เอสเอ็มอีกับสัญญาณเตือน สู่การพัฒนาความยั่งยืน

เอสเอ็มอีกับสัญญาณเตือน  สู่การพัฒนาความยั่งยืน

ในช่วงที่บรรดาธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหลาย กำลังเริ่มจะกลับมาตั้งตัวใหม่จากผลกระทบของโรคระบาดใหญ่ โควิด-19 ที่โถมกระหน่ำสู่ธุรกิจตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

เพื่อหันกลับมาสนใจอย่างจริงๆ จังๆ กับธุรกิจเดิมที่เคยทำอยู่ หรือแนวคิดธุรกิจใหม่ที่ค้นพบจากการดิ้นรนเพื่ออยู่รอด เพื่อเตรียมธุรกิจของตนเองให้พร้อมต้อนรับกับสภาพใหม่หลังจากคลายความกังวลจากวิกฤติที่จะผ่านพ้นไปในอีกไม่ช้า

หากจะย้อนกลับไปดูบรรยากาศของโลกธุรกิจที่กำลังติดเครื่องอย่างสูงก่อนที่โควิดจะมาเยือน เอสเอ็มอีที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจอยู่ตลอดเวลา มักจะได้ยินคำว่า “ความยั่งยืน” หรือ “การพัฒนาความยั่งยืน” บ่อยครั้งมากขึ้น

โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต่างก็ออกมาประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้บริบทของ “การพัฒนาความยั่งยืน”

ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งหมายถึงความพยายามที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ที่เป็นผลมาจากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ผองเพื่อน เช่น ก๊าซกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ และ ซัลเฟอร์ (กำมะถัน) ออกไซด์

ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่เมื่อก๊าซเหล่านี้ลอยตัวกันขึ้นไปรวมกันในชั้นบรรยากาศ ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังผิวโลก ไม่สามารถสะท้อนออกไปสู่บรรยากาศที่เย็นกว่าในอวกาศนอกโลกได้ เนื่องจากก๊าซที่ว่าเหล่านี้จะสะท้อนความร้อนที่จะลอยออกไปให้สะท้อนกลับไปกลับมาอยู่บนผิวโลกนานขึ้น จนทำให้อุณหภูมิอากาศของโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ที่สำคัญอย่างยิ่ง กลุ่มก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ ล้วนเป็นผลพลอยได้ที่ไม่ต้องการจากการทำอุตสาหกรรมการผลิตและการดำเนินธุรกิจที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากมายจนควบคุมไม่ได้

ทำให้โลกภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่สามารถรักษาสภาพสมดุลของธรรมชาติ ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของพืช สัตว์ และมนุษย์ ได้เมื่อเปรียบเทียบกับโลกในอดีต

ในกลุ่ม “ก๊าซเรือนกระจก” นี้ ก๊าซที่มีปริมาณมากที่สุดก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เป็นที่มาของคำว่า “ก๊าซคาร์บอน” หรือ “คาร์บอน” เฉยๆ จากการตัดคำย่อความเพื่อความสะดวกในการใช้เรียกของคนทั่วไป

ทั้งๆ ที่คำว่า “คาร์บอน” เป็นชื่อของสสารชนิดหนึ่งเป็นของแข็งสีดำ ที่มีชื่อสามัญเรียกกันทั่วไปว่า “ถ่าน” นั่นเอง

เนื่องจากการเป็นที่ยอมรับแล้วว่า “สภาวะโลกร้อน” ที่เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยรวม เป็นผลพวงของการกระทำของมนุษย์ที่เกิดจากพัฒนาการทำธุรกิจและอุตสาหกรรม และยังไม่รวมถึงการปล่อยของเสียอันตรายสู่แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร์ การสร้างขยะอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ไม่ได้รับการบำบัดความเป็นพิษเสียก่อน

ปรากฏการณ์เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดความคิดที่ว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จะต้องเริ่มหาแนวคิดที่จะทำธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จะไม่ทำให้โลกเป็นสภานที่ที่ไม่น่าอยู่สำหรับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลก

แนวคิดแรกๆ ก็คือ การทำธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ภายใต้สโลแกน “ธุรกิจสีเขียว” ติดตามมาด้วยกระแส การทำธุรกิจที่ “แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม” ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา และพัฒนามาสู่กระแส “การพัฒนาความยั่งยืน” ในปัจจุบัน

แน่นอนว่า การพัฒนาแนวคิดเหล่านี้มาจากโลกตะวันตก เราอาจได้รับทราบแนวคิดเหล่านี้ที่ใช้เรียกเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Green (สีเขียว) Corporate Responsibilities หรือคำย่อ CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคม) และ Sustainability Development หรือคำย่อ SD (การพัฒนาความยั่งยืน) แต่ไม่ทราบที่มาและความเชื่อมโยงกับการต้องชดใช้ในสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำต่อโลกอย่างรุนแรงตลอดมา

กระแสเหล่านี้ได้เริ่มกระจายต่อไปกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเริ่มเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว ธุรกิจที่ไม่เตรียมการปรับตัวรับกระแสการพัฒนาความยั่งยืน อาจต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันภายใต้กติกาความยั่งยืนได้โดยง่ายในอนาคต

สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการสำรวจและปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนเองให้รับกับกระแส “ความยั่งยืน” สามารถสำรวจเบื้องต้นได้ โดยดูว่า ธุรกิจของตนได้ทำอะไรที่มีส่วนทำให้เกิดประโยชน์ใน 3 ด้าน ได้แก่

(1) การอนุรักษ์โลก เช่น อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พลังงาน อนุรักษ์วัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป

(2) การสร้างความเข้มแข็งและเติบโตให้กับธุรกิจ โดยเติบโตร่วมไปกับ ลูกค้า คู่ค้า ผู้ร่วมธุรกิจอื่น ไม่ได้ดูแต่ผลประโยชน์ของตนเอง และ

(3) การตอบแทนและสร้างประโยชน์ชุมชนและสังคม ตั้งแต่หน่วยย่อยที่สุด คือการดูแลพนักงานของตนเองให้มีความเข้มแข็งทั้งในด้านฐานะการเงิน ทักษะความเชี่ยวชาญ คุณธรรม พร้อมที่จะเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของครอบครัว ของชุมชน และของสังคม รวมไปถึงการสนับสนุนสร้างเสริมโครงสร้างทางกายภาพและสาธารณูปโภคเพื่อความเข้มแข็งและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคม

เหมือนกับสโลแกนภาษาอังกฤษที่ว่า “ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” จะต้องมุ่งไปที่การสร้าง 3P คือ PLANET-PROFIT-PEOPLE ให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันอย่างสมดุล