เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต  สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

ผ่าแนวคิดซีอีโอชั้นนำ ขับเคลื่อนธุรกิจ-ฝ่าวิกฤติ ชูวิสัยทัศน์ำผู้นำต้องกล้าลงมือทำ คิดนอกกรอบ มองโอกาส ไม่หยุดเรียนรู้ มุ่งพัฒนาบุคลากร รักษาสภาพคล่องให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และหาทางรอดช่วงเกิดวิกฤติ

การประชุมซีอีโอระดับโลก “Forbes Global CEO Conference” ครั้งที่ 22 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ย. 2567 ภายใต้ธีม “New Paradigms” เจาะลึกถึงโลกอนาคตที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยในการประชุมวันที่ 21 พ.ย. กับหัวข้อ “Bright Ideas Face New Realities” มีซีอีโอชั้นนำร่วมฉายวิสัยทัศน์

 

โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปปิตอล เอ (Capital A) บริษัทแม่ของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย (Air Asia) และ มูฟ ดิจิทัลที่ได้รับการขนานนามว่า เจ้าพ่อโลว์คอสต์แอร์ไลน์ กล่าวว่า เส้นทางสายการบินแอร์เอเชีย มาจากความสนใจทำสายการบินโลว์คอสต์ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นำไปสู่การลงมือทำ เริ่มต้นด้วยเงินทุนประมาณ 1 ริงกิต ในช่วงเวลาดังกล่าว และช่วงแรกมีผู้โดยสารประมาณ 2,000 คน ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีผู้โดยสารถึง 19 ล้านคน

ทั้งนี้การทำธุรกิจและก้าวสู่ผู้ประกอบการ หลักสำคัญคือมองในสิ่งที่คนอื่นๆ ไม่เห็น รวมถึงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลเสมอ ต้องกล้าทำสิ่งใหม่และคิดค้นนวัตกรรมเสมอ โดยได้จัดทำโครงสร้างขององค์กรเป็นแนวราบ ผสมด้วยการมีวัฒนธรรมขององค์กรที่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ มีวิธีพร้อมผลักดัน "ทำให้ทุกคนเติบโต มีศักยภาพกลายเป็นเพชรที่งดงามมากขึ้น" โดยแอร์เอเชียมีนักบินผู้หญิงมากกว่าสายการบินอื่นๆ ในโลก ทั้งกัปตันและผู้ช่วยนักบิน รวมถึงมีหัวหน้าวิศวกรที่เป็นผู้หญิง

เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต  สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

พลิกประวัติศาสตร์โลว์คอสต์แอร์ไลน์

อย่างไรก็ตามตลอดเส้นทางของสายการบินแอร์เอเชียไม่ได้ง่ายและผ่านบทพิสูจน์หลายด้าน ตั้งแต่การเริ่มต้นขยายลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ การเจอวิกฤตครั้งใหญ่ของโรคระบาด แต่บริษัทได้ปลูกฝังแนวคิดสร้างความแตกต่าง และมีมุมมองไม่เหมือนใคร ยกตัวอย่างกรณีเกิดเหตุวางระเบิดในบาหลี ช่วงดังกล่าวทุกคนต่างหลีกเลี่ยงเดินทางไปเส้นทางนี้ แต่บริษัทมองว่าไม่สามารถยกเลิกเส้นทางการบินได้ นำไปสู่ไอเดียการเสนอตั๋วเครื่องบินฟรีให้แก่ชาวมาเลเซีย จึงให้ได้รับความสนใจจากชาวมาเลเซียร่วมเดินทางจำนวนมาก

รวมถึงช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินครั้งใหญ่ แต่บริษัทมองถึงการต้องปรับตัว นำไปสู่การให้บริการขนส่งอาหาร และพนักงานได้ร่วมขนส่งอาหารทางอากาศ รวมถึงมีพนักงานบางส่วนที่ปรับไปเรียนรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพิ่มความเชี่ยวชาญในด้านนี้สามารถร่วมต่อร่วมพัฒนาองค์กรต่อไปได้

เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต  สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

กัปตันต้องกล้าแตกต่าง พร้อมส่งต่อมรดกความสำเร็จรุ่นสู่รุ่น

อีกทั้งในบทบาทผู้นำ กำลังวางแผนส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นต่อไป และให้เวลากับทีมงานในการบริหารองค์กร โดยได้บอกกับทีมงานเสมอว่า “ผมต้องเกษียณ” ดังนั้นความสำเร็จที่อยากให้เกิดขึ้นต่อไปคือ ให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนและเดินหน้าไปได้ จากโครงสร้างที่วางไว้ ภายหลังที่แม้ว่าตนเองจะเกษียณไปแล้ว ทั้งหมดแสดงถึงความสำเร็จในการบริหารองค์กร

“ปัญหาที่ยากสุดของผู้ประกอบการคือ การมีส่วนร่วมของรัฐบาล เพราะในฝั่งยุโรปและสหรัฐธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการ และรัฐบาลไม่ได้เข้ามายุ่ง แต่ในเอเชียอุตสาหกรรมสายการบินมีรัฐบาลมาทำสายการบินแห่งