อียูชูนโยบายจัดการโลกร้อนที่ ‘ดาวอส’

อียูชูนโยบายจัดการโลกร้อนที่ ‘ดาวอส’

การจัดประชุมออนไลน์นัดพิเศษที่เรียกว่า Davos Agenda ของ World Economic Forum ในระดับผู้นำโลกเมื่อวันที่ 25-29 ม.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งปิดฉากลง

นอกจากเรื่องสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกเป็นเรื่องเด่นในวาระการหารือ คือ "ภาวะโลกร้อน" โดยนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ตลอดจนผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศส ได้ผนึกกำลังกันผลักดันให้ประชาคมโลกร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนความพยายามแก้ไขปัญหาโลกร้อน ก่อนที่จะมีการประชุมเวทีใหญ่ของสหประชาชาติ 2 เวทีเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (COP15) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (COP 26) ในช่วงกลางปีและปลายปีที่จะถึงนี้ 

โดยภาพรวมของ 3 ประเด็นหลักที่น่าสนใจของฝั่งอียูมีดังต่อไปนี้

  • การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเด็นที่อียูต้องการเห็น คือการผลักดันให้นานาชาติทำข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Binding targets) เพื่อส่งเสริมการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) โดยกำหนดตัวเลขเป้าหมายการรักษาพื้นที่ป่าและทะเล ในลักษณะเดียวกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ อียูรับปากจะเป็นผู้ประสานงานกับประเทศต่างๆ ให้ได้ข้อตกลงดังกล่าว ก่อนที่ทุกฝ่ายจะมุ่งสู่เวทีการประชุม COP 15 ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ในเดือนพฤษภาคมนี้

ผู้นำอียูกล่าวว่า การสูญเสียพื้นที่ป่าไม่เพียงแต่บั่นทอนความสมดุลธรรมชาติ แต่ยังกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศของโลก ในขณะที่ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ของสัตว์เนื่องจากการทำลายป่า รวมถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผิดกฎหมาย ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคระบาดที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ง่ายขึ้น เช่น เชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) และอาจรวมถึงไวรัสโควิด-19 ที่พวกเราต้องเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้

ในส่วนของอียู ได้วางแผนออกกฎหมายเพื่อขยายพื้นที่คุ้มครอง (protected areas) ทางบกร้อยละ 30 และทางทะเลร้อยละ 30 เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงไว้ โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำออนไลน์ One Planet Summit ซึ่งฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 รัฐบาล 50 ประเทศที่ประกอบไปด้วยชาติสมาชิกอียู 14 ประเทศ ได้ให้คำมั่นที่จะยกระดับความพยายามในการคุ้มครองผืนดินและผืนทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ภายในปี 2573

นอกจากนี้ อียูยังมีแผนที่จะออกกฎหมายเรื่องความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Corporate due diligence) เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธุรกิจได้ดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ อย่างรอบด้าน

  • การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานหลักในอนาคต

อียูมองว่าจุดหมายปลายทางของแหล่งพลังงานยั่งยืนคือการที่พลังงานผลิตจากไฮโดรเจนทั้งหมด โดยแผนพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน (EU Hydrogen Strategy) ที่อียูอนุมัติไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 มีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนทั้งในเชิงของประสิทธิภาพการใช้งาน และราคาให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ด้วยกระบวนการแยกน้ำโดยไฟฟ้า (Electrolysis) เพื่อนำมาใช้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ เช่น น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เพื่อหวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เป็นศูนย์ ในปี 2593

        อียูมองว่า Hydrogen & Fuel Cell จะเป็นแหล่งของพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญอย่างมากในอนาคต เพราะเป็นพลังงานสะอาดและสามารถสกัดได้จากน้ำซึ่งไม่มีวันหมดไปจากโลก อีกทั้งยังปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และช่วยลด CO2 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานความร้อนสูง และปล่อยก๊าซ CO2 มาก เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และเคมีภัณฑ์ รวมถึงเป็นทางเลือกสำคัญของการขนส่งในเชิงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกและเรือขนาดใหญ่ ตลอดจนเครื่องบิน ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้พลังงานไฟฟ้า หรือแม้แต่นำมาประยุกต์ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ หรือในอาคารในยุโรปในอนาคต

ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (transition period) อียูมองว่าไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำมีความจำเป็นต่อการช่วยลดการปล่อยมลพิษได้อย่างรวดเร็ว และจะยังคงใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ (Blue hydrogen) ด้วยการใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (Carbon capture) ซึ่งจะทำให้สามารถนำ CO2 มาหมุนเวียนแทนที่จะปล่อยไปในอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฮโดรเจน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมต่อ เช่น การกักเก็บพลังงาน (Energy storage) และการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า (Smart grid) และจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฮโดรเจนอย่างสมบูรณ์ (Green hydrogen) ที่ผลิตมาจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าการผลิตไฮโดรเจนทดแทนให้ได้ถึง 1 ล้านตันในปี 2567 และเพิ่มเป็น 10 ล้านตันในปี 2573

  • ผลักดันกลไกการเงินเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในอนาคตต้องอาศัยเงินลงทุนสูงมาก อียูจึงให้ความสำคัญกับระบบการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ที่จะทำหน้าที่ช่วยกำกับดูแลให้การใช้งบประมาณของภาครัฐเป็นไปอย่างคุ้มค่า ผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารและสถาบันการเงินแก่กิจกรรมหรือธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ต่อสังคมเป็นสำคัญ

ในปัจจุบัน อียูอยู่ระหว่างการจัดทำหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียวเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าธุรกิจใดเข้าข่ายเป็นธุรกิจสีเขียว (EU Taxonomy on environmentally sustainable activities)  และออกหลักเกณฑ์เชิงเทคนิคด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การส่งเสริมการบรรเทาผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มคุณภาพบริษัทในตลาดทุนให้สามารถสร้างคุณค่ากิจการได้อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการฟอกเขียว (Greenwashing) หรือการทำธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียวโดยการสร้างภาพ แต่ไม่ได้ทำจริง โดยเน้นการบริหารความเสี่ยงและการเปิดเผยข้อมูลโดยใช้หลัก comply or explain

อย่างไรก็ดี ยังคงมีแง่มุมให้ถกเถียงทั้งในเรื่องว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวควรตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Climate Science) และต้องไม่ส่งผลกระทบในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อบางภาคธุรกิจที่อยู่ในช่วงปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือก

ทั้งนี้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการลดภาวะโลกร้อน และการจัดหาพลังงานทดแทน เป็นประเด็นที่อียูให้ความสำคัญและพยายามนำมาเชื่อมโยงกับนโยบายด้านอื่นๆ รวมทั้งนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนการกำหนดบรรทัดฐานทางสังคมให้ภาคธุรกิจถือปฏิบัติ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนธุรกิจในอนาคตและหาแนวทางการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่อไป.