สึนามิ ลูกแล้วลูกเล่า ซัด 'สื่อดั้งเดิม' ซวนเซ

สึนามิ ลูกแล้วลูกเล่า  ซัด 'สื่อดั้งเดิม' ซวนเซ

สื่อดั้งเดิม(Traditional Media) ของไทย ยังคงเผชิญ “ดิสรัปชัน” จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ดิจิทัล อันนำพาไปสู่พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จอแก้วหรือทีวี ที่เคยตั้งตารอดูรายการโปรด โดยเฉพาะช่วงนาทีทอง(Prime time) ไม่มีอีกต่อไป เพราะทุกคนมีเวลาสำคัญเป็นของตัวเอง สื่อสิ่งพิมพ์ ที่ “กระดาษ” กลายเป็นของ “จับต้อง” น้อยลงสำหรับคนรุ่นใหม่ มีเพียงคนสูงวัย ที่จับหนังสือพิมพ์ นิตยสารมาอ่าน ซ้ำช่องทางจำหน่ายสื่อเหล่านี้ลดน้อยถอยลง

สื่อเก่าอื่นๆ เจอโจทย์หินไม่แพ้กัน เมื่อคนดู เสพ อ่านน้อยลง ทำให้มีผลต่อการดึงเม็ดเงินโฆษณาจากแบรนด์สินค้า นักการตลาดที่จะจัดสรรงบประมาณมาให้

ภาพของสื่อดั้งเดิมที่โดนพายุ “สึนามิ” ถล่มแล้วถล่มเล่า เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ปี พร้อมกับการเข้ามาของเทคโนโลยี ดิจิทัล ควบคู่การเปลี่ยนแปลง “ทีวีดิจิทัล” และการทรงอิทธิพลของสื่อใหม่(New Media) นำพาแพลตฟอร์มต่างๆ มากอบโกยเม็ดเงินโฆษณา

สึนามิ ลูกแล้วลูกเล่า  ซัด \'สื่อดั้งเดิม\' ซวนเซ

สื่อดั้งเดิมยังคง “ลดคน” ปรับขนาดองค์กร เพื่ออยู่รอด

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนของวงการสื่อวิก 3 พระราม 4 หรือช่อง 3 แห่ง ภายใต้บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ของ “ตระกูลมาลีนนท์” ที่เลือดใหม่เข้ามาบริหาร โดยมีประกาศจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล(HR) “เลิกจ้าง” พนักงานราว 300 ชีวิต จาก 800 ชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างของบริษัท และธุรกิจ

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา “สื่อดั้งเดิม” โดยเฉพาะ “ทีวีดิจิทัล” มีความเคลื่อนไหวในการ “เลิกจ้างพนักงาน” ออกมาเป็นระยะ จากหลายค่าย ที่มีจุดเปลี่ยนใหญ่ตอน “คืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล”หรือไลเซนส์ 6 ช่อง ประเภทธุรกิจ จาก 24 ช่อง ถือเป็นการ “โละคนครั้งสำคัญ” ในวงการสื่อ

จากนั้น การลดขนาดองค์กร ยังมีต่อเนื่อง ตราบใดที่ “ธุรกิจสื่อ” เผชิญภาวะ “ขาดทุน”

ส่วนปี 2567 สื่อที่ปรับลดคน ค่ายสำคัญ เช่น “โมโน 29” “ช่อง7 เอชดี” รวมถึง “ช่อง 3” ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่

ค่าย “ทีวีดิจิทัล” ยังเหนื่อย

สถานการณ์ทีวีดิจิทัลปี 2567 ยังหืดจับ! เมื่อดูผลประกอบการในไตรมาส 3 รายได้หลักที่เป็นการพึ่งพาเม็ดเงินโฆษณา อยู่ภายใต้ความท้าทาย อย่าง “ช่อง 3” รายได้ 1,068.4 ล้านบาท ลดลง 4.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน(YoY) โดย “กำไรสุทธิ 45.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.2%(YoY) แต่ลดลง 35.7%(QoQ) ทว่า รายได้จากการขายโฆษณา 815.7 ล้านบาท ลดลง 11.3%(YoY)

