ร้านอาหารในห้าง-ศูนย์การค้า ห้ามซื้อกลับ! สั่งเดลิเวอรี่เท่านั้น

ร้านอาหารในห้าง-ศูนย์การค้า ห้ามซื้อกลับ! สั่งเดลิเวอรี่เท่านั้น

3 สมาคมค้าปลีก-ศูนย์การค้า-ภัตตาคารไทย ขานรับมาตรการเปิดร้านอาหารในห้างขายผ่าน "ฟู้ดเดลิเวอรี่" พร้อมยกระดับการปฎิบัติตามมาตรการ ศบค. อย่างเคร่งครัดและสูงสุด

จากคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เรื่องการยกระดับมาตรการการควบคุมโรคไวรัสโควิด 19 และการปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง โดยผ่อนปรนให้ร้านอาหาร  ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ดำเนินการได้เฉพาะการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ กว่า 40,000 ราย และครอบคลุมจำนวนแรงงานกว่า 400,000 ราย ทำให้มีรายได้เพื่อพยุงธุรกิจต่อไป

162790873078

โดย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งได้ประสานกับ สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมภัตตาคารไทย หารือแนวทางดำเนินงานต่างๆ นำเสนอต่อภาครัฐ ซึ่งได้มีการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการและพิจารณาอนุมัติการผ่อนผันในครั้งนี้ ทั้ง 3 สมาคมพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนอย่างเคร่งครัดและสูงสุด

ในส่วนของ "ผู้ประกอบการร้านอาหาร"  ได้มีการยกระดับมาตรการในการคัดกรองและการป้องกันการแพร่ระบาด โดย "DMHTemp"  

D : Distancing เว้นระยะห่างภายในร้านอย่างเคร่งครัด

M : Mask wearing สวมหน้ากากตลอดเวลา

H : Hand washing ล้างมือบ่อยๆ ครั้งละอย่างน้อย 20 วินาที

และ "Temp : Temperature" มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าปฎิบัติงานสำหรับพนักงานทุกคน ในส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ได้มีการกำหนดระบบการคัดกรอง และจุดพักคอยที่เป็นไปตามมาตรการของศบค. ตั้งอยู่บริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก พร้อมยกระดับการควบคุมสูงสุดในเรื่องของมาตรการสุขอนามัยของผู้รับ-ส่งอาหาร เดลิเวอรี่ เป็นต้น”

ทั้งนี้ 3 สมาคมฯ พร้อมที่จะปฎิบัติตามมาตรการผ่อนปรนให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. ในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) และไม่เปิดบริการให้ประชาชนทั่วไปซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มแบบรับกลับด้วยตัวเอง (Take Away) ได้ ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง

1.ผู้ประกอบการ

• จัดทำมาตรการ DMHTemp สำหรับพนักงานทุกคน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

• ห้ามรวมกลุ่ม หรือรับประทานอาหารร่วมกัน

 ห้ามเปิดหน้าร้าน

• กรณีมีอาการทางเดินหายใจ/ไข้ หรือเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงานทันที

2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์

• จัดให้มีระบบคัดกรอง และลงทะเบียนผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้าภายในอาคารหรือพื้นที่

• จัดระบบคิว และกำหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะสำหรับรอคิว

• มีบริเวณพักคอยซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม

• ต้องมีการกำกับดูแลให้มีการดำเนินตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

3.พนักงานรับ-ส่งอาหารแบบออนไลน์

• เน้นย้ำมาตรการ DMH สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างผู้อื่น พกเจลแอลกอฮอล์

• รอรับอาหาร ณ จุดรับ-ส่ง เท่านั้น

• กรณีมีอาการทางเดินหายใจ/ไข้ หรือเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงานทันที

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้ง 3 สมาคมฯ ได้ให้ความร่วมมือกับ ศบค. อย่างเคร่งครัด ในการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องการการแพร่ระบาด และยินดีที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ พร้อมยกระดับขั้นสูงสุด เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้น โดย ทั้ง 3 สมาคมฯ เชื่อว่าความช่วยเหลือและร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน