แปรรูป ‘ปลาส้ม’ โกยเงินสู้โควิด! สร้างรายได้ยั่งยืน

ทต.ธาตุพนมใต้ หนุนชุมชนนำภูมิปัญญาชาวบ้านแปรรูปปลาส้ม เพิ่มมูลค่าแก้ปัญหาปลาในกระชัง ปลาน้ำโขงราคาตกต่ำ โกยเงินสู้ภัยโควิด สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน ขยายผลต่อยอดขายผ่านตลาดออนไลน์ครบวงจร

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก เทศบาลตำบลธาตุพนมใต้ (ทต.ฯ) อ.ธาตุพนม จ.นครพนม โดย จ.ส.อ.เสน่ คำมุงคุณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลธาตุพนมใต้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน เปิดโครงการฝึกอบรมการประกอบอาชีพเสริมรายได้ในครัวเรือน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับกลุ่มแม่บ้านและผู้ที่มีความสนใจ เกี่ยวกับการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาแปรรูป อาทิ ปลาปาก (ปลาตะเพียน),ปลานิล ฯลฯ ที่เลี้ยงในกระชัง รวมถึงปลาที่หาได้ตามแม่น้ำโขง หรือ ลำน้ำก่ำ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขามาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ตามแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้านในการถนอมอาหารไว้รับประทานได้นานวัน ด้วยการแปรรูปทำเป็นปลาส้มตัว กับปลาส้มห่อใบตอง แก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ อีกทั้งยังเป็นการถนอมอาหารเก็บไว้ได้นานหลายเดือน และสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว
ทั้งนี้ ทต.ธาตุพนมใต้ ได้มีการวางแผนพัฒนา ส่งเสริมให้ชาวบ้าน มีการเลี้ยงปลากระชัง เพื่อผลิตปลาส้มแบบครบวงจร เพื่อสร้างรายได้ สู้วิกฤตโควิด อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาราคาปลากระชังตกต่ำในระยะยาว โดยสามารถเพิ่มมูลค่าจากราคาปลาสดปกติกิโลกรัมละ 50-60 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 150 -200 บาท พร้อมเตรียมขยายส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพทุกชุมชน หันมาแปรรูปทำปลาส้มส่งป้อนตลาดทั่วไทย ควบคู่ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และใช้เวลาว่างจากงานประจำสร้างรายได้ยั่งยืน

ด้าน จ.ส.อ.เสน่ คำมุงคุณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลธาตุพนมใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดระบาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า รวมถึงอาชีพการเกษตร ผลผลิตราคาตกต่ำ โดยเฉพาะชาวบ้านชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงลำน้ำก่ำ ที่มีอาชีพประมงหาปลา ไปจนถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ตนจึงได้หารือวางแนวทางกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ในการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน มาแก้ไขปัญหา ด้วยการส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนกลุ่มแม่บ้านที่มีความสนใจ เกี่ยวกับการแปรรูปทำปลาส้ม นอกจากเป็นการถนอมอาหารแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร จากการเลี้ยงปลากระชังเพิ่มขึ้นเท่าตัว

  เบื้องต้นได้นำร่อง นำกลุ่มอาชีพในชุมชนหมู่บ้านต่างๆ มารับการฝึกอบรม จากผู้ที่มีความชำนาญ ในการทำปลาส้มตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น ด้วยการนำปลาตะเพียนมาแปรรูป ผสมกับข้าวเหนียวนึ่ง เกลือ กระเทียม เป็นการปรุงให้มีรสชาติดีขึ้น และเป็นการหมักให้เป็นปลาส้มแบบไร้สารปนเปื้อน ด้วยวิธีการถนอมอาหารแบบพื้นบ้าน สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน
      รวมถึงนำตัวปลาไปขูดเฉพาะเนื้อทำปลาส้มห่อใบตอง เป็นการเพิ่มมูลค่าได้อีกเท่าตัว สร้างรายได้จากกิโลกรัมละ 50-60 บาท เพิ่มเป็นราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท ซึ่งสามารถนำปลาทุกชนิดมาเป็นวัตถุดิบ เช่น ปลาชะโด ปลากราย เป็นต้น แทนที่จะนำไปขายปลาสดอย่างเดียว แต่สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เป็นทางเลือกให้ชุมชนมีอาชีพมีรายได้มากขึ้น อีกทั้งยังได้วางแผนส่งเสริมให้ชุมชน มีการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงปลากระชัง และนำมาทำปลาส้มแปรรูปครบวงจร ส่งออกขายสู่ตลาดทั่วประเทศ รวมถึงตลาดออนไลน์ เพื่อนำไปปรุงเป็นเมนูเด็ดขึ้นชื่อตามร้านอาหารอย่างปลาส้มทอด เชื่อว่าจะเป็นอีกทางเลือกที่สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจสู้ภัยโควิด ได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความเป็นอยู่ของชุมชน