ค้าปลีก ชง 4 มาตรการเร่งด่วนหนุนตลาดปี 68 โต 3-5% จี้รัฐเร่งแผนสกัดสินค้าจีน

ค้าปลีก ชง 4 มาตรการเร่งด่วนหนุนตลาดปี 68 โต 3-5% จี้รัฐเร่งแผนสกัดสินค้าจีน

"สมาคมผู้ค้าปลีกไทย" ประเมินภาพรวมค้าปลีก 67 ค่อยๆ ฟื้นแบบไม่สมดุล โตแบบกระจุกตัว มาตรการแจกเงิน 1 หมื่นบาท อ่อนแรง หวังปี 68 โต 3-5% เสนอ 4 มาตรการฟื้นตลาด เร่งออกแนวทางสกัดสินค้าจีนราคาถูก กระทบหนักเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้มีการประเมินภาพรวมค้าปลีกไทยในปี 2567 ที่มีมูลค่าประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท มีขยายตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และไม่สมดุล แบ่งเป็น

  • ร้านค้าปลีกประเภทแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์, สเปเชียลตี้สโตร์,และเชนภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เติบโต 3-7%
  • ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง เติบโต 2-5%
  • ร้านค้าสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค โตน้อยสุด 1-3%
  • อีกทั้งเป็นการเติบโตแบบกระจุกตัวในกรุงเทพปริมณฑล ภาคตะวันออก และในเมืองตามจังหวัดท่องเที่ยว

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกปี 2567 มีความไม่สดใส มาจากทั้งเศรษฐกิจเติบโตไม่เป็นตามที่ภาครัฐคาดไว้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกมากกว่า 37% ผลิตหรือสต็อกสินค้าเกินความเหมาะสมไว้ รวมถึงการหดตัวด้านการลงทุน ส่งผลต่ออัตราการจ้างงานและการบริโภค อีกทั้งจากหนี้ครัวเรือนสูงและภาระหนี้สินของเอสเอ็มอี

สำหรับมาตรการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดเจน โดยต้องรอความชัดเจนในเฟสต่อไปที่จะแจกให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มอื่นๆ ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท รวมถึงต้องติดตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ไม่แน่นอนจากนโยบายภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายของประชาชน

ค้าปลีก ชง 4 มาตรการเร่งด่วนหนุนตลาดปี 68 โต 3-5% จี้รัฐเร่งแผนสกัดสินค้าจีน

สำหรับทิศทางค้าปลีกไทยในปี 2568 ประเมินว่าจะขยายตัวประมาณ 3-5 % เมื่อเทียบกับจีดีพีของปี 2568 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.3-3.3% มีปัจจัยบวกจากทั้งจากภาคท่องเที่ยวและส่งออก การลงทุนของภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามมีทั้ง ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้น และปัญหาหนี้ครัวเรือน

ข้อเสนอต่อภาครัฐร่วมกระตุ้นภาคค้าปลีกให้เติบโตแข็งแกร่ง มีทั้ง 

1. การเร่งลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ปี 2568 หากประเมินภาพรวมจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ผ่านมา ขยายตัว 3% แรงหนุนมาจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมองว่าการลงทุนของภาครัฐจะเป็นกลจักรสำคัญ หนุนเศรษฐกิจในปี 2568 รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า

  • ควรส่งเสริมกระจายเม็ดเงินโดยภาครัฐ ทั้งการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งหมดช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

2. มุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอี ภาพรวมประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 3.2 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด โดยภาครัฐจึงควรสนับสนุนเอสเอ็มอี มุ่งไมโครเอสเอ็มอีที่มีอยู่กว่า 2 ล้านราย ผ่านทั้งส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อย, เพิ่มโอกาสทางการค้าขยายช่องทางการตลาดและ การจำหน่ายสินค้า ซึ่งในปี 2568 สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ร่วมจัดงานตลาดนัด SME สัญจร เปิดพื้นที่ให้ไมโครเอสเอ็มอีนำสินค้ามาจำหน่ายในกลุ่มผู้ประกอบการ

  • ควรออกมาตรการป้องกันการทะลักของสินค้าจีนราคาถูกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ เอสเอ็มอีไทยในทุกแพลต์ฟอร์ม

3. ยกระดับการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจในประเทศ ควรเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง และตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างโมเมนตัมการใช้จ่าย เช่น ช้อปดีมีคืน, Easy E-Receipt เป็นต้น

  • มุ่งขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของภาคผลิต ด้วยนโยบายจูงใจต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งภาครัฐกำลังเร่งผลักดันเรื่องนี้

 

ค้าปลีก ชง 4 มาตรการเร่งด่วนหนุนตลาดปี 68 โต 3-5% จี้รัฐเร่งแผนสกัดสินค้าจีน

4. เร่งยกระดับสไทยสู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยว โดยแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวควรโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เช่น พิจารณาลดภาษีสินค้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีแผนยกเลิกเพดานภาษีหรือ Tax Free ทำให้สามารถซื้อสินค้าปลอดภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน 500,000 เยนต่อวันได้ ส่วนประเทศไทยอาจเริ่มต้นมาตรการ Tax Free (การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) กับยอดซื้อสินค้าทั่วไปที่มีมูลค่ารวมในการซื้อต่อท่านต่อวันในร้านเดียวกันเกิน 5,000 บาทขึ้นไป เป็นต้น 

  • ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของต่างชาติด้วยเสน่ห์ซอฟต์เพาเวอร์ไทย ทั้งอาหาร วัฒนธรรมไทย รวมถึงการเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง เพื่อร่วมผลักดันนักท่องเที่ยวให้ถึงระดับ 40 ล้านคน ภายในปี 2568