'แบงค์ 60 พรรษา' พิเศษยังไง?

'แบงค์ 60 พรรษา' พิเศษยังไง?

"แบงค์ 60" จุดเด่นคือ ธปท. ออกเองรุ่นแรกและรุ่นเดียว ใช้เทคนิคการเหลือบสี “เขียว-น้ำเงิน” เป็นเงินกระดาษฉบับเดียวที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายวรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ธปท. ยังมีธนบัตรที่ระลึกที่สามารถจัดสรรให้กับธนาคารพาณิชย์และธนาคารออมสิน เพื่อจ่ายแลกให้กับประชาชนทั่วไปได้อีก 2 แบบ คือ

1.บัตรธนาคารเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา หกสิบบริบูรณ์ 5 ธันวาคม 2530 ชนิดราคา 60 บาท จำนวน 9 แสนฉบับ

2.ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธนบัตรไทย (ปี 2545) ชนิดราคา 100 บาท จำนวน 9 แสนฉบับ


ฟังอย่างนี้แล้วสงสัยหรือไม่ว่า ทำไม “แบงค์ 60” เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา หกสิบบริบูรณ์ 5 ธันวาคม 2530 ชนิดราคา 60 บาท จึงเรียกว่า “บัตรธนาคาร” แทนที่จะเรียกว่า “ธนบัตร” เหมือนฉบับอื่นๆ

คำตอบ คือ รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ออกโดย “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ซึ่งเงินกระดาษที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ปกติจะเรียกว่า “บัตรธนาคาร” ..แต่ถ้าออกโดย “รัฐบาล” จะเรียกว่า “ธนบัตร”

ความพิเศษของบัตรธนาคารฉบับอยู่ตรงที่..

1.เป็นบัตรธนาคารที่ ธปท. ออกใช้เป็น “รุ่นแรก” และ “รุ่นเดียว” ส่วนเงินกระดาษที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป ออกใช้โดย “รัฐบาล” เราจึงเรียกกันว่า “ธนบัตร”

2.บัตรธนาคารฉบับนี้เป็นรุ่นที่ใช้เทคนิคการเหลือบสี ระหว่างสีเขียวกับสีน้ำเงิน ขึ้นกับว่ามองมุมไหน ซึ่งเทคนิคการเหลือบสีนี้ ถือเป็นเทคนิคที่พิเศษมากในช่วงเวลานั้น

3.บัตรธนาคารนี้ถือเป็นเงินกระดาษฉบับเดียวที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้าว-ยาว ด้านละ 159 มิลลิเมตร โดยที่เลข 1 หมายถึง การออกบัตรธนาคารของธปท. เป็นครั้งแรก เลข 5 หมายถึง เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และเลข 9 หมทยถึง รัชกาลที่ 9

ความจริงแล้ว พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ให้สิทธิ์ ธปท. เพียงผู้เดียวในการออกใช้บัตรธนาคารแทนธนบัตรของรัฐบาล แต่เพราะช่วงเวลานั้น เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ธปท. จึงเกรงว่า ถ้าออกบัตรธนาคารใช้เอง ในขณะที่ประชาชนยังไม่คุ้น จึงห่วงเรื่องความเชื่อมั่น อีกทั้งสถานการณ์ทางการเงินของประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มั่นคง

แม้ว่าในปี 2488 ธปท. จะว่าจ้าง บริษัท โทมัส เดอลา รู จำกัด จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทที่พิมพ์ธนบัตรให้กับรัฐบาลไทยในขณะนั้น ช่วยออกแบบบัตรธนาคารให้ในปี 2488 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ จนกระทั่งมาออกใช้ในวาระมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชมพรรษาครบ 60 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2530 นี่เอง แต่ก็ถือเป็นการออกเพียงครั้งเดียว