เครดิตบูโรชี้ หนี้เสียกระฉูด 8.6% สสว.แนะเร่งช่วย SME ก่อนเกิดวิกฤติ

เครดิตบูโรชี้ หนี้เสียกระฉูด 8.6% สสว.แนะเร่งช่วย SME ก่อนเกิดวิกฤติ

เครดิตบูโร ชี้แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่คนส่วนใหญ่ยังลำบาก พบลูกหนี้บนข้อมูลเครดิตบูโรตกชั้นเป็นหนี้เสียทะลักทะลุ 1ล้านล้านบาท หนี้เสียพุ่ง 8.6% ขณะที่สสว.แนะรัฐเร่งช่วยเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อ หวั่นช่วยไม่ทันลามจนเกิดวิกฤติ

      นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) ร่วมเสวนา ภายใต้หัวข้อ “ดอกเบี้ยพุ่ง SMEs โคม่า” ที่จัดขึ้นโดย พรรคสร้างอนาคตไทย ว่า ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤติมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวิกฤติโควิด-19 ปัจจุบันแม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว

        แต่คนส่วนใหญ่ยังลำบากและได้รับผลกระทบอยู่มาก จากข้อมูลผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานไม่ถึง4ชั่วโมงพบว่า ยังมีอยู่จำนวนมาก 2.4 ล้านคน ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนไทย นอกภาคเกษตรยังอยู่ระดับต่ำเพียง 1.6 หมื่นบาทต่อคน 

    หากดูภาพรวม หนี้ครัวเรือน คนตัวเล็ก พบว่าวันนี้ หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.6 ล้านคน หรือ 89% หากเทียบกับจีดีพีไทยที่ 14.6 ล้านล้านบาท

    ซึ่งหากดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนบนข้อมูลของ “เครดิตบูโร” พบว่ามีถึง 13 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 32 ล้านคน 

     พบว่า วันนี้ หนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทะลุ 1.1ล้านล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ในมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นหนี้เสียที่ 8.6%      

     ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นชัดเจนหากเทียบกับไตรมาส 1ที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่เพียง 9.5 แสนล้านบาท หรือ 7.5% จากการตกชั้นของลูกหนี้จำนวนมาก จากลูกหนี้ในกลุ่มค้างชำระ และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง 
      “สะท้อนว่ามีลูกหนี้อีกมากที่ ได้รับผลกระทบ วันนี้ในขณะที่เรากำลังจะตะกายขึ้นจากหลุ่ม แต่เราก็เจอปัญหาที่สะสมมาก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นพอขึ้นจากหลุ่มมาก็เจอของแพง เจอรบกัน

     ดังนั้นภายใต้บรรยากาศตรงนี้เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร และอย่างข้อมูลธปท.ที่คาดว่าลูกหนี้จะฟื้นได้ในปี 67 แสดงว่า เราคงต้องดำน้ำต่อไปอีก 1ปี หลังจากนี้” 
      อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับคนตัวเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงทางการเงินอีกมาก ซึ่งมีหลายวิธีที่จะช่วยได้ เช่น เงินซอฟท์โลนที่มีอยุ่ 4 แสนล้นบาท หากนำมากระจายเพื่อช่วยกลุ่มนรี้เพิ่ม จะทำให้สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีเหล่านี้ได้อีก 4 แสนคน ที่สามารถเอาไปจ้างงาน สุดท้ายเงินก็จะหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป 
     ด้านนายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐเยอะมาก ที่ให้ความช่วยเหลือคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีกว่า 100กว่าหน่วยงาน

     แต่การช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึงคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีได้อย่างครอบคลุมเพราะ การเข้าไปช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริม แต่กลับไปชี้แนะการทำธุรกิจที่ขาดความเข้าใจที่แท้จริง

    ดังนั้นภาครัฐต้องถอยและทำหน้าที่ส่งเสริม ช่วยสนับสนุนให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจง่ายขึ้น เข้าถึงการเงินได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดต่างๆในการทำธุรกิจ 
     ขณะเดียวภายใต้ความไม่แน่นอน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาก จำเป็นที่ต้องเน้นการเติบโตในประเทศมากขึ้น และสนับสนุนให้เอสเอ็มอี มีขีดความสามารถในการทำธุรกิจมากขึ้น

     ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบัน ที่ยังมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องกฎหมายต่างๆที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม และมีระเบียบควบคุมค่อนข้างมากที่สร้างข้อจำกัดให้เอสเอ็มอี 
    รวมถึง กฎกติกาในการเข้าถึงสินเชื่อ ที่ไม่สนับสนุนหรือปล่อยสินเชื่อให้คนที่เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือเป้นหนี้เสีย เช่นไม่กล้าปล่อยกลุ่ม 21  เหล่านี้ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ 
     “วันนี้คนประสบวิกฤติจำนวนมาก ดังนั้นภาครัฐต้องหาวิธีทำช่วยเหลือคนเหล่านี้ เพราะหากไม่ทำวันนี้ อีกไม่เกิน 1ปีจะเจอวิกฤติใหม่ บวกกับการเมืองที่อาจขาดเสถียรภาพในระยะข้างหน้า จะยิ่งนำพาให้วิกฤติเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เพราะวันนี้มีคนจำนวนมากที่ประสบภัยทางการเงิน ดังนั้นหากผู้มีอำนาจไม่แก้ไขให้ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดวิกฤติ จนนำไปสู่การล้มลายได้”    
      ด้านนายเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการแผงลอย ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งแผงลอยอาจไม่หมายถึงการค้าขายวางกับพื้นอย่างเดียว

      แต่หมายถึงผู้ค้าที่ทำธุรกิจ เปิดร้านต่างๆด้วย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2แสนราย แต่จากการสำรวจของกรุงเทพมหานครพบว่ามีเพียง 6-7 หมื่นรายเท่านั้น 
     ดังนั้นมองว่า หากสามารถสนับสนุนให้ผู้ค้าเหล่านี้ ขึ้นทะเบียนได้ และมีการส่งเสริมจัดหาพื้นที่ค้าขายให้ผุ้ค้าเหล่านี้ จะยิ่งเป็นการช่วยเหลือคนตัวเล็ก ช่วยเอสเอ็มอีได้มากขึ้น

     ควบคู่ไปกับการอบรบวิชาชีพให้ความรู้เพิ่มเติม ในการใช้ค้าขายและยกระดับศักยภาพในระยะข้างหน้า 
      อีกทั้ง ปัจจุบันพบว่า ผู้ค้าแผงลอย เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อค่อนข้างมาก และมีการพึ่งหนี้นอกระบบถึง 20% ดังนั้นตรงนี้ถือเป็นจุดสำคัญ ที่ทางการ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ และสนับสนุนให้กลุ่มนี้เข้าถึงทางการเงินเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาระบบ และช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ 
     นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า วันนี้เห็นความพยายามของภาครัฐ ที่พยายามช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่การช่วยเหลือวันนี้ยังเป็นการต่างคนต่างช่วย และการช่วย แบบ one size fit all ที่ช่วยแบบเดียวเหมือนกันหมด

     ดังนั้นการช่วยเหลือจึงไม่เกิดเป็นรูปธรรม หรือการเข้าถึงการช่วยเหลือยังไม่มากเท่าที่ควร 
ทั้งนี้ หากพูดถึง เอสเอ็มอี ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 34% ของจีดีพี แม้จะมีขนาดใหญ่ หากเทียบกับระบบเศรษฐกิจ

      แต่ควรมีมาตรฐานวัด “เอสเอ็มอี”ในมิติอื่นๆด้วย  ไม่ใช่ดูจาก ภาพใหญ่อย่างเดียว
เช่น การวัดการเข้าถึงบริการทางการเงิน การเข้าถึงซอฟท์โลน ที่พบว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ เข้าถึงสินเชื่อไม่ง่าย ที่ยังเป็นปัญหา

    ดังนั้นการช่วยเหลือนอกจากมิติการเงินแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเจาะลึก มาตรการช่วยเหลือ ทั้งมาตรการระยะสั้น และวางแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวยาว มองไปถึงอนาคตด้วย