กลยุทธ์ IP ทรัพย์สินทางปัญญา - อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าจับตา

กลยุทธ์ IP ทรัพย์สินทางปัญญา - อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าจับตา

เมื่อนึกถึงบริษัทชั้นนำระดับโลกทั้งในโลก เช่น Disney, Sanrio, Netflix, Lego, Nintendo และ Pop Mart ในมุมมองทางกลยุทธ์แล้ว อะไรคือสิ่งที่บริษัทเหล่านี้มีร่วมกัน?

คำตอบคือ ทุกบริษัทข้างต้นล้วนให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ IP (Intellectual Property) หรือกลยุทธ์ทรัพย์สินทางปัญญากันมากขึ้น

ในอดีตธุรกิจหลายแห่ง จะมุ่งเน้นการผลิตเนื้อหา การบอกเล่าเรื่องราว ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ โดยบริษัทที่ผลิตเนื้อหาก็เน้นผลิตจำนวนมากและหวังว่าเนื้อหาเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ มียอดผู้ชมจำนวนมาก

ขณะที่บริษัทที่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ก็จะเน้นและมุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ประสบความสำเร็จ เป็นหลัก

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันบริษัทจำนวนมากจะหันมามุ่งเน้นในเรื่องของ IP มากขึ้น โดยจากในอดีตเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องของการปกป้องและรักษาสิทธิ์

แต่ในปัจจุบัน IP Strategy จะเป็นทั้งการพัฒนา การบริหาร และการสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีเป้าหมายและระบบที่ชัดเจน

เป็นการปลดล็อกศักยภาพ และพัฒนาต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างมูลค่าในระยะยาว

ทรัพย์สินทางปัญญาครอบคลุมทั้งตัวละคร คาแร็คเตอร์ เรื่องราว เช่น เอลซ่าจาก Frozen หรือ จักรวาล Marvel หรือ Hello Kitty ของ Sanrio หรือ   Mario ของนินเทนโด หรือ Squid Game จาก Netflix

นอกจากนี้ยังรวมถึง สไตล์ภาพและการออกแบบ ลิขสิทธิ์ในเพลง ภาพยนต์และบท อัตลักษณ์ของแบรนด์ ตลอดจนเนื้อหาดิจิทัลและเกม

ซึ่งเมื่อทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ได้รับการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ ก็จะกลายทำให้เกิดการเติบโตของทั้งตัวเนื้อหา การให้สิทธิ์การใช้งาน การขายสินค้ารวมถึงประสบการณ์

กลยุทธ์ IP ไม่ใช่การสร้างตัวคาแรคเตอร์และบอกเล่าเนื้อหาและเรื่องราวอีกต่อไป แต่สามารถนำไปสู่ การสร้างรายได้ซ้ำในหลากหลายรูปแบบ

การสร้างความผูกพันทางอารมณ์กับลูกค้า สามารถขยายข้ามวัฒนธรรมสู่ตลาดสากล แตกไลน์หรือต่อยอดจาก IP หลักไปสู่ IP ย่อย (เช่น จาก Star Wars ก็แตกออกเป็น The Mandalorian, Ahsoka, และ Andor)

รวมทั้งสามารถชี้นำและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตามสมัยนิยมได้ (เช่น กรณีเหล่าคาแร็คเตอร์ ของ Pop Mart ที่ถูกนำมาห้อยกระเป๋ากันไปทั่ว)

สำหรับบริษัทที่จะนำกลยุทธ์ IP มาใช้ มีกระบวนการง่ายๆ ที่เริ่มต้นจาก

1. การสร้างคาแรคเตอร์ ตัวละคร หรือ เรื่องราวที่แตกต่างจากผู้อื่น และสามารถสร้างความผูกพันทางอารมณ์กับกลุ่มเป้าหมายหลัก

2. ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการจดทะเบียนให้ครอบคลุม

3. คิดและพัฒนา IP ในลักษณะแพล็ตฟอร์ม โดยวางแผนใช้ประโยชน์จาก IP ให้หลากหลายช่องทางและรูปแบบ

4. พัฒนาช่องทางในการสร้างรายได้ ทั้งจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ เกม สื่อดิจิทัล ต่อยอด IP ทั้งดำเนินการด้วยตนเองและร่วมมือกับพันธมิตร

5. บริหาร IP อย่างครอบคลุมและเชิงองค์รวม ทั้งต้องคิดด้วยว่าทำอย่างไรไม่ให้สินค้าหรือบริการของ IP ออกมามากเกินไปจนเกิดความเบื่อหน่าย และ

6. ปรับ IP ให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง สำหรับแต่ละประเทศและภูมิภาค โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ IP

สำหรับบริษัทที่ไม่ได้มีสื่อ เนื้อหา หรือ คาแรคเตอร์ ก็สามารถพัฒนากลยุทธ์ด้าน IP ขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากทบทวนว่าตนเองมีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สามารถถูกยกระดับขึ้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์งานออกแบบ ความลับทางการค้า สิทธิบัตร ขั้นตอนในการบริการ ระบบบเฉพาะของตนเอง หรือซอฟแวร์ เป็นต้น โดยจะต้องมีเอกลักษณ์และใช้เป็นจุดเริ่มต้นของกลยุทธ์ IP ได้เช่นเดียวกัน

เคล็ดลับความสำเร็จที่สำคัญของการนำกลยุทธ์ IP มาใช้ คือ

1. จะต้องเป็นเจ้าของและควบคุม IP นั้นอย่างแท้จริง

2. ต้องคิดให้ไกลและครอบคลุม กลยุทธ์ IP ไม่ใช่แค่ควรปรากฎอยู่บนหน้าจอ หรือ เป็นแค่มาสคอตเท่านั้น

3. ต้องมีการประเมินสุขภาพของ IP อย่างสม่ำเสมอ ทั้งกระแสความนิยม ความผูกพัน และความแข็งแกร่ง และ

4. คิดในเชิงของระบบนิเวศ ที่เปิดโอกาสให้พันธมิตร แฟนคลับ หรือ ผู้พัฒนาอื่นๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วม

สัปดาห์วันหยุดสงกรานต์นี้เลยขอฝากกลยุทธ์ IP มาให้ลองคิด พิจารณา เผื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับบริษัทต่างๆ ในการขยายธุรกิจต่อไปครับ.