จุดหมายองค์กร AI for Profit

จุดหมายองค์กร AI for Profit

เอไอเทคโนโลยี คือภารกิจสำคัญขององค์กรใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม ทำให้มูลค่าของการลงทุนเพื่อนำเอไอมาใช้ในองค์กรเติบโตจากกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ

การลงทุนใน เอไอเทคโนโลยี คาดการณ์ว่าจะพุ่งแตะแสนล้านเหรียญในอีกไม่เกิน 4 ปีข้างหน้า สิ่งที่น่าสนใจไม่ได้อยู่แค่การเติบโตของเม็ดเงินลงทุน แต่เป็นทิศทางที่ทำให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจที่ลงทุนใน “เอไอ” ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่ที่กลุ่ม “เทค คอมพานี” เท่านั้น ผู้เล่นหลักในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น FMCG, Retail, Automotive, Industrial, Healthcare ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการสร้างยูซเคสจากการใช้ “เอไอ เทคโนโลยี”

ธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (Retail) ขนาดใหญ่ในโลกรวมถึงแบรนด์ใหญ่ๆ ในประเทศไทยล้วนแต่ลงทุนในเอไอ เพื่อเป้าหมายปลายทางมากกว่าแค่เรื่องของออโตเมชั่นหรือ Insights Analytics แต่คือการเดินหน้าเอาเอไอมาใช้เพื่อขับเคลื่อนยอดขายและสร้างผลกำไรทางธุรกิจ

องค์กรยักษ์ใหญ่ในธุรกิจรีเทลอย่าง แมคโดนัลด์ (McDonald’s) และ สตาร์บัคส์ (Starbucks) เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจขององค์กรที่เป็น Non-tech แต่ได้มีการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเอไอมาสักระยะหนึ่งแล้ว

แมคโดนัลด์ในสหรัฐได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Dynamic Yield สตาร์ทอัพด้านเอไอ/แมชชีน เลิร์นนิ่งจากอิสราเอล ด้วยเม็ดเงินถึง 300 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็น M&A มูลค่าสูงที่สุดของแมคโดนัลด์ในรอบ 20 ปี ส่วนสตาร์บัคส์ก็ได้ร่วมพัฒนา Deep Brew แพลตฟอร์มเอไอกับทีมงาน Microsoft Azure โดยตั้งเป้าหมายให้ Deep Brew เข้าไปช่วยพัฒนาให้เกิดรูปแบบของการให้บริการ การพัฒนาสินค้า การส่งเสริมการขาย ที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับรูปค้าในรูปแบบ Personalized เพื่อนำไปสู่การสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายและผลกำไร รวมถึงเสริมศักยภาพการแข่งขันในสภาวะที่ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2562 ผู้บริหารองค์กรในหลายกลุ่มธุรกิจเริ่มมีมุมมองในเรื่องของ “เอไอ เทคโนโลยี” ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยมองว่า AI Use cases หรือการนำเอาเอไอมาใช้ในองค์กรจะเกี่ยวพันกับเรื่องหลักๆ แค่ สามเรื่อง คือ Automation, IT Process, Operational Improvement เช่นการใช้ Robotics Process Automation (RPA) ซึ่งเป็นการนำเอาเอไอมาเพิ่มประสิทธิภาพ วันนี้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมีวิสัยทัศน์ในการใช้งานเอไอ แบบ Mainstream มากขึ้น

นั่นคือ มอง “เอไอ” เป็นเรื่องที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีการตั้งเป้าหมายในการนำมาใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจโดยตรง เช่น การเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ การปรับเปลี่ยน Products/Services Portfolio ให้สอดคล้องกับ New Insights ที่มาจากบิ๊กดาต้าและเป้าหมายสำคัญคือการรื้อระบบ Demand/Supply Planning เพื่อเชื่อมโยง Real Demand กับกระบวนการบริหารจัดการทางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้กับองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อ “เอไอ” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กรในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการด้าน Operation ไปจนถึงส่วนที่เป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ เช่น การออกผลิตภัณฑ์ การตลาดและช่องทางการขาย สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้ AI for Profit กลายเป็นเรื่องที่ผูกขาด เพราะในที่สุดอาจมีองค์กรยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จะเข้าถึงบิ๊กดาต้า และการใช้ AI-Powered Insights

ความไม่เท่าเทียมทางเทคโนโลยี อาจทำให้อนาคตธุรกิจขนาดกลางและเล็กเป็นอนาคตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย!