’อุตตม’ หวั่นหนี้พุ่งหลัง ธปท. ขยับดอกเบี้ย

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ .25 เป็นร้อยละ .75 ในวันนี้ (10 ส.ค.) เป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย

การใช้นโยบายการเงินโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น เป็นแนวทางปกติในภาวะที่มีความห่วงใยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เช่น อาจทำให้การบริโภคของประชาชนชะลอตัวลงได้ รวมทั้งทำให้ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการภาคธุรกิจหลายประเภทยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ แม้มีสถาบันการเงินออกมาบอกว่าจะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด แต่ดูจากท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก ซึ่งก็จะมีผลต่อประชาชนและผู้ประกอบการ จึงมีความเป็นจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการนโยบายการเงินเพื่อดูแลเรื่องเงินเฟ้อ กับนโยบายการคลังเพื่อดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้แท้จริง

เรื่องหนึ่งที่หากไม่ได้รับการดูแลก็จะเป็นปัญหาในวงกว้างได้ ก็คือภาระหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานตัวเลขหนี้สะสมจากฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ.เดือน มิ.ย. 2565 มีจำนวนถึง 13 ล้านล้านบาท (ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนทั้งประเทศ 14.6 ล้านล้านบาท) โดยหากดูตัวเลขหนี้เสียพบว่ามีอัตราเร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท ไตรมาสสองเพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นล้าน เป็น 1.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดโควิดจนถึงปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกันประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง เช่น พ่อค้าแม่ขายรายย่อย จำเป็นต้องได้รับการดูแลให้เข้าถึงสภาพคล่องและทุนอย่างเพียงพอ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาหนี้สินไปพร้อมๆกัน หากทำด้านใดด้านหนึ่งก็จะไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาหนี้สินจะไม่ยั่งยืน และผู้ประกอบการก็ไม่มีทุนรอนเพียงพอเพื่อก้าวเดินเติบโตต่อไปได้อย่างแท้จริง สุดท้ายก็จะวนกลับสู่ปัญหาเดิมๆอีก

ในวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) พรรคสร้างอนาคตไทยจึงจะจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ดอกเบี้ยพุ่ง เอสเอ็มอีโคม่า” โดยมีตัวแทนจากเอสเอ็มอี หาบเร่แผงลอย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงิน มาร่วมกันหาทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สิน รวมทั้งแนวทางการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในอนาคต ผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในเสวนาครั้งนี้ ผ่านทาง เฟซบุ๊ก พรรคสร้างอนาคตไทย ตั้งแต่เวลา 10.30 น. – 12.00 น. โดยข้อมูลความคิดเห็นจากวงเสวนา จะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการจัดทำนโยบายของพรรค เกี่ยวกับการดูแลประชาชนและเอสเอ็มอี ต่อไป