร์)

ดังนั้น  คริปโทเคอร์เรนซีจึงก่อให้เกิดคำถามในข้อนี้หลายประการ เช่น  มีใครเป็นผู้จัดการของคริปโทเคอร์เรนซีนั้นหรือไม่ ถ้ามี การจัดการนั้นเป็นไปตามหลักความยั่งยืน (sustainability) หรือไม่ บริษัทที่จัดการคริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีความโปร่งใสในเรื่องของภาษีหรือไม่ และที่สำคัญ คริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีระบบป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ (cyberattack) ที่ทำให้นักลงทุนมีโอกาสเสียหายจากการลงทุน หรือมีระบบป้องกันไม่ให้มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (privacy) ของผู้ลงทุนได้หรือไม่ เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าเอาคริปโทเคอร์เรนซีมาเทียบกับหลัก ESG แล้ว คริปโทเคอร์เรนซีก็อาจจะยังไม่สามารถตอบคำถามในเรื่องเหล่านี้ได้ ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ว่าคริปโทเคอร์เรนซีมีวัตถุประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือ ESG  แต่โดยที่ระบบที่สร้างคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นมาต้องการให้เป็นระบบที่ปิดและสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาควบคุม ทุกอย่างทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น วัตถุประสงค์ของคริปโทเคอร์เรนซีกับวัตถุประสงค์ของ ESG จึงกลายเป็นเส้นขนานที่ยังไม่มาบรรจบกัน

จากที่ว่ามานี้ คริปโทเคอร์เรนซีอาจจะเป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะ เหมาะสำหรับการลงทุนเพื่อแสวงหากำไรในหมู่นักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี แต่ถ้าจะลงทุนบนพื้นฐานของหลัก ESG แล้ว คริปโทเคอร์เรนซีก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบ ณ ขณะนี้.