‘สตรีมมิง ค่าสมาชิก’ ปลุกอุตสาหกรรมเพลงรุ่ง! คาดการณ์ปี 68 ตลาดโต 7-10%

‘สตรีมมิง ค่าสมาชิก’ ปลุกอุตสาหกรรมเพลงรุ่ง!  คาดการณ์ปี 68 ตลาดโต 7-10%

อุตสาหกรรมเพลงจากถูกดิสรัปเกือบตาย! แต่ผู้ประกอบการเชื่อ "เพลงไม่มีวันตาย" แค่เปลี่ยนอุปกรณ์ แพลตฟอร์มฟังเพลง ปี 2568 ธุรกิจเพลงกลับเข้าสู่ยุครุ่งเรืองหรือ Sunrise อีกครั้ง และตัวแปร "ดิจิทัล" ที่เคยดิสรัป กลับช่วยทำเงินให้มหาศาล

อุตสาหกรรมบันเทิง ผ่านยุครุ่งโรจน์ และเผชิญพายุเทคโนโลยี ไม่ต่างจากหลายเซกเตอร์ ยิ่งเจาะลึก “อุตสาหกรรมเพลง” มักมีประโยคที่ผู้ประกอบการต้องออกมาตอกย้ำว่า จะเจอบททดสอบกี่ร้อนหนาว “เพลงไม่มีวันตาย” หากแต่รูปแบบ อุปกรณ์ แพลตฟอร์มฟังเพลงเปลี่ยน จากเทป ซีดี เอ็มพี3 ในอดีต มาสู่ “ออนไลน์” หรือสตรีมมิงในปัจจุบัน

ปี 2567 อุตสาหกรรมเพลงมีการเติบโต และแนวโน้มปี 2568 ยักษ์ใหญ่ยังมองตลาดขยายตัวต่อเนื่องด้วย

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงทั้งตลาดมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ปี 2568 คาดการณ์เติบโต 7-10% และถือเป็นการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทาง “ดิจิทัล” ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตเฉลี่ย 10%

‘สตรีมมิง ค่าสมาชิก’ ปลุกอุตสาหกรรมเพลงรุ่ง!  คาดการณ์ปี 68 ตลาดโต 7-10%

สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเพลงโดยรวมปีนี้เติบโต ประกอบด้วย 3 ตัวแปร ได้แก่ 1.ดิจิทัล ซึ่งผู้บริโภคฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง และแพลตฟอร์มเองพยายามทำการตลาดดึงผู้บริโภคสมาชิก เป็นต้น 2.เพลงยังต่อยอดการสร้างรายได้สู่ “โชว์บิซ” ที่มีทั้งคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรีหรือมิวสิค เฟสติวัล ซึ่งปี 2567 ประเทศไทยถูกขนานนามให้เป็นเมืองแห่งคอนเสิร์ต และ 3.การบริหารจัดการศิลปิน

“หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเพลงที่เติบโต และเป็น Sunrise คือสตรีมมิง”

หากเปรียบค่ายเพลง ผู้ผลิตเนื้อหาเพลงหรือ Content Provider คือ พ่อค้าอาวุธ ถือเป็นการสร้างสรรค์เพลงป้อนให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ นำไปต่อสู้กันในสนามธุรกิจ ขยายฐานผู้ฟังเพลง ดึงกลุ่มเป้าหมายให้สมัครสมาชิกหรือ Subscribe เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้ และการเติบโต

‘สตรีมมิง ค่าสมาชิก’ ปลุกอุตสาหกรรมเพลงรุ่ง!  คาดการณ์ปี 68 ตลาดโต 7-10%

“ในทุกสงครามของการต่อสู้ การรบ พ่อค้าขายอาวุธชนะเสมอ คนที่รบมีฝ่ายที่ตาย ธุรกิจแพลตฟอร์มต้องรบ ผมจึงขอเป็นพ่อค้าส่งอาวุธ เป็นคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ส่งเพลงให้แพลตฟอร์มไปสู้กัน”

ภาพดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนโอกาสมากมาย ส่งคอนเทนต์ให้แพลตฟอร์มเพื่อสร้างรายได้ให้บริษัท แต่หากดูตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ที่มีการใช้จ่าย และเติบโต 14% เป็นอีกแรงหนุนให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เติบโตในปีที่ผ่านมาด้วย นอกจากนี้ บริษัทที่มี “เพลงอยู่ทุกที่” เมื่อแพลตฟอร์มต่างๆ เติบโต รายได้บริษัทก็เติบโต

