ศก.ชะลอหนุนอินฟลูเอนเซอร์ โตแรง 20% จี้รัฐไล่บี้ ‘เข้าระบบภาษี’

ศก.ชะลอหนุนอินฟลูเอนเซอร์ โตแรง 20%  จี้รัฐไล่บี้ ‘เข้าระบบภาษี’

กรณีร้อนแรงจากการที่ “กรมสรรพากร” เตือนกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ในวงการดิจิทัล โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์

และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่รับรีวิวสินค้า อาจยังไม่เข้าระบบเสียภาษีอย่างถูกต้อง! อยากให้มีความเข้าใจในการเสียภาษีและยื่นแบบแสดงรายได้ประจำปีให้ถูกต้อง เพื่อเป็นผลดีต่อทั้งผู้ทำคอนเทนต์และภาครัฐ รวมถึงมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ

สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันคนทำงานในวงการดิจิทัลมีสูง 9 ล้านคน เป็นฟรีแลนซ์ถึง 7 ล้านคน และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกปี 

"มีความเห็นสอดคล้องกับกรมสรรพากรที่อยากให้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนตร์ครีเอเตอร์ เมื่อมีรายได้ตามเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้และจ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐ โดยประเมินว่าอาจจะมีบางส่วนที่มีปัญหาไม่ได้จ่ายภาษีให้ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันจำนวนคนที่ทำงานด้านนี้มีสูงถึง 9 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่ทำงานฟรีแลนซ์สูงถึง 7 ล้านคน แต่กลุ่มคนที่ทำงานประจำมีประมาณ 2 ล้านคน" 

โดยการจัดอันดับกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในประเทศไทยของเทลสกอร์ แบ่งเป็น กลุ่มนาโน-อินฟลูเอนเซอร์ (Nano-influencer) ที่มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน มีเรตรายได้ 3,000-5,000 บาท ต่อการโพสต์ กลุ่มไมโคร-อินฟลูเอนเซอร์ (Micro-influencer) มีผู้ติดตาม 10,000-50,000 คน มีเรตรายได้ 5,000-10,000 บาทต่อโพสต์ โดยในประเทศไทยมีกลุ่มนาโนและไมโครอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากที่สุด 

ต่อมา กลุ่มมิดเทียร์-อินฟลูเอนเซอร์ (Mid-tier influencer) มีผู้ติดตาม 50,000 คน จนถึง 500,000 คน มีเรตรายได้ 10,000-30,000 บาทต่อโพสต์ และ แม็คโคร-อินฟลูเอนเซอร์(Macro-influencer) ผู้ติดตาม 500,000 คน จนถึง 1 ล้านคน มีเรตรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อโพสต์

“กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เมื่อมีรายได้ตามเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้และจ่ายภาษี และอยากให้เข้าไปตรวจสอบกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต่างประเทศที่ทำงานในไทยซึ่งมีการไลฟ์ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ถือว่ารับรายได้จากเอกชนไทย จึงควรยื่นแบบแสดงรายได้และจ่ายภาษีตามเกณฑ์ของไทยเช่นกัน”

เมื่อประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มีเม็ดเงิน 45,000 ล้านบาท คาดปี 2568 จะขยายตัวมากกว่า 20% ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวลง ผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญในการทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า ทำให้ความต้องการใช้อินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยิ่งมีสูงขึ้น! เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ตรงตัวและสามารถวัดผลได้ชัดเจน รวมถึงการมีอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่หลากหลาย สามารถเลือกได้ตามภาคธุรกิจและกลุ่มเป้าหมาย 

“อุตสาหกรรมนี้เติบโตรวดเร็วมาก ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลการเสียภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ เมื่อแนวโน้มรายได้สูงขึ้นทุกปี อาจสนใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคล ซึ่งเพิ่มโอกาสในการทำงานและการทำธุรกิจในระยะยาว"

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาไตรมาสแรกของปี 2568 ยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอใช้งบของภาคธุรกิจ แสดงถึงผู้ประกอบการไทยยังต้องการขยายแบรนด์และนำเสนอสินค้าต่างๆ เพื่อร่วมกระตุ้นยอดขาย

 

ศก.ชะลอหนุนอินฟลูเอนเซอร์ โตแรง 20%  จี้รัฐไล่บี้ ‘เข้าระบบภาษี’

วันชนะ จิตต์การงาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ตาชำนิ จำกัด (มหาชน) และประธาน SAMA ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมโฆษณาของประเทศไทย สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจร่วมแสนล้านบาท มีความเกี่ยวข้องทั้งเอเจนซี ผู้ผลิต ผู้วางกลยุทธ์ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ดังนั้นการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง จะเป็นผลดีระยะยาวต่อผู้ที่ทำงานในด้านนี้ และสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกัน

อีกความก้าวหน้าสำคัญของเอเจนซีและอุตสาหกรรมโฆษณาของประเทศไทย ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการตลาดระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงเอเจนซีชั้นนำของไทย 16 บริษัท รวมถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เรียกว่า SAMA (Strategic Asia Marketing Alliance) เพื่อสร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรม ทำให้ภาคธุรกิจไทยเมื่อต้องการขยายแบรนด์สู่ตลาดต่างประเทศ สามารถเข้ามาเชื่อมต่อผ่าน SAMA ในไทย ส่งผลให้ภาคเอกชนไทยสามารถโกอินเตอร์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

"ถือเป็นการรวมตัวของ 16 agency ชั้นนำในประเทศไทย และทั้ง 16 agency จะเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ล่าสุดไทย โดยการรวมตัวกันจะกลายเป็น house of expert จะเกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความสามารถไปด้วยกัน เป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนสมาชิกมีทั้ง Tellscore   , Chamni'sEyes , Moonshot และ Nobik Pingpung เป็นต้น"

ทั้งนี้ SAMA กำหนดคุณสมบัติของเอเจนซีที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ มีฐานลูกค้าที่ทุกคนรู้จักรวมถึงประวัติการทำงานที่มีความน่าเชื่อถือ 

"นับเป็นการสร้างอีโคซิสเตมของเอเจนซีไทยให้แข็งแกร่ง และร่วมแก้ปัญหาให้ภาคเอกชนไทยที่ต้องการไปทำตลาดในต่างประเทศและกังวลว่าจะใช้เอเจนซีบริษัทใดนั้น ให้สะดวกมากขึ้น ทั้งยังมีการคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในต่างประเทศให้ด้วย"

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองภาคเอกชนกลุ่มเอเจนซี อยากให้ภาครัฐเข้ามาร่วมส่งเสริมธุรกิจผ่านการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง มีเทคโนโลยี ที่ทำให้ธุรกิจเข้าถึงได้สะดวก ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำกว่า และผลักดันภาคธุรกิจไปร่วมแฟร์ในต่างประเทศมากขึ้น

ศก.ชะลอหนุนอินฟลูเอนเซอร์ โตแรง 20%  จี้รัฐไล่บี้ ‘เข้าระบบภาษี’