ทิศทางคริปโท : กระแส Bitcoin และการกำกับจากภาครัฐ

ทิศทางคริปโท : กระแส Bitcoin และการกำกับจากภาครัฐ

บทความฉบับนี้ ผู้เขียนเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา กระแสการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีสกุลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุล Bitcoin

        ในทางกลับกัน หากพิจารณาในมุมกฎระเบียบ Regulators ทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐ เหมือนจะส่งสัญญานตรงกันในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในมุมที่เข้มงวดขึ้น

 กระแส Bitcoin

          นับจากกลางปี 2563 ที่ได้มีปรากฏการณ์ Bitcoin Halving หรือ การที่ระบบของ Bitcoin ได้ทำการลดจำนวนเหรียญที่เกิดขึ้นใหม่ (ไม่ได้หมายความว่า Bitcoin ที่มีอยู่ในระบบจะถูกหารครึ่ง) แต่คนที่ออกแบบระบบกำหนดให้ทุก ๆ 4 ปี จำนวนของ Bitcoin ที่ขุดได้จะถูกปรับลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับหลักทางเศรษฐศาสตร์เรื่องอุปสงค์/อุปทาน พบว่าเมื่อ Bitcoin ที่จะเกิดขึ้นใหม่มีจำนวนน้อยลง ย่อมส่งผลต่อราคาที่จะปรับเพิ่มขึ้น เพราะถือเป็นสินทรัพย์ที่หายากและมีจำนวนจำกัดในอนาคต

       ดังนั้น จากปัจจัยที่ผู้สร้างกำหนดให้ Bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัดและหายากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับโลกได้เผชิญกับโควิด ส่งผลให้คริปโทสกุลต่าง ๆ รวมถึง Bitcoin กลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกของนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรายใหญ่ที่สนับสนุนและตอบรับการใช้คริปโทเป็นอย่างดี

 

       ตัวอย่างการใช้ Bitcoin ที่หลากหลาย

       ดังนั้น จากกระแสในเชิงบวก ที่ผ่านมา  Bitcoin จึงมีราคาเพิ่มขึ้นและถูกนำไปใช้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการใช้ Bitcoin ในแอฟริกาและอินเดีย รวมไปถึงบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่หันมาให้ความสำคัญกับคริปโทมากขึ้น เช่น Paypal ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถซื้อ/ขาย และชำระราคาสินค้าจากร้านค้าในเครือข่ายโดยใช้คริปโทสกุลต่าง ๆ รวมถึง Bitcoin  ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลของ Paypal ได้ (เปิดให้เริ่มใช้ปี 2564 และมีเหรียญที่รองรับเริ่มต้นสี่สกุล BTC, ETC, BCH และ LTC)  และ ล่าสุดบริษัทเทสลา ได้แจ้งต่อ SEC (ก.ล.ต. ของสหรัฐ) ว่าได้เข้าซื้อ Bitcoin จำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ประกอบกับมีแผนในอนาคตที่จะรับชำระราคารถยนต์ของเทสลาด้วย Bitcoin  นอกจากนี้ หากพิจารณาจากการใช้งานสำหรับภาครัฐ ทางการท้องถิ่นของเมือง Zermatt ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้มีการรับชำระภาษีและธุรกรรมทางการเงินท้องถิ่นด้วยสกุลเงิน Bitcoin แล้วตั้งแต่ต้นปี 2563

      ทิศทางคุมเข้มจากทางการสหรัฐ

      แม้คริปโทจะถูกใช้เพิ่มมากขึ้นสำหรับภาคเอกชน แต่สำหรับภาครัฐกลับมีกระแสที่สวนทาง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างในกรณีของสหรัฐ ที่ได้ออกมาแสดงความกังวลเมื่อปลายปี 2563 ถึงประเด็นที่ว่า คริปโทอาจเป็นช่องทางหนึ่งในการทำ “illicit financing” หรือ ช่องทางการเงินที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นระบบที่ยากต่อการสืบค้นหาเจ้าของตัวจริงของแต่ละบัญชี  ซึ่งความกังวลดังกล่าวเป็นที่มาของการที่ FinCEN (Financial Crimes Enforcement Network) หรือ เครือข่ายอาชญากรรมทางการเงิน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้เสนอปรับปรุงกฎหมายเพื่อตรวจสอบช่องทางการเงินของคนสหรัฐในการใช้คริปโท ไม่ว่าจะจากศูนย์ซื้อขายในประเทศ หรือจากการถือครองคริปโทที่มีเก็บไว้ในสถาบันการเงินนอกประเทศ 

         เสนอปรับกฎหมายการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบทางภาษี

         ดังนั้น ในรายละเอียด อาจสรุปข้อเสนอของทางการสหรัฐได้ ดังนี้

              1)  บุคคลสหรัฐมีหน้าที่รายงานข้อมูลการทำธุรกรรมในกรณีที่มีการโอนคริปโทจากกระเป๋าเงินดิจิทัลของศูนย์ซื้อขายไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลของตนเอง (private wallet) หรือในกรณีที่มีการโอนไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลของบุคคลอื่นใด ต้องมีการทำ KYC เพื่อรายงานข้อมูลว่าโอนไปให้ผู้ใดด้วย    
              2) สำหรับ
ศูยน์ซื้อขายก็มีหน้าที่บันทึกข้อมูลการโอนดังกล่าวไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อรายงานให้กับทางการทราบตามเงื่อนไขที่กำหนด

              3) สำหรับคริปโทที่ถูกเก็บอยู่นอกประเทศ สหรัฐได้พยายามโยงให้คริปโทเป็นทรัพย์สินทางการเงินประเภทหนึ่งที่ต้องรายงานตามหลักการของกฎหมาย Bank Secrecy Act  หรือกฎหมายที่กำหนดให้บุคคลสหรัฐ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทรัพย์สินทางการเงินอันอาจตีราคาได้ (เช่น หุ้น เงินฝาก) ที่เก็บไว้ในสถาบันการเงินในต่างประเทศ หากมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จึงมีการเสนอให้ปรับปรุงนิยามประเภทบัญชีทรัพย์สินที่ต้องรายงานให้รวม “Virtual Currency” หรือทรัพย์สินประเภทคริปโท ด้วย

            4) สรรพากรสหรัฐ ได้มีการปรับแบบฟอร์มการยื่นเสียภาษีสำหรับปีภาษี 2563  (ฟอร์ม 1040 ของปี 2020) โดยตั้งคำถามต่อผู้เสียภาษีและระบุถ้อยคำไว้ในหน้าแรกของแบบฟอร์มว่า “ในปีภาษีที่ผ่านมามีรายได้เกิดขึ้นจากการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน หรือผลประโยชน์อื่นใดจากคริปโทหรือไม่?”  ทั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีจากคริปโท โดยมองว่าเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมีส่วนต่างกำไรเกิดขึ้นและสามารถตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ย่อมถือเป็นเงินได้จากการลงทุนประเภทหนึ่ง (Investment income) ที่ผู้ถือครองต้องเสียภาษีไม่ต่างไปจากการซื้อขายหุ้นหรือการลงทุนในทรัพย์สินประเภทอื่นๆ

           ท้ายที่สุด สำหรับผู้เขียน แม้จะมีการประกาศจากรัฐบาลของไบเดนว่า กฎหมายบางอย่างที่ถูกเสนอในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์จะถูกชะลอการดำเนินการไว้ก่อน โดยขอทบทวนอย่างรอบคอบอีกครั้ง ซึ่งรวมไปถึงข้อเสนอในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลคริปโทในข้างต้นด้วย (ไม่รวมประเด็นภาษีที่ได้ดำเนินการไปแล้ว) อย่างไรก็ดี หากมองในอีกด้าน ข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายเพื่อตรวจสอบช่องทางการเงินของบุคคลสหรัฐในการใช้คริปโทไม่ได้มีประโยชน์ต่อการป้องกันการฟอกเงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบการเสียภาษีของคนสหรัฐซึ่งใช้หลักสัญชาติในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  

           ดังนั้น ข้อเสนอต่าง ๆ แม้จะเพิ่มภาระต่อการลงทุนในคริปโท แต่ก็อาจก่อให้เกิดประโยชน์ทางการคลังต่อสหรัฐ ซึ่งหากสหรัฐ มีการปรับกฎหมายให้เข้มขึ้นในทุกประเด็นที่กล่าวมาในข้างต้น แน่นอนว่า กระแสกำกับดูแลคริปโทในรูปแบบนี้จะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ ศึกษาเป็นแนวทางต่อไป.

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)