ผู้นำกับ CSR ที่ยั่งยืน

ผู้นำกับ CSR ที่ยั่งยืน

การเคลื่อนไหวและแรงกดดันจากสังคม ร่วมกับกระบวนการของผู้บริโภคที่เข้มแข็งมากขึ้น  เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (ใหญ่ๆ) ไม่อาจนิ่งเฉย

ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวและแรงกดดันจากสังคมร่วมกับกระบวนการของผู้บริโภคที่เข้มแข็งมากขึ้น  โดยเฉพาะปัญหาด้านคุณธรรมและ จริยธรรมในการบริหารจัดการ ตลอดจนความรับผิดชอบต่อปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม  เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (ใหญ่ๆ) ไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไป

ทุกวันนี้  ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมจึงต้องสร้างสมดุลระหว่าง การทำกำไรกับ การสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม องค์กรต่างๆ จึงมีการเชื่อมโยง “ความสามารถในการแข่งขัน เข้ากับ ความรับผิดชอบต่อสังคม(Corporate Social Responsibility : CSR) และด้วยการสร้าง คุณค่า ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดขององค์กร  ซึ่งแสดงถึงแนวทางในการบริหารธุรกิจรูปแบบใหม่  (การสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการบรรลุความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจพร้อมๆ กับสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย)

นักวิชาการได้แบ่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ออกเป็น 4 ระดับ คือ ตั้งแต่ความรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ  ด้านกฎหมาย  ด้านจริยธรรม  และด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ในขณะที่ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้กำหนดแนวทางของ CSR  สำหรับบริษัทจดทะเบียนฯ  โดยแบ่ง ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับข้อบังคับ เบื้องต้น ปกป้อง และสมัครใจ

กิจกรรม CSR ที่นิยมสร้างเสริมกันทั่วไปในองค์กรต่างๆ  สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทด้วยกัน คือ (1) การส่งเสริมประเด็นสังคม (Cause Promotion)  (2) การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นสังคม (Cause-Related Marketing)  (3) การตลาดเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing)  (4) การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy)  (5) การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering)  (6) การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices)   และ (7) การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services)

ในความเห็นของนักวิชาการแล้ว  กิจกรรม CSR จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ค่านิยมขององค์กร อย่างมาก เพราะ ค่านิยม (Value) จะทำให้ปฏิบัติการต่างๆ ของพนักงานในองค์กรเป็นไปในทิศทางที่กำหนดไว้

แต่ในมุมมองของนักปฏิบัติแล้ว  ผู้นำที่มีประสิทธิผลต้องจะสามารถเชื่อมต่อวิสัยทัศน์และค่านิยมให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และสามารถโน้มนำให้พนักงานทุกระดับมีความเชื่อมั่นในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้  โดยมี CSR เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมและเป้าหมายขององค์กรด้วย

ดังนั้น  ผู้นำจึงต้องสามารถทำให้ผู้ตามเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่น เพื่อดำเนินการต่างๆ ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์และค่านิยมที่ทุกคนในองค์กรยึดถือ

ผู้นำที่มีค่านิยมทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม  จึงมีอิทธิพลต่อค่านิยมที่รับผิดชอบต่อสังคมของผู้ตามด้วย

ผู้นำขององค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน  นอกจากต้องรับผิดชอบต่อต้นทุน  คุณภาพ  การบริการ   ความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า และกำไรขาดทุนขององค์กรแล้ว ยังจะต้องดำเนินธุรกิจด้วยการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม  โดยการพิจารณาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ  เลือกกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ  เลือกการจัดเก็บและขนส่งสินค้า  รวมตลอดถึงการรณรงค์ให้พนักงานในองค์กรและผู้คนในสังคมมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันด้วย

เพราะฉะนั้น CSR ที่ทำด้วย ค่านิยมร่วมและทำอย่างต่อเนื่องจริงจังเท่านั้น  จึงจะนำไปสู่ การพัฒนาที่ยั่งยืนและทำให้ ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นที่ยอมรับของสังคม  ครับผม !