“หอการค้า” เผยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดันต้นทุนธุรกิจอาหาร 5-20%

“หอการค้า” เผยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  ดันต้นทุนธุรกิจอาหาร 5-20%

หอการค้าไทยหนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค้านขึ้นอัตราเดียวทั้งประเทศ ชี้ให้ไตรภาคีถกหาเพดานปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ด้านเอกชนกลุ่มอาหารเผยปรับค่าแรงส่งผลต่อต้นทุนเพิ่ม5-20 % ขึ้นอยู่กับใช้แรงงานมากน้อย

นายสนั่น  อังอุบลกุล   ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ว่า หอการค้าไทยเห็นด้วยที่ต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในโดยเฉพาะเงินเฟ้อของไทยที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย ซึ่งหากไม่มีการปรับค่าแรงขั้นตำก็จะมีผลกระทบต่อคนที่มีรายได้ต่ำ ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน ที่ผ่านมาหอการค้าไทยพยายามผลักดันให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดเพดานไว้ที่ 5-8 % คงต้องดูตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะปรับขึ้นเท่าไร โดยการพิจารณาก็จะดูเรื่องของอัตราเงินเฟ้อไปด้วย แต่หากจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศทั่วประเทศนั้น ทางหอการค้าฯไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

         

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา  รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต  กล่าวว่าเอกชนได้ติดตามเรื่องต้นทุนต่างๆต่อเนื่องซึ่งต้นทุนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเป็นหลักอีกทั้งค่าแก๊ซและค่าขนส่งต้นทุนเรื่องกระบวนการผลิตก็เพิ่มขึ้นซึ่งค่าไฟก็รวมเป็นต้นทุนด้วยโดยแต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากันแต่อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากจะได้รับผลกระทบมากกว่าและส่งผลไปยังสินค้าที่ผลิตและจะส่งต่อไปถึงผู้บริโภคด้วยเช่นกันซึ่งการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะปรับขึ้นราคาเท่าใดให้แรงงานอยู่ได้ขึ้นเท่าใดที่ทำให้ธุรกิจไปต่อได้และขึ้นเท่าใดจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งต้องมีจุดตรงกลางที่เหมาะสมและต้องใช้ระดับเงินเฟ้อเป็นตัวพิจารณาประกอบด้วย

ทั้งนี้การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มส่งผลต่อธุรกิจแตกต่างกันไปซึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานสูงแต่บางธุรกิจที่มีการปรับตัวมาบ้างแล้วโดยการใช้เครื่องจักรทดแทนอาจได้รับผลกระทบน้อยซึ่งอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวของผู้ผลิตธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้แต่ตลาดต้องการสินค้านั้นแล้วคู่แข่งมีจำนวนน้อยก็ยังเป็นเรื่องของการขึ้นราคาสินค้าเป็นหลักแต่ถ้าธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงที่มีทั้งรายเล็กและรายใหญ่กำลังแข่งขันกันมีโอกาสที่รายเล็กรายย่อยจะล้มหาย

 

 

สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่ส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานในการผลิตเริ่มตั้งแต่ต้นทางเรื่องการทำเกษตรในการแปรรูปอาหารจะมีสินค้าบางรายการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานเช่นพืชผักผลไม้หรือปศุสัตว์ที่ยังไม่สามารถหาเครื่องจักรทดแทนได้100%กลุ่มนี้ยังต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกด้านเมื่อแบกภาระต้นทุนสูงขึ้นผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องปรับราคาสินค้า สุดท้ายก็จะตกไปถึงผู้บริโภค

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประเมินว่า จะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการตั้งแต่5-20% ขึ้นอยู่กับใช้แรงงานมากน้อยแค่ไหน อุตสาหกรรมใดมีเครื่องจักรมาช่วยอาจเหลือเพียง5%ก็ได้แต่อุตสาหกรรมใดใช้แรงงานเยอะย่อมส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก “

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพื่อช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการการคือ 1.ช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีต่างๆที่ใช้ในการผลิต 2.ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก เช่น การนำโซลาร์รูฟท็อป มาใช้ในโรงงงานอุตสาหกรรม 3.การเข้าถึงแหล่งทุนก็สำคัญเนื่องจากการจะได้มาเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆต้องมีเงินทุนเข้ามาช่วยอีกทั้งรัฐต้องหาวิธีการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำธุรกิจมากที่สุดเช่นระบบเนชั่นแนลซิงเกิลวินโดว์(National Single Window : NSW)ที่เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจสำหรับการเข้าส่งออกและโลจิสติกส์โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปยื่นเอกสารให้กับหลายหน่วยงานเพื่อผลิตสินค้าหรือส่งออกสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งแต่สามารถทำบนสมาร์ทโฟนได้เลยจะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจได้อีกมาก