สึนามิ ลูกแล้วลูกเล่า  ซัด \'สื่อดั้งเดิม\' ซวนเซ

“ช่อง MCOT” รายได้รวม 875 ล้านบาท ลดลง 10%(YoY) ขาดทุน 203 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 28%(YoY) โดยรายได้ทีวี 226 ล้านบาท ลดลง 17% (YoY) ด้าน “ช่องโมโน 29” รายได้รวม 456.5 ล้านบาท ลดลง 13.7%(YoY) ขาดทุน 3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2%(YoY) เจาะรายได้จากการขายโฆษณา 218 ล้านบาท ลดลง 22%(YoY)

“ช่องเวิร์คพอยท์” รายได้รวม 509.72 ล้านบาท ลดลง 17%(YoY) ขาดทุน 17.34 ล้านบาท ลดลง 218%(YoY) และรายได้จากธุรกิจทีวี 387.22 ล้านบาท ลดลง 24%(YoY) ขณะที่ “ช่องวัน31” รายได้รวม 1,827.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4%(YoY) กำไรสุทธิ 166.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.55%(YoY) ทว่า รายได้จากการขายโฆษณา 785.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.97%(YoY)

สตรีมมิงโลก เขยื้อน สื่อเก่าสะเทือน!

เพราะสื่อคือ “สงครามแย่งคนดู” แพลตฟอร์มออนไลน์หลากหลาย “ชิงเวลา” อันมีค่าของทุกคนไม่พอ ยังมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ศึกแพลตฟอร์มในสมรภูมิเดียวกัน ขับเคี่ยวแข่งขันอย่างเมามัน ทว่า แพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง “เน็ตฟลิกซ์” ผู้ยกคู่แข่งคือ “ความง่วง” การตั้งโจทย์ดังกล่าว ทำให้ต้องหารายการโปรด(Content)แม่เหล็กมาตรึงผู้ชมให้อยู่หน้าจอนานสุด

ล่าสุด ความเคลื่อนไหวของ “เน็ตฟลิกซ์” คือ การเดินหน้าเขย่าโลกต่อเนื่อง ด้วยการดึงการถ่ายทอดสดรายการกีฬามวยศึกสะท้านโลกระหว่าง “เจค พอล ปะทะ ไมค์ ไทสัน” ออกอากาศเมื่อ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กินเวลากว่า 4 ชั่วโมง อีกทั้งซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอเมริกันฟุตบอล (NFL) เป็นเวลา 3 ปี ประเดิมนัดแรกวันคริสต์มาสหรือ 25 ธันวาคม 2567

สึนามิ ลูกแล้วลูกเล่า  ซัด \'สื่อดั้งเดิม\' ซวนเซ

ยักษ์สตรีมมิงโลกเขยื้อน เป็นธรรมดาที่จะสะเทือนถึงสื่อดั้งเดิมของไทยไม่มากก็น้อย เพราะนับวัน คนดูทีวีน้อยลงเรื่อยๆ จาก Content โปรดดาหน้าอยู่บนแพลตฟอร์มใหญ่

ยาก! Mindset แบบเก่า จะเอาชนะธุรกิจใหม่

ภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ของสื่อดั้งเดิมยังไม่นิ่ง และยังคงเจอสึนามึ “ดิสรัป” อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการ “ดิสรัปตัวเอง” นั่นคือ การ ไม่เอาธุรกิจตัวเองออกจากกรอบความคิดแบบเก่าให้อยู่รอดในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

