ประเทศไทยจะไปทางไหน เมื่อมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค แตะ 3 แสนล้านดอลลาร์?

ประเทศไทยจะไปทางไหน เมื่อมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค แตะ 3 แสนล้านดอลลาร์?

จากบทความตอนที่แล้ว ผมได้ยกตัวอย่างสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่นำสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และเทคโนโลยีบล็อกเชนใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศสู่การเป็น Digital Asset Hub ของโลก ผ่านการวางนโยบายและแผนดำเนินงานเพื่อรองรับการเข้าสู่ Digital Economy ของโลกยุคนี้

เทรนด์การจับมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีและสถาบันการเงินสูงมากขึ้นในโลก เช่น Google ได้จับมือกับ Coinbase, Bakkt และทำงานร่วมกับ Chainlink เพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้สำหรับพื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ด้วย Filecoin และ Sia ซึ่งจะเชื่อมต่อกับผู้ที่ต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลและผู้ที่สามารถปล่อยเช่าพื้นที่ได้ ด้วยวิธีนี้ทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลในเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) โดยทาง Google ได้จัดตั้งทีมงานขึ้นเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศใหม่นี้โดยเฉพาะ

ธนาคาร Standard Chartered ในลอนดอนจับมือกับ Linklogis บริษัท FinTech เพื่อสร้างแพล็ตฟอร์มการเงินและการค้าดิจิทัลบนบล็อกเชนชื่อว่า Olea โดยมีเป้าหมายในการรวบรวมนักลงทุนในสถาบันการเงินที่สนใจสินทรัพย์ดิจิทัลและต้องการนำสินทัพย์ดิจิทัลมาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับธุรกิจที่ต้องการการจัดหาเงินทุนสำหรับซัพพลายเชน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ การปรับตัว และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและตลาดทุนที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสิ่งเหล่านี้ส่งสัญญาณว่า Digital Economy จะมีความสำคัญมาก โดย Bloomberg ประเมินว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะโตขึ้น 25-30% ในปี 2022 และจะมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

วันนี้ประเทศไทยเองมีองค์ประกอบที่ดีในการก้าวขึ้นเป็น Digital Asset Hub จนไปถึงเป็น Digital Economy Hub ได้ จากการที่ประชากรไทยมีสัดส่วนการเปิดรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ  ผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียสูง จากการประเมินของ We Are Social และ Hootsuite ประชากรไทยใช้โซเชียลมีเดียอยู่ที่ 56.85 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 81.2 และยังมีสัดส่วนการถือครองคริปโทต่อจำนวนประชากรสูงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยอยู่ที่ร้อยละ 20.1 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงโอกาสในการสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัล (Digital Ecosystem) ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ประชาชน ธุรกิจ ช่องทาง (Channel) เทคโนโลยี กระบวนการ และกลยุทธ์ เพื่อต่อยอดสู่การเป็น Hub

อย่างไรก็ตามความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย ซึ่งถูกประเมินโดย The IMD World Digital Competitiveness Ranking จากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และด้านความพร้อมในการรองรับอนาคต (Future Readiness) ในปี 2021 ประเทศไทยยังอยู่ที่อันดับ 38 จาก 63 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวให้เร็วกว่านี้ แม้เราจะขยับขึ้นมา 1 อันดับทุกปีนับจากปี 2020 ที่อยู่อันดับ 39 และปี 2019 อยู่อันดับที่ 40 แล้วก็ตาม

3 ปัจจัยสำคัญที่ต้อง “เร่งทำ” เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Digital Economy Hub ของประเทศไทย

1. ปลดล็อคกฎหมายที่ขัดขวางนวัตกรรมและใช้ Innovation Sandbox ที่ “จำกัดความเสียหาย แต่ไม่จำกัดโอกาส” สำหรับบริษัทหรือกิจกรรมด้าน Digital Economy ที่ดำเนินการในรูปแบบที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องขออนุญาต โดยจำกัดเพียงขอบเขตในขนาดของการดำเนินการหรือจำนวนผู้ใช้ เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเมื่อสามารถวัดผลได้จากเป้าของตัวชี้วัดต่าง ๆ แล้ว จึงค่อยออกกฎหมายตามมาให้สอดคล้อง ควบคู่ไปกับการพักการบังคับใช้และแก้ไขกฎหมายที่ออกมาแล้วแต่ตามนวัตกรรมไม่ทัน ซึ่งรวมถึงกฎเกณฑ์ด้านภาษี

2. สร้างกองทุนและศูนย์บ่มเพราะ (Incubation Center) เพื่อสนับสนุนด้านความรู้ เงินทุน และทรัพยากรต่าง ๆ  สำหรับองค์กรและแรงงานด้าน Digital Economy ที่เปิดโอกาส สร้างงาน และสร้าง Ecosystem เพื่อดึงดูดให้คนเก่งของไทยไม่ไหลไปนอกประเทศ และดึงดูดคนเก่งและนักลงทุนจากทั่วโลก ให้มา “Workation” ในประเทศไทยที่มีความได้เปรียบจากสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม การขนส่ง ฯลฯ

3. การกระจายอำนาจการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ  ให้กับประชาชน เช่น การวางนโยบายและดำเนินงานของภาครัฐ การจัดสรรและตรวจสอบงบประมาณ ตรวจสอบโครงการต่าง ๆ  เพื่อให้งบประมาณจากภาษีประชาชนถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและโปร่งใส การให้เรตติ้ง-แต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการ เพื่อผลักดันให้ข้าราชการตั้งใจทำประโยชน์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

              ทั้งนี้นอกจากภาครัฐจะต้องมีวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารงานให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว การกระจายศูนย์-กระจายอำนาจให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันตัดสินใจ ในการขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของภาครัฐคือพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศในยุค Decentralized นี้

ซึ่งผมได้รวบรวมหลายฝ่ายที่เห็นความสำคัญดังกล่าวมาร่วมกันพัฒนาระบบ D-Vote ที่ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่วางนโยบายในวันนี้ และอนาคตจะสามารถให้ประชาชนร่วมกันกำหนดการดำเนินการต่าง ๆ ของภาครัฐ จนไปถึงการ “ให้ดาว” เพื่อเรตติ้งนักการเมืองและข้าราชการในการแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญต่าง ๆ

สามารถเริ่มทดลองใช้ได้แล้วที่ www.thuntee.com และกดเลือกปุ่ม D-Vote ซึ่งถ้าท่านมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหรือสนใจร่วมพัฒนาในส่วนต่าง ๆ  ด้วยกัน สามารถส่ง Inbox ได้ในช่องทางโซเชียลต่าง ๆ ของผมได้เลยนะครับ