BA ยันลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา เฟสแรกหมื่นล้าน แม้ไฮสปีดเทรนไม่คืบ
"อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล" บริษัทร่วมทุน “บางกอกแอร์เวย์ส” (BA) ยันเดินหน้าเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อู่ตะเภา เฟสแรก 1.5 หมื่นล้านบาท มองโอกาสระยะยาว หวังได้ข้อสรุปกลางปี 68 เตรียมแผนหารือปรับตัวเลขประมาณการใหม่
บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทร่วมทุน (UTA) ที่มีผู้ร่วมทุนจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย บางกอกแอร์เวย์ส ถือหุ้นสัดส่วน 45%, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) 20% โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท รองรับการขยายลงทุนขนาดใหญ่พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา
“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ที่ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุน กับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน เนื่องจากต้องรอสรุปจาก โครงการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) หรือ ไฮสปรีดเทรน ยังไม่มีแผนชัดเจนเช่นกัน
ทั้งนี้ตามแผนของบริษัทต้องการผลักดันทำโครงการนี้ ทำให้ที่ผ่านมา ได้ใช้งบ 4,000 ล้านบาท ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการ และการทำวิจัยไปแล้ว โดยตามแผนในพื้นต้องการทำ "เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ" มีทั้ง ศูนย์การค้า โรงแรม ดิวตี้ฟรี ศูนย์อาหาร และสนามแข่งรถฟอร์มูล่าวัน เป็นต้น แต่ไม่มีการทำคาสิโน อยู่ในแผนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีความคืบหน้า และข้อสรุปที่ชัดเจน โดยบริษัทต้องการผลักดันทำโครงการนี้ต่อไป เนื่องจากพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี มีศักยภาพสูงมาก ทั้งภาคเอกชนเข้าไปลงทุนในพื้นที่ มูลค่าหลายแสนล้านบาทแล้ว เป็นประตูเชื่อมต่อทั้งภาคอุตสาหกรรม การค้า และการท่องเที่ยวต่อไปยังพัทยา รวมถึงช่วยป้องกันรองรับความหนาแน่นของสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางเข้ามาใน กทม.
แผนเฟสแรก เป็นการลงทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ ประมาณ 15,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสาร และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนรันเวย์ เป็นส่วนของทหารเรือเข้ามาลงทุน โดยเฟสแรก ต้องมีผู้โดยสารประมาณ 8-10 ล้านคนต่อปี และมีแผนก่อสร้างดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 4 ปี ซึ่งก่อนโควิดสนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 2 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ตามแผนนั้น โดยก่อนสัญญาครบกำหนดโครงการในช่วงกลางปีหน้า 2568 ตามเงื่อนไขสัญญา 5 ปีแรก บริษัทต้องมีการหารือร่วมกับ คณะกรรมการอีอีซี ให้ได้ข้อสรุป พร้อมต้องหารือแนวทางการปรับตัวเลขประมาณการต่างๆ ให้เหมาะสม
สำหรับภาพรวมผลดำเนินงานของบางกอกแอร์เวย์ส ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้โดยสาร 3.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 75 % ของช่วงก่อนโควิด ส่วนอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (%Load Factor) 82 % เพิ่มขึ้น 2 จุด เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร 68% มีรายได้ผู้โดยสาร 14,006 ล้านบาท เติบโต 26% จากปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 96% ของช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้มั่นใจว่าผลประกอบการรวมสิ้นปี 2567 ตามแผนที่วางไว้
อีกทั้งบริษัทได้กลับมาเปิดให้บริการเส้นทางสู่กระบี่ ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ต. ที่ผ่านมา โดยเส้นทางบินตรง “เชียงใหม่ – กระบี่” (เที่ยวเดียว) จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเพิ่มความถี่เที่ยวบินที่มีความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้นในช่วงไฮซีซั่น จึงสร้างอัตราบรรทุกผู้โดยสารในเส้นทางกว่า 80% รวมถึงมีแผนกลับมาเปิดเส้นทางบิน “สมุย-กัวลาลัมเปอร์” ช่วงไตรมาส 4 ปี 2568 ให้บริการทุกวัน จำนวนวันละ 1 เที่ยวบิน เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางและเป็นจุดเชื่อมต่อผู้โดยสารจากยุโรปเดินทางเข้าเกาะสมุย
นอกจากนี้ ได้จัดหาเครื่องบินรูปแบบแอร์บัสจำนวน 2 ลำ (Wet Lease) ภายในปี 2567 นี้ โดยเริ่มทำการบินระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางที่สูงขึ้นช่วงไฮซีซั่น