พัฒนาคุณภาพประชากร พื้นฐานการศึกษาต้องแข็งแกร่ง

พัฒนาคุณภาพประชากร พื้นฐานการศึกษาต้องแข็งแกร่ง

รายงานโกลบอล คอมแพตทิทีฟ รีพอร์ต 2557 - 2558 (Global Competitiv Report 2014-2015) ของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม

(WEF) ปรากฏผลขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 ของโลก นับว่าดีขึ้นกว่า ปี 2556 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 37 รายงานประจำปีของดับเบิลยูอีเอฟ ระบุว่า แม้ไทยจะประสบกับวิกฤติทางการเมืองที่ยืดเยื้อ แต่ยังสามารถไต่อันดับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นมาได้ 6 อันดับจากปีก่อน และมีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคขึ้นมาอยู่อันดับที่ 19 ด้านการพัฒนาทางการเงิน เคยอยู่อันดับที่ 34 ในปีที่ผ่านมา แต่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการตลาด จนขึ้นอยู่อันดับที่ 30 ในปีนี้ แต่การแข่งขันในตลาดของไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ

รายงานฉบับล่าสุดนี้ อาจทำให้รัฐบาล และประชาชนในชาติเกิดความรู้สึกปลื้มเปรมกันได้ไม่น้อย แต่หากล้วงลึกดูไส้ใน โดยเฉพาะด้านการศึกษาอาจทำให้รอยยิ้มสลายไป ด้วยข้อมูลเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกทั้งหมด 144 ประเทศทั่วโลก ของดับบลิวอีเอฟระบุว่าคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ที่อันดับ 7 ของอาเซียน หล่นจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 6 และเป็นอันดับที่ 86 ของโลก โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ขยับขึ้นแทนที่อันดับ 6 ของอาเซียน แถมทิ้งห่างไทยไปอยู่อันดับที่ 79 ของโลก ส่วนคุณภาพของระดับอุดมศึกษาของไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 78 ของโลก ตาม สปป.ลาว ที่อยู่อันดับ 6 ของอาเซียน และอันดับที่ 57 ของโลก ส่วนประเทศกัมพูชา อยู่อันดับ 7 ของอาเซียน อันดับที่ 76 ของโลก แต่ขีดความสามารถด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ของไทยอยู่อันดับ 5 ของอาเซียน หากยังอยู่อันดับ 80 ของโลก

ทั้งนี้ นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เห็นว่า ดับบลิวอีเอฟรายงานข้อมูลโดยใช้ผลความพึงพอใจต่อคุณภาพบัณฑิตของนายจ้างมาเป็นตัวชี้วัดสำคัญ แต่ยอมรับว่าอุดมศึกษาไทยมีปัญหาว่าผลิตบัณฑิตออกมาแล้วไม่สามารถทำงานได้ทันที สถานประกอบการต้องเสียเวลาฝึกงานให้ระยะหนึ่ง อาจทำให้สถานประกอบการของไทย พึงพอใจต่อคุณภาพบัณฑิตค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายๆ ส่วนอันดับที่อยู่ท้ายๆ จนตามหลัง สปป.ลาว และกัมพูชานั้น อาจเป็นเพราะทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา ยังมีอุตสาหกรรมน้อยกว่าไทย จึงเลือกบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการได้มากกว่า เป็นธรรมดาที่ต้องมีความพึงพอใจมากกว่า แต่ สกอ. ได้พยายามส่งเสริมการเรียนในหลักสูตรทวิภาคี เรียนในสถานประกอบการ หรือเรียนไปทำงานไป เพื่อช่วยเพิ่มทักษะการทำงานให้บัณฑิตมากขึ้น และต้องส่งเสริมในระยะยาวด้วย

ที่ผ่านมา การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศไทยมีไม่น้อย งบประมาณปี 2557 ของกระทรวงศึกษาธิการ 481,337 ล้านบาท จัดว่าสูงมากในกลุ่มประเทศอาเซียน งบดังกล่าวแยกเป็น งบสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน 304,362 ล้าน คิดเป็น 63.23% งบอาชีวศึกษา 20,715 ล้าน คิดเป็น 4.30% งบอุดมศึกษา 96,238 ล้าน คิดเป็น 19.99% และงบสำนักงานปลัด 56,027 ล้าน คิดเป็น 11.64% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ต่อจำนวนประชากร ไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 79 ของโลก เท่ากับว่าประเทศในอาเซียนที่มีจีดีพีต่ำกว่าไทย กลับจัดการศึกษาได้ดีกว่า ขณะที่การศึกษาถือเป็นดัชนีหนึ่งในการชี้อนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว หากการศึกษาไม่ดี เศรษฐกิจก็อาจจะแย่ลง และจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตแน่นอน ถึงเวลาหรือยังที่จะรื้อหลักสูตร กระบวนการศึกษาทั้งระบบ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรสายการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า แข่งขันทัดเทียมกับชาวโลกได้ นักเรียนนักศึกษาต้องเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และนำไปประยุกต์ใช้เป็น โดยผู้ใหญ่ต้องเปิดกว้างให้ เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรที่เหมาะสมแก่ยุคสมัย