ชำนาญ ฝากโจทย์ประธาน สทท. คนใหม่ ท่องเที่ยวไทยไม่อิ่มตัว แต่เพนพอยต์มีอื้อ!
ใครจะมานั่งเก้าอี้ประธาน “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (สทท.) คนใหม่ ใกล้ได้รู้ผลในวันที่ 14 ม.ค. 2568 ปัจจุบันมีผู้เสนอตัวชิงตำแหน่ง เปิดตัวแล้ว 4 คน ได้แก่ สมชัย เจียรนัยศิลป์, ชัย อรุณานนท์ชัย, วิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ และธเนศ วรศรัณย์
หลังจาก “โกจง” ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ หมดวาระจากตำแหน่งประธาน สทท. ซึ่งนั่งบริหารครบ 2 วาระ รวม 4 ปี ผ่านยุครีสตาร์ตการท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิด-19 สู่การฟื้นตัวเต็มร้อย คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 40 ล้านคนได้เป็นครั้งแรกตามเป้าหมายของรัฐบาล หวังทุบสถิติปี 2562 ก่อนโควิดระบาดซึ่งเคยทำนิวไฮได้ถึง 39.9 ล้านคน และเพิ่มขึ้นจาก 35.54 ล้านคนในปี 2567
“การท่องเที่ยวคือจุดแข็งของประเทศไทย ไม่มีวันตาย และไม่ถึงจุดอิ่มตัวอย่างแน่นอนในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ด้วยเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกมองว่าการท่องเที่ยวเป็นการให้รางวัลชีวิต อยากหาประสบการณ์แปลกใหม่ ประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนต้องการเดินทางซ้ำและคนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยได้ออกเดินทาง” ชำนาญ ฉายภาพ
เขามองด้วยว่า เมื่อ “การท่องเที่ยว” เป็น “เครื่องยนต์หลัก” ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จนถึงนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ได้เน้นมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง (Ease of Traveling) เช่น การยกเว้นวีซ่า รวมไปถึงการมุ่งยกระดับสู่ “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส” และ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว” ถือว่ามาถูกทาง! แต่ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนแอคชั่นแพลนด้วยการดึงความร่วมมือจากภาคเอกชนมาช่วย
“ท่องเที่ยวไทยยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพ โครงสร้างพื้นฐานโตไม่ทันดีมานด์ ถ้าดูจากเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนในปี 2568 มองว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลทำคือการดูแลพัฒนาซัพพลายไซด์ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวและบุคลากรให้ตอบโจทย์เทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่เพื่อสร้างโอกาสให้เท่าเทียม เพิ่มเติมจากนโยบายส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแบบแมนเมด เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) และการจัดอีเวนต์ต่างๆ เพื่อดึงคนเข้ามาเที่ยว”
ทั้งนี้ “เพนพอยต์” (Pain Point) ของภาคท่องเที่ยวไทยที่อยากให้ “ประธาน สทท.คนใหม่” เร่งแก้ไขคือการร่วมมือกับภาครัฐ กระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปยัง “เมืองรอง” ด้วยการตั้งทีมไทยแลนด์ รุกทำตลาด ปิดการขาย ชิงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พร้อมกระจายความช่วยเหลือไปยังคนตัวเล็กอย่าง “ธุรกิจเอสเอ็มอี” ทำให้พวกเขาสามารถแข่งขันได้ ปรับตัวให้ทันยุคหลังโควิดที่เทรนด์การฟื้นตัวเป็นแบบ K-shaped
จากภาวะเศรษฐกิจโลกตอนนี้ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการใช้จ่ายน้อยลงของนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนโฟกัสมาจับตลาด “สร้างกำไร” แทน ด้วยกลยุทธ์ “รีดีไซน์” (Re-design) ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง หันมาเจาะนักท่องเที่ยวตลาดความสนใจเฉพาะ (Niche Market) มากขึ้นเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายต่อทริป เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มประชุมสัมมนา และกลุ่มวัยเกษียณสอดรับกับสังคมสูงวัยทั่วโลก
ชำนาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีคำถามเกี่ยวกับ “ขีดความสามารถในการรองรับ” นักท่องเที่ยวของประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งว่าควรอยู่ที่เท่าไร? หลายคนชอบพูดว่าการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากอาจเกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง หรือ “โอเวอร์ ทัวริสซึ่ม” (Overtourism) แต่ ชำนาญ มองว่าโจทย์ใหญ่คือ “การกระจายนักท่องเที่ยว” ต่างหาก เพราะถ้ารีดีไซน์ให้ถูกต้อง ออกแบบมาดี นักท่องเที่ยวจะเดินทางมากี่สิบล้านคนก็ได้ และคำว่า Overtourism จะไม่เกิด อย่าง จ.ภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวระดับมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี ถ้าส่งต่อการเดินทางไปยังเมืองรอบๆ ภูเก็ตได้ ก็จะช่วยกระจายความแออัดไปได้มาก หรืออย่าง จ.บุรีรัมย์ ที่ประสบความสำเร็จ สามารถพลิกโมเดลสร้างรายได้เข้าจังหวัดด้วยการบูมอีเวนต์ด้านกีฬา
หรือแม้แต่ประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวอย่าง “ญี่ปุ่น” ทางรัฐบาลตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 60 ล้านคนในปี 2573 ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นเขาเตรียมพร้อมด้านซัพพลายดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะระบบขนส่งทางราง สามารถเร่งเครื่องดึงดีมานด์ได้ตามเป้าหมาย โดยเมื่อปี 2567 น่าจะเป็นปีแรกที่ญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแซงไทย!
“การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นกับไทยนั้นต่างกัน ของญี่ปุ่นนั้นซัพพลายโตแล้ว พอจะส่งเสริมดีมานด์ กระจายการเดินทาง จึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ของไทยดีมานด์โตนำไปก่อนแล้ว ทำให้ต้องเร่งพัฒนาซัพพลาย โครงสร้างพื้นฐานตาม”
แต่ถึงอย่างไร ประเทศไทยก็ต้องเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งท่องเที่ยว คน และซัพพลายด้านอื่นๆ ให้ “ถูกที่ถูกทาง” มุ่งดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง กระจายการเดินทางจากเมืองหลักสู่เมืองรอง พร้อมโปรโมตในฐานะ “เวิลด์คลาส เดสติเนชัน” เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวยังคงทรงพลัง เป็นเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจไทยไม่รู้ดับ!