"ช้อปดีมีคืน" ใช้ "ใบกำกับภาษีเต็มรูป" แบบไหน ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง ?

"ช้อปดีมีคืน" ใช้ "ใบกำกับภาษีเต็มรูป" แบบไหน ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง ?

ทำความรู้จัก "ใบกำกับภาษีเต็มรูป" สำหรับใช้เป็นหลักฐานในการ "ยื่นภาษี" ตามเงื่อนไขโครงการ "ช้อปดีมีคืน" 2565 พร้อมตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับใบกำกับภาษีจากเวบไซต์ "กรมสรรพากร"

"ช้อปดีมีคืน" 2565 อีกครั้งของรัฐ ที่ถูกนำกลับมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชนสามารถขอคืนภาษีจากการใช้จ่ายและใช้บริการตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 15 ก.พ. 65

เช่น ค่าซื้อหนังสือ และค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ฯลฯ

เช็ครายละเอียดช้อปดีมีคืนซื้ออะไรได้บ้าง คลิกที่นี่ 

นอกจากการช้อปที่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนดแล้ว อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมี คือ "ใบกำกับภาษีเต็มรูป" ที่ต้องขอมาทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย และต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นภาษีด้วย

 

  •  ใบกำกับภาษีเต็มรูป เป็นแบบไหน ? 

จากโครงการช้อปดีมีคืนปี 2563 หลายคนประสบปัญหาขอใบกำกับภาษีมาแล้วใช้ไม่ได้ เนื่องจากการข้อมูลสำคัญตามที่กำหนด "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ "ใบกำกับภาษีเต็มรูป" ตามที่แบบกรมสรรพากรกำหนด ดังนี้ 

\"ช้อปดีมีคืน\" ใช้ \"ใบกำกับภาษีเต็มรูป\" แบบไหน ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง ?

ข้อมูลสำคัญที่ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูป ได้แก่

1. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่เห็นได้เด่นชัด

2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขของเล่ม (ถ้ามี)

5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

  •  กรณีที่ข้อมูลไม่เป็นไปตามรูปแบบข้างต้น แบบไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้บ้าง ? 

ข้อมูลจาก กรมสรรพากร ที่มีการตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นช้อปดีมีคืน (ข้อมูลอัพเดทล่าสุดเมื่อ 6 ม.ค. 65) ระบุว่าไว้ดังนี้ 

ถาม: ใบกำกับภาษีมีชื่อผู้ซื้อมากกว่า 1 คน เช่น นาย ก และ นาย ข ใช้สิทธิได้หรือไม่ตอบ: ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องเป็นชื่อผู้มีเงินได้คนเดียว

ถาม: ที่อยู่ในใบกำกับภาษี ใช้ที่อยู่ที่ใด
ตอบ: ที่อยู่ตามที่สะดวก หากผู้มีเงินได้ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถาม: ชื่อ – ที่อยู่ ในใบกำกับภาษีผิด ใช้สิทธิได้หรือไม่
ตอบ: ได้ หากไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลอื่นสามารถใช้สิทธิได้ แต่หากทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นบุคคลอื่นให้ผู้ออกใบกำกับขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับ หรือยกเลิกฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง

ถาม: ใบกำกับภาษี ออก ชื่อ-สกุล เป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่
ตอบ: ได้ หากใบกำกับภาษีมีรายละเอียดครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม: ใบรับ ออกชื่อ-สกุล เป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ได้ ชื่อผู้ขายต้องออกเป็นภาษาไทยเท่านั้น ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนชื่อผู้ซื้อจะระบุเป็นภาษาอังกฤษก็ได้

ถาม: ใบกำกับภาษีสาระไม่ครบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีชื่อ-ที่อยู่ผู้ซื้อ ใช้ได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ได้

 

  •  กรณีผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 

กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน iTAX ระบุว่าสามารถทำได้ ด้วยการขอใบเสร็จรับเงิน แต่ต้องมีข้อมูลครบถ้วนดังต่อไปนี้ 

- เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จํานวนเงิน

---------------------------------------

อ้างอิง: กรมสรรพากร, iTAX

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์