มือใหม่ต้องรู้ : เริ่มต้นอย่างไรให้ปลอดภัย ช่วงขาขึ้น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’

มือใหม่ต้องรู้ : เริ่มต้นอย่างไรให้ปลอดภัย ช่วงขาขึ้น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’

ช่วงท้ายปี 2567 นี้ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังผ่านช่วงเงียบเหงาในกลางปี บทความนี้จะไม่ได้มีจุดประสงค์แนะนำให้ลงทุนแต่อย่างใด แต่เพราะตัวเลขผลตอบแทนที่ดูน่าดึงดูดใจ จึงสำคัญที่ต้องให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ

โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า มีสิ่งใดบ้างที่ควรรู้ในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจลงทุน ขณะที่ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์มาบ้างแล้ว ก็จะได้กลับมาฉุกคิดกันอีกครั้งว่า มีอะไรที่เราอาจมองข้ามไปหรือไม่

ลำดับแรก ราคาของเหรียญอย่าง Bitcoin ซึ่งเป็นเหรียญที่ได้รับความสนใจมาโดยตลอด ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ จากราวๆ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญในช่วงต้นปี ไปแตะระดับมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว เรียกได้ว่าสูงขึ้นอย่างทวีคูณ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกเหรียญทุกสินทรัพย์ เบื้องต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างเหรียญแต่ละประเภท นั่นคือ Bitcoin นั้น เป็นเหรียญประเภท Store of Value ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเก็บรักษามูลค่าในระยะยาว ต่างจากเหรียญ Smart Contract อย่าง Ethereum หรือ Solana ที่ถูกออกแบบมาใช้สร้างแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชัน 

ในขณะที่เหรียญอย่าง Stablecoins นั้น เป็น Future of Money คือ เป็นเหรียญมักถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมและมีมูลค่าค่อนข้างคงที่ ซึ่งเหรียญต่างประเภท แม้จะถูกเรียกรวมว่าคริปโตด้วยกัน ก็เปรียบเสมือนเป็นการลงทุนคนละชนิดผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป

ลำดับต่อมา ก็คือความเข้าใจในความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงแบบดั้งเดิมที่พบในผลิตภัณฑ์การลงทุนแบบเดิม เช่น ความผันผวนของราคาจากตลาด และความเสี่ยงใหม่ๆ

หนึ่งในความเสี่ยงเหล่านี้ คือ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะลักษณะไร้พรมแดนของผลิตภัณฑ์ต่างๆในตลาดนั้น ทำให้หลายอย่างไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานไทย ดังนั้นผู้ลงทุนชาวไทยจึงต้องศึกษา Tokenomics หรือเศรษฐศาสตร์ของเหรียญให้ดีๆ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะของ Supply ว่ามีขีดจำกัดหรือไม่ หรือผู้ผลิตจะสามารถ Mint เพิ่มได้ตลอดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเฟ้อของราคา หรือการที่เราไปลงทุนในเหรียญที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยในตัว เมื่อหมดความนิยมก็ย่อมเสียมูลค่า 

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อย่างความเสี่ยงทางธุรกิจของเหรียญ ความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการ การถูกโจมตีด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงข้อมูลใน Chain หรือ Flash Loans Hack บน Defi

ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องทำความเข้าใจในกลไกของตัวผลิตภัณฑ์ ศึกษาข้อมูลหรือ White Paper ของแต่ละโครงการให้ดี ตามมาด้วยการใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมและการกระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอ

นอกจากตัวเหรียญเองแล้ว เทคโนโลยีและการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลก่อให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆ มากมาย หนึ่งในผู้เล่นที่ใกล้ตัวผู้ลงทุน ก็อย่างเช่นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงจากคู่ค้า (Counterparty Risks) ที่ต้องระวังด้วย เช่น หากซื้อขายบน Platform ที่ไม่ถูกกำกับดูแล ก็จะเสี่ยงกับการโดนนำเหรียญที่ฝากไว้ไปใช้งานโดยไม่ชอบ หรือหากแม้ที่กำกับดูแล เมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงก็ใช่ว่าจะได้คืนกลับมาง่ายๆ เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนย่อมต้องศึกษาและเลือกใช้งานให้ดีด้วย

สุดท้ายนี้ สำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรประเมินความพร้อมของตนให้ดีเสียก่อน ในกระบวนการสมัครเปิดบัญชีซื้อขาย หากต้องตอบคำถาม ก็ควรตอบจากความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ผ่านเข้าไปใช้งาน จากข้อค้นพบในแบบสอบถามที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ทำไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่า ในบรรดาผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวนไม่น้อยไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ มีการตัดสินใจลงทุนที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนรับได้ ซึ่งหลายส่วนนำเงินกู้ยืมมาลงทุนด้วย บทความนี้จึงอยากเข้ามาเตือนใจ ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสินทรัพย์ใดๆ นั้น จะต้องทำด้วยสติ อย่าให้ราคาที่พุ่งสูงหลอกให้ตัดสินใจลงทุนโดยขาดข้อมูลเป็นอันขาด