ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ....... ต้องเพื่อสร้างสมดุลความเป็นธรรมการค้าและสุขภาพ
ประเทศไทยมีมูลค่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 504,000 ล้านบาท และในปี 2570 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 665,000 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 6,550 ล้านบาท โดยส่งออก “เบียร์” มากที่สุด มีมูลค่ากว่า 3,900 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ไวน์องุ่น มีมูลค่าการส่งออก 2,400 ล้านบาท
นอกจากมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งจากรายได้จากการขาย การส่งออก การบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ภาครัฐเองยังสามารถจัดเก็บภาษีทั้งจากการขออนุญาต การผลิต และภาษีสรรพสามิต จากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ทั้งนี้จากข้อมูลจัดเก็บรายได้ ภาษีกรมสรรพสามิต พบว่า ในแต่ละปีกรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีสุราและเบียร์รวมกันมากถึงปีละ 150,000 ล้านบาท ในช่วงโควิดระบาด (ปี 2563-2565)
อย่างไรก็ตาม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพของประชากรที่ทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วย รวมทั้งปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ส่งผลให้มีการรณรงค์ห้ามดื่มสุรา พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบ ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 15 ปี แต่ทว่าปัญหาที่เกี่ยวเนื่องทางสังคม ทั้งอุบัติเหตุและการเข้าถึงเครื่องดื่มของเด็กและเยาวชนกลับไม่ได้มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า 5 ฉบับ นำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ฉบับ ผ่านฉลุย
เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้ง 5 ฉบับ ยึดฉบับ ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 42 คน แปรญัตติ 15 วัน ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ทั้ง 5 ฉบับ เสนอโดย หน่วยงานที่หลากหลาย ทั้ง รัฐบาล พรรคการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชน
โดยร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 5 ฉบับ มีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าและบริการบางประเด็น ดังนี้
- การยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พ.ย.2515 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเวลาการขยายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น.
- การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
- การกำหนดรายละเอียดข้อความที่ระบุบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องไม่มีข้อความในลักษณะที่เชิญชวนให้บริโภค
- แก้ไขคำนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด” และเพิ่มเติมคำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”เพื่อให้มีความชัดเจนและครอบคลุมการบำบัดรักษาในกลุ่มบุคคลมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ร่างแต่ละฉบับมีจุดมุ่งเน้นของตนเองจากมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้บรรลุกฎระเบียบที่สมดุล เสมอภาค และมีความรับผิดชอบภายในภาคส่วนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพยายามคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างตลาดที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งช่วยให้แบรนด์ขนาดเล็กและท้องถิ่นสามารถแข่งขันอย่างยุติธรรมกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริการของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจอีกด้วย แนวทางที่สมดุลถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข
ไฮไลต์ประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมการพิจารณา
1.ข้อจำกัดในการขาย ปลดล็อกกฎระเบียบ โดยเฉพาะการยกเลิกการห้ามขายในช่วง 14.00-17.00 น. การกำหนดโซนที่เหมาะสม และยกเลิกการห้ามช่องทางการขายบางช่องทาง รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ การปรับเปลี่ยนเหล่านี้มุ่งหวังให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน
2.กฎระเบียบด้านการตลาด/การโฆษณา การตลาดเป็นอีกประเด็นสำคัญที่การปฏิรูปสามารถเสริมสร้างการโฆษณาและการส่งเสริมการขายอย่างมีความรับผิดชอบ กฎหมายการโฆษณาในปัจจุบันมีพื้นที่สำหรับการตีความอย่างมากมาย และแนวปฏิบัติที่นำเสนอพยายามที่จะชี้แจงกิจกรรมการโฆษณาและกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ได้รับอนุญาต ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างมาตรฐานการตลาดที่มีความรับผิดชอบ สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าผู้ดำเนินการจำนวนมากทั้งในระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น มีแนวทางปฏิบัติทางการตลาดที่มีความรับผิดชอบซึ่งนอกเหนือไปจากกฎหมายท้องถิ่น
อาหารและเครื่องดื่มเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ตามรายงานของ Oxford Economics ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ในสายตานักท่องเที่ยว ด้านคุณภาพอาหารและประสบการณ์จาก 89 ประเทศ ด้วยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม จำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มความน่าดึงดูดใจให้กับบริการอาหารและเครื่องดื่มและบริการต่างๆ ได้ ทำให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังมองหาคุณภาพและประสบการณ์ ด้วยนโยบายที่สนับสนุนทั้งคุณภาพของบริการอาหารและเครื่องดื่มและความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยสามารถเสริมสร้างชื่อเสียงในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญได้
การปรับปรุงดังกล่าวสามารถยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวได้อย่างมาก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย การลงทุนครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังจะสนับสนุนตำแหน่งการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะจุดหมายปลายทางด้านอาหารและเครื่องดื่มและการบริการชั้นนำอีกด้วย