สร้างคนสร้างฝัน: บทเรียนจากแผนการศึกษาแห่งชาติของมาเลเซีย

สร้างคนสร้างฝัน: บทเรียนจากแผนการศึกษาแห่งชาติของมาเลเซีย

ประมาณ 30 ปีก่อน ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ประกาศวิสัยทัศน์ 2020 ( Wawasan2020) ตอนนั้นมีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า จะเป็นไปได้ไหม

เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2020 หรือ Wawasan 2020 ตอนนั้นมีคนจำนวนไม่น้อยรวมถึงคนมาเลย์เองก็มีคำถามในใจว่า จะเป็นไปได้หรือ  แค่ 30 ปีมาเลเซียจะสามารถเดินเชิดหน้าในเวทีเศรษฐกิจโลกได้จริงหรือเปล่า  ถ้าใช้เกณฑ์การประเมินระดับสากลมาตอบคำถามก็ต้องบอกว่า  ความฝันในวันนั้นได้เป็นจริงแล้วในวันนี้ 

แม้ 30 ปีก่อนประเทศมาเลเซียจะยังตามหลังเราอยู่หลายก้าว  ในวันนี้เรากลับเป็นฝ่ายต้องไล่ตามเขา  ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ IMD ในปี ค.ศ. 2020 ได้จัดประเทศไทยไว้ในอันดับที่ 29 และจัดประเทศมาเลเซียไว้อันดับที่ 27  การจัดอันดับของ World Economic Forum ในปี ค.ศ. 2019 ได้จัดประเทศไทยไว้ในอันดับที่ 40 ส่วนประเทศมาเลเซียได้อันดับที่ 27 พอมาลงลึกรายละเอียดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของคนพบว่า  สำหรับประเทศไทยทักษะของแรงงานอยู่ในอันดับที่ 72 ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมอยู่ในอันดับที่ 50 ซึ่งต่างจากมาเลเซียที่ทักษะของแรงงานและความสามารถในการสร้างนวัตกรรมอันดับ 30 อยู่ในอันดับที่ 30 เท่ากัน 

หนึ่งในนโยบายหลักที่ทำให้ประเทศมาเลเซียสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตนเองในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา  เกิดจากการยกระดับคุณภาพของคนในประเทศ  เพื่อเพิ่มระดับทุนมนุษย์โดยรวมให้สูงขึ้นด้วยการพัฒนากำลังคนทุกช่วงชั้นตามแผนการศึกษาแห่งชาติ (The Malaysia Education Blueprint 2013-2025) ที่แบ่งการทำงานไว้ 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ปี ค.ศ. 2013-2015 เป็นขั้นของการเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน  ด้วยการยกระดับทักษะและขีดความสามารถของครูและบุคลการทางการศึกษาในทุกระดับเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ได้

ระยะที่ 2 ปี ค.ศ. 2016-2020 เป็นการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารและโครงสร้างแรงจูงใจของบุคลากรด้านการศึกษา  โดยมีการพัฒนาโครงสร้างการบริการจัดการศึกษาในระดับประเทศ  ระดับรัฐ  และระดับพื้นที่ให้เหมาะสม  มีการปรับโครงสร้างค่าตอบแทนแก่บุคลากร  ควบคู่ไปกับการนำหลักสูตรใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของโลกมาใช้ในการจัดการเรียนรู้  โดยเน้นไปที่องค์ความรู้ด้านวิชาการ  ทักษะ  และคุณค่าจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจโลก  มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้วยเครื่องมือระดับสากลเพื่อให้สามารถประเมินคุณภาพของผู้เรียนเทียบกับประเทศอื่นได้

ระยะที่ 3  ปี ค.ศ. 2021-2025 การยกระดับคุณภาพการศึกษาไปสู่ความยอดเยี่ยม  เมื่อบุคลากรทางการศึกษามีความพร้อมและมีขีดความสามารถสูงข้อกำหนดขั้นต่ำแล้ว  ก็จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง  มีการสร้างคุณค่าที่เหมาะสมกับสถานศึกษา และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัฒนธรรมในการจัดการเรียนรู้  ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนากำลังคนที่ยั่งยืน

        หลักสำคัญของการจัดการเรียนรู้คือการประเมินความสำเร็จของผู้เรียนด้วยเกณฑ์ระดับสากล  ยกตัวอย่างเช่น  เป้าหมายที่จะให้คนมาเลเซียสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีใกล้เคียงกับภาษามาลายู  การสอบภาษาอังกฤษจะใช้เกณฑ์มาตรฐานของเคมบริดจ์  หรือ Cambridge 1119 standards มาเป็นตัวประเมินผลสำเร็จ เป็นต้น

        นอกจากนี้แล้ว  แผนการศึกษาแห่งชาติยังสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11  ที่กำหนดให้การศึกษาระดับอาชีวศึกษาเป็นวาระสำคัญของการพัฒนากำลังคน  เพราะเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มขึ้นได้เร็วที่สุด  โดยนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวมีดังนี้

  1. ยกระดับการบริหารจัดการสถานศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อให้การใช้บุคลากรและทรัพยากรทางการศึกษามีเหมาะสม มีประสิทธิภาพ  ส่งผลต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน
  2. ปรับปรุงหลักสูตรของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งรวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้ใกล้เคียงหรือล้ำหน้ากว่าโลกของงานในสาขานั้น ๆ ทำให้ผู้เรียนจบสามารถทำงานได้ทันที
  3. พัฒนาภาพลักษณ์ของการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยน่าดึงดูดใจ รวมถึงส่งเสริมให้สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาของเอกชนมีบทบาทในการพัฒนากำลังคนของประเทศมากขึ้น

สำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน  มีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากช่องทางต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับแรงงานแต่ละคน  เช่น  การเรียนหลักสูตรออนไลน์  การเรียนหลักสูตรระยะสั้นจากศูนย์การเรียนรู้ต่อเนื่อง (Center for Continuing Education) จากสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย

จริงอยู่ที่การเดินตามแผนการศึกษาแห่งชาติของมาเลเซียไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกอย่าง  ต้องมีการปรับโน่นแก้นี่อยู่ตลอด  แต่อย่างน้อยหากมองแนวโน้มในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะเป็น ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน  หรือจำนวนมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับสูง ๆ ในการจัดอันดับระดับสากลล้วนแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า  แม้วันนี้มาเลเซียไม่ได้ไปถึงเป้าหมายในฝัน  อย่างน้อยพวกเขาสู้หน้าทุกคนได้ในเวทีโลกอย่างสง่างาม