สื่อต้องทรานส์ฟอร์มเป็น “ผู้ผลิตคอนเทนต์”หรือ คอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ตัวอย่าง “ไซมอน โคเวลล์” (Simon Cowell)ผู้เป็นกรรมการ และ “เจ้าของรายการ America's Got Talent ที่สามารถนำคอนเทนต์ไปออกอากาศช่องทางใดก็ได้

“เอนเตอร์เทนเมนต์ ต้องมองแบบนั้น ต้องทำยิ่งใหญ่ ไม่จับฉ่าย เพราะสื่อดั้งเดิมเชื่อว่ายังไม่นิ่ง ยังคงโดนดิสรัปต่อ รวมถึงตัวสื่อเองก็ดิสรัปตัวเอง ด้วยการเอากรอบคิดแบบเก่าให้อยู่รอดในสมัยนี้ การจะอยู่รอดในอนาคต ต้องปรับวิธีการคิด เพื่อหาทางตรึงให้คนดูอยู่กับแพลตฟอร์ม ช่องนานที่สุด”

ปัจจุบัน “ช่องทีวี” สื่อๆ หนึ่งเป็นเพียง “ทางเลือก” เช่น อาจ 1 ใน 30 ตัวเลือก ที่ผู้ชมจะเลือกดูสื่อหรือแพลตฟอร์มนั้นๆ

สึนามิ ลูกแล้วลูกเล่า  ซัด \'สื่อดั้งเดิม\' ซวนเซ ภารุจ ดาวราย

“คุณ(สื่อ)มีอะไรไปสู้เขา โลกเอาคอนเทนต์มาสู้กัน ทั้งรายการกีฬา รายการสดหรือ Live หาเหตุให้คนใช้เวลากับจอ แพลตฟอร์มนานขึ้น”

ความเคลื่อนไหวของเน็ตฟลิกซ์ มีคอนเทนต์รายการถ่ายทอดสด กีฬา เสริมแกร่งแล้ว ยังปรับอัลกอริทึมใหม่ เมนูการเลือกดูรายการโปรด โดยยอมให้คนดู “ใช้เวลาเลือกนานขึ้น” ต่อให้ไม่ดูรายการต่างๆ ก็ยังได้ประโยชน์ เพียงไม่ย้ายแพลตฟอร์มไปไหน

รายการครบ เหมือนทีวีในอดีต

อย่างไรก็ตาม การขยับตัวของเน็ตฟลิกซ์ดึงรายการถ่ายทอดกีฬามาอยู่บนแพลตฟอร์ม ยังมองไม่ต่างจากแอปเปิลทีวี(Apple TV) ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลเมเจอร์ลีกซอกเกอร์หรือ MLS ของ “เดวิด เบคแคม” และมีดาวเตะระดับโลก “ลีโอเนล เมสซี” มาดึงคนดูผ่านแพลตฟอร์มได้สักระยะ

สำหรับกลยุทธ์ของเน็ตฟลิกซ์ ที่ดึงรายการถ่ายทอดสดประเภทกีฬา “ภารุจ” วิเคราะห์ว่า กลยุทธ์ของแพลตฟอร์มทำเหมือน “ทีวีในอดีต” ที่มีการนำเสนอคอนเทนต์หรือรายการทุกประเภทเพื่อตอบโจทย์คนดู อีกด้านยังเหมือนกับสิ่งที่ทีวีช่องต่างๆ เคยทำมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเอชบีโอ HBO ที่โปรวายรายการทั้งมวย ความบันเทิง ตรึงกลุ่มเป้าหมายให้เฝ้าจอ

“มุมหนึ่งคือ การสร้างรายได้ และตรึงคนดูให้นานสุด และยังเป็นการขยายเหมือนช่องทีวีสมัยก่อน คือ ทีวีโปรวายคอนเทนต์อะไรบ้าง ก็ป้อนคนดูเช่นนั้น ซึ่งอีกระยะอาจมีการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต ความบันเทิงอื่นๆให้คนดู และอาจต้องจ่ายเงินดูคอนเทนต์หรือ Pay Per View”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์