คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีปกครอง

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีปกครอง

ปัญหาข้อเท็จจริงคดีโครงการจำนำข้าว ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองไม่สอดคล้องกัน ทั้งที่มูลคดีเป็นเรื่องเดียวกัน

           คดีอาญาตามโครงการรับจำนำข้าว ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 ลงวันที่ 27 กันยายน 2560 พิพากษาว่านางสาวยิ่งลักษณ์มีความผิดลงโทษจำคุก 5 ปี ส่วนการให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กระทรวงการคลังได้ออกคำสั่ง(ที่1351/2562) ตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท

                 นางสาวยิ่งลักษณ์ ฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่70 /2562 ,460-462/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์ว่าศาลฎีกาพิพากษาลงโทษยิ่งลักษณ์ทำผิดจำคุก5 ปี แต่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมโทษาทดแทน

            กรณีนี้มีข้อน่าศึกษาคือ

             1 ข้อพิพาทตามคดีปกครองคดีนี้เข้าข่ายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แต่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาในศาลปกครอง  ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลปกครองต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา

              2  เมื่อศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (คดีปกครอง)เปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ที่ลงโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ (คดีอาญา)ประเด็นที่มีความแตกต่างกันที่สำคัญคือ

                   2.1 ประเด็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว        

                  คดีปกครอง หน้า 128  " แม้จะฟังได้ว่าโครงการรับจำนำข้าวมีกรณีการทุจริตเกิดขึ้นในขั้นตอนอันได้แก่การตรวจสอบคุณสมบัติและการรับรองเกษตรกร การนำข้าวไปจำนำ การเก็บรักษาข้าวเปลือกในโรงสีและโกดังกลาง การสวมสิทธิชาวนา การนำข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G TO G) ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรณีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติกระทำการทุจริตโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนมิใช่เกิดจากมติของ กขช.หรือมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของผู้ฟ้องคดีที่1"

             คดีอาญา หน้า 52  “แสดงให้เห็นว่าแผนงานการบริหารโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลจำเลยขาดประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกร ขั้นตอนการนำข้าวไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก กับขั้นตอนการสีแปรสภาพข้าวเปลือก และการเก็บรักษาข้าวสาร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นขั้นตอนในระดับผู้ปฏิบัติงานตามโครงการก็ตาม แต่ก็พบว่ามีการทุจริตในขั้นตอนต่างๆ จำนวนมาก”

และในหน้า 52 “หากจำเลยให้ความสำคัญในการติดตาม กำกับดูแลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมากภายใต้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (good governance)  จะเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อกิจการของรัฐมากกว่านี้”

               2.2ประเด็นการทุจริตการทำสัญญาขายข้าวจีทูจี       

                คดีปกครอง หน้า 118 ....กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการทุจริตการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(G TO G ) นั้น เกิดขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ อันได้แก่การเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (GTO G ) การทำสัญญา การส่งมอบข้าว การนำข้าวมาเวียนขายให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ โดยไม่ได้ส่งออกไปให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นต้น" 

"การระบายข้าวนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ย่อมรับรู้รับทราบเฉพาะการทำบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่หากเป็นสัญญาขายข้าว (Sale contract) ซึ่งเป็นวิธีการระบายข้าวที่ไม่อาจเปิดเผยเป็นการทั่วไปได้และมีขั้นตอนหรือกระบวนการซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีมิได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด"

             คดีอาญา หน้า 56 ระบุถึงข้อเท็จจริงการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์นักข่าวเกี่ยวกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐและการระบายข้าวมีนายบุญทรงร่วมให้ข้อมูลด้วย ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "จากบทการให้สัมภาษณ์ของจำเลยข้างต้น ยิ่งเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับรู้การระบายข้าวที่แอบอ้างว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ และยังยืนยันอีกว่าข้าวที่ซื้อขายประมาณ 8ล้านตัน แล้วมีการส่งออกไปจริง"

          "เมื่อพิจารณาจากคำอภิปรายของนายวรงค์ ตามเอกสารหมายเลข จ43 ชี้ให้เห็นว่าจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธาน กขช.ได้ทราบข้อเท็จจริงมาโดยตลอดตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ารัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวโดยทำสัญญาขายข้าวให้บริษัทในสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการยืนยันว่าได้ส่งข้าวให้สาธารณประชาชนจีนด้วยนั้น ความจริงแล้วข้าวที่ขายตามสัญญาดังกล่าวหาได้มีการส่งให้ประเทศผู้ซื้อไม่

            2.3 ผลการพิจารณา        

             คดีปกครอง หน้า 129 “กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไปมิใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติโครงการรับจำนำข้าว กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ...ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด”  ผลคือให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว

                คดีอาญา หน้า 65 “สำหรับความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว โดยการแอบอ้างทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐดังวินิจฉัยมาข้างต้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยรับรู้จากการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การตั้งกระทู้สด กระทู้ทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ และข่าวสารจากสื่อมวลชน ...แต่จำเลยกลับไม่ติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด”

           “ในส่วนการระบายข้าวที่แอบอ้างว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ  จำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะระงับยับยั้งการส่งมอบข้าวที่ยังไม่ได้ส่งมอบไว้ก่อน ย่อมกระทำได้ ...แต่จำเลยกลับมีพฤติการณ์ในการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมายส่อแสดงเจตนาออกโดยชัดแจ้งอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรงและพวกในการแสวงหาประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว .... การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อกระทรวงการคลัง ประเทศชาติ ฯ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา123/1 ....ให้จำคุก5ปี”

                ข้อสังเกต   ปัญหาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองไม่สอดคล้องกันทั้งที่มูลคดีเป็นเรื่องเดียวกันอาจทำให้เกิดปัญหาต่อความเชื่อมั่นในระบบศาลไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติให้ศาลปกครองต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาก็ตาม  แต่ตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง  มาตรา55 ศาลปกครองอาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม

โดยบทบัญญัตินี้  ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาและถือตามข้อเท็จจริงนั้นก็ได้ โดยไม่มีบทบัญญัติใดห้ามไว้ แต่กลับเป็นการยึดตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เป็นกฎหมายของประเทศที่สอดคล้องกับกฎหมายลักษณะนี้ของต่างประเทศหลายประเทศด้วย   ก็จะขจัดปัญหาข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกันดังกล่าวข้างต้นได้.