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มี “คลังเพลง” มากถึง 5 หมื่นเพลง มิวสิค วิดีโอ(เอ็มวี) 3.78 หมื่นเอ็มวี และคอนเสิร์ตกว่า 200 คอนเสิร์ต ที่เป็นสินทรัพย์ ลิขสิทธิ์นำไปต่อยอดได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลกว่า 1,270 ล้านบาท

‘สตรีมมิง ค่าสมาชิก’ ปลุกอุตสาหกรรมเพลงรุ่ง!  คาดการณ์ปี 68 ตลาดโต 7-10%

หากมองโอกาสระดับโลก ยักษ์แพลตฟอร์มจ่ายเงินให้กับคอนเทนต์โปรวายเดอร์ด้านเพลงอย่างเดียวมหาศาล โดยปี 2565 อยู่ที่ 1.98 แสนล้านบาท และปี 2567 เพิ่มเป็น 2.31 แสนล้านบาท

อีกปัจจัยการเติบโตของยอด Subscription ของยูทูบ ในประเทศไทย ผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมจ่ายเพื่อ “ประสบการณ์ดนตรี” ที่เหนือกว่าระดับ การได้สิทธิเข้าถึงคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ทำให้พบว่าราคาค่าสมาชิกมีการขยับสูงขึ้น 2 เท่าตัว จาก 99 บาท เป็น 179 บาท และมีโอกาสเติบโตขึ้นต่อได้อีก 3 เท่า หากเทียบกับระดับโลกที่จ่ายระดับ 525 บาท

‘สตรีมมิง ค่าสมาชิก’ ปลุกอุตสาหกรรมเพลงรุ่ง!  คาดการณ์ปี 68 ตลาดโต 7-10%

ปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมเพลงโลก สามารถสร้าง “รายได้จากดิจิทัล หรือสตรีมมิ่ง” แซงจุดสูงสุดที่ค่ายเพลงทำเงินในอดีต จากขายเทป ซีดี ฯลฯ ได้แล้ว

“ภาพรวมอุตสาหกรรมเพลง คนคิดว่าควรจะตายไปแล้ว แต่สิ่งที่ถูกดิสรัปคือ เครื่องเล่นเพลง เทป ซีดีที่ตาย แต่ทุกวันนี้เรายังฟังเพลง เดอะ บีทเทิล เพลงพี่เบิร์ด ธงไชย  และหากมองย้อนดูบริษัท เราโชคดีมีการปรับตัวมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา แม้เจอดิสรัปชันซ้ำซ้อน จากขายเทป ซีดีอยู่ดีๆ กลายมาเป็นดาวน์โหลด ทำธุรกิจอยู่ดี เจอ MP3 เข้ามา พอเรากำลังเอ็นจอยกำไรจากการทำ MP3 โลกถูกดิสรัปด้วยสตรีมมิง ซึ่งหลายคนมองเป็นดิสรัปหรือโอกาส แต่หากดูการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงยุคดิจิทัล จะพบว่าเป็นช่วงอยู่ในขาขึ้น เป็นธุรกิจ Sunrise” 

‘สตรีมมิง ค่าสมาชิก’ ปลุกอุตสาหกรรมเพลงรุ่ง!  คาดการณ์ปี 68 ตลาดโต 7-10%

แนวโน้มเพลงเติบโต หากมองหมวด “โชว์บิซ” ปี 2568 มีความท้าทายเพราะประเมินว่าตลาดในกลุ่ม “คอนเสิร์ตบางหมวด” เม็ดเงินจะมีขนาดเล็กลง โดยเฉพาะ “ศิลปินเอเชียน” ทั้งจากเกาหลี ญี่ปุ่น ที่คาดการณ์จะมีผู้เล่น “เจ็บตัว” จากการแข่งขันที่สูง ส่วนศิลปินไทย และศิลปินตะวันตก จะยังเติบโตได้ อย่างปี 2567 โชว์บิซที่เป็นคอนเสิร์ตศิลปินไทย มีการเติบโตอย่างมาก

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์