“ขัตติยา อินทรวิชัย” Sustainable CEO 2024
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้พิจารณารางวัล Sustainable CEO 2024 ให้กับ “ขัตติยา อินทรวิชัย” โดยเป็นการพิจารณารางวัลร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
สำหรับเกณฑ์การพิจารณา นอกจากเกณฑ์ Common Criteria ที่มีสัดส่วนคะแนน 50% แล้วยังมีเกณฑ์พิจารณา Sustainable CEO อีก 50% แบ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 50%, การบูรณาการแนวคิดความยั่งยืนสู่กลยุทธ์ และการดำเนินธุรกิจ 15%, การจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10%
ภายใต้ผู้นำอย่าง “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานกรรมการบริหารของธนาคารกสิกรไทย ที่มุ่งมั่นต่อเนื่องในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ “ธนาคารแห่งความยั่งยืน”
การมุ่งไปสู่ความยั่งยืน หรือการตระหนักรู้เรื่อง Sustainable การดำเนินธุรกิจภายใต้ความยั่งยืน “ขัตติยา” มองว่าหากจะเกิด Action for Change ด้านสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน และส่งผ่านไปสู่ธุรกิจ สังคม สิ่งสำคัญคือ ต้องเริ่มจาก “ตัวเอง” ก่อนเป็นอันดับแรก เหมือนหยดน้ำที่เริ่มจากตัวเอง และค่อยๆ ขยายผลออกไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนมากขึ้น
“ความยั่งยืนต้องเริ่มที่ตัวเรา ค่อยๆ ขยายผล องค์กรเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ต้องเริ่มตัวเอง และสร้างผลต่อโดยรวมได้มากแค่ไหน”
ธนาคารกสิกรไทย จึงเริ่มกำหนดความยั่งยืนจากตัวธนาคารก่อนเป็นอันดับต้นๆ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์องค์กร ให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น
“ขัตติยา” กล่าวว่า ปัจจุบันการปล่อยคาร์บอนฯ ภายใต้ “กสิกรไทย” มีมากกว่าถึง 36 ล้านตันคาร์บอน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากธนาคาร เพราะธุรกิจธนาคารมีการปล่อยคาร์บอนฯ เพียง 0.07 ล้านตันคาร์บอน เท่านั้น แต่ที่เหลือคือ พอร์ตลูกค้าของธนาคารที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่โลกใบนี้
ดังนั้น โจทย์ที่ธนาคารต้องเน้นมีสองโจทย์คือ บทบาทของแบงก์ในฐานะที่ทำธุรกิจในการปล่อยคาร์บอน และโจทย์การปล่อยสินเชื่อที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนนั่นคือ สิ่งที่ธนาคารจะเน้นมากขึ้น
การมุ่งมั่นไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น ธนาคารเชื่อว่าต้องมี “เป้าหมาย” ที่เป็นส่วนสำคัญผลักดันองค์กร และธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน
ธนาคารต้องช่วยลูกค้าภาคธุรกิจอย่างคู่ค้า ซัพพลายเออร์ในการปรับตัวเปลี่ยนแปลง เมื่อมาขอสินเชื่อจะต้องผ่านเกณฑ์เรื่อง ESG โดยจะดูว่าองค์กรนั้นมีนโยบายเกี่ยวกับสีเขียวหรือความยั่งยืนหรือไม่ ทำธุรกิจทำร้ายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพื่อช่วยภาคธุรกิจ และประเทศไปสู่ Transition Finance เพื่อให้เป็นเน็ต ซีโร่ Net Zero ตามบริบทในประเทศไทยในปี 2065
สำหรับ เป้าหมายของธนาคารต้องการไปสู่ Net Zero ภายในปี 2030 ควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนด้านการเงินด้านสินเชื่อ เพื่อลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ให้ได้ 200,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้ธนาคารจะสามารถสนับสนุนด้านสินเชื่อที่เกี่ยวกับความยั่งยืนให้ได้ 100,000 ล้านบาท
การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเท่านั้น แต่หน้าที่ของธนาคาร คือ ต้องทำให้เกิด Financial inclusion การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดี บนราคาไม่แพงเกินไป ราคายุติธรรม เข้าถึงคนได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คน “ออมเงิน” ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อการรองรับสังคมสูงวัยอย่างยั่งยืนได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ทุกธนาคารต้องทำให้เกิดขึ้น
ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กร จากการขับเคลื่อนภายใต้ “ขัตติยา อินทรวิชัย” จึงไม่แปลก ที่วันนี้ “ธนาคารกสิกรไทย” ได้รับการยกย่องให้เป็นแถวหน้าของไทย และหัวแถวของธนาคารระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์