สอท.ชี้ ในรอบ 10 ปี ไทยเจอ 6 วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่กระทบอุตสาหกรรมไทย

สอท.ชี้ ในรอบ 10 ปี ไทยเจอ 6 วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่กระทบอุตสาหกรรมไทย

เวทีสัมมนาThailand Survival สอท.ชี้ ในรอบ 10 ปี อุตสาหกรรมไทยเผชิญ 6 คลื่นวิกฤติเศรษฐกิจ แม้ได้รับผลกระทบ แต่ในทุกวิกฤติยังเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมไทย แนะผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)กล่าวในงานสัมมนา Thailand Survival ไทย จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก หัวข้อ "โอกาสและความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจ" ว่า การเผชิญวิกฤติที่ผ่านมาในรอบ 10 ปี มี 6 คลื่นที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม คลื่นลูกที่ 1 คือ ดิจิทัลดิสรัปชัน ไม่ว่าอุตสาหกรรมจะมีความแข็งแกร่งเพียงใด แต่ความเปลี่ยนแปลงมาอย่างรวดเร็วก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมล้มได้ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมก็พยายามที่จะทรานฟอร์มตัวเองหรือปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติดิสรัปชันแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ตามมาด้วยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งกระทบไปทั่วโลก ในฐานะไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งผลจากสงครามการการค้าก็มีทั้งบวก และลบสำหรับอุตสาหกรรมไทย ในฐานะที่ไทยเป็นโกลบอลซัพพลายเชนของจีนอุตสาหกรรมหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งไทยส่งออกชิ้นส่วน และวัตถุดิบต่างๆ ให้จีนใช้ในการผลิตส่งออกในหลายสินค้าแต่เมื่อเกิดปัญหาก็ทำออเดอร์ลดลง ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสของไทยโดยสหรัฐ หันมานำเข้าสินค้าที่ผลิตในไทย เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าจีน เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศทำให้ยอดการผลิตเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการย้ายฐานการผลิตทั้งที่ย้ายออกไทย และย้ายมาตั้งที่ไทย

ต่อมาไม่นานก็มาเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมไทยที่ปรับตัวผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ครบวงจร เช่น ชุดPPE ที่เดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยก็ปรับเปลี่ยนมาผลิต ชุดPPE ใช้ในประเทศ และส่งออก

คลื่นลูกที่ 4  สงครามรัสเซีย และยูเครน ซึ่งแรงกระแทกต่อประเทศไทย และทั่วโลกหนักมาก โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น  จากราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อลุกลามไปทั่วโลก เงินเฟ้อของสหรัฐ พุ่งขึ้นสูงถึง 9.1% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนไทยเงินเฟ้อพุ่ง 7.7% ในเดือนมิ.ย.  จนทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสหรัฐที่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวนทางการเงินมากขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยเงินเฟ้อก็สูงมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นมาก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ วัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตสินค้าและส่งออก ไม่มีปัญหา แต่ส่วนที่ 2 คือวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตสินค้าแล้วจำหน่ายในประเทศ แต่ไม่สามารถปรับราคาได้เพราะถูกควบคุมไว้ก็เป็นภาระของผู้ประกอบการ 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่โตสวนทางกับวิกฤติสงครามคือ อุตสาหกรรมอาหารที่มียอดส่งออกเพิ่มขึ้น  โดยในปีนี้คาดไทยจะส่งออกสินค้าอาหารได้ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท จากปี 2564 ส่งออกได้ 1.1 ล้านล้านบาท จากความต้องการสินค้าอาหารของโลกเพิ่มสูงขึ้นจากความกังวลความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งจากในปี 2563-2564 ไทยอยู่อันดับ 13 ของประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารของโลก ในปีนี้อาจติดท็อป 10 ของโลกได้

 

นอกจากนี้ยังต้องเจอกับวิกฤติ recession ซึ่งภาคการส่งออกของไทยจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ย แม้ว่าการส่งออกของไทยจะยังเติบโตจากการค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่ช่วยการส่งออกไทย ขณะที่การท่องเที่ยวในปลายปี ก็จะมาเสริมอีกแรงหนึ่ง และอีกเรื่องที่จะเป็นวิกฤติต่อไปคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นคลื่นหายนะลูกใหญ่ ซึ่งยุโรปกำลังนำมาตรการซีแบมมาใช้ในการนำเข้าสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและรับมือ

“ในรอบ 10 ปี อุตสาหกรรมไทยเผชิญกับวิกฤติโลก ทั้งการดิสรัปชัน สงครามการค้า โควิด-19 สงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งทุกวิกฤติมีโอกาส แต่ทุกคนก็มีความเสี่ยงในโอกาสเช่นกัน”นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับทางรอดของอุตสาหกรรมไทยท่ามกลางวิกฤติ ซึ่ง สอท.ได้วางนโยบายไว้ 2 ส่วน คือ อุตสาหกรรมดั้งเดิม ที่จะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดได้ และ อุตสาหกรรมที่มีอนาคต คือ อุตสาหกรรม S-CURVE อุตสาหกรรม BCG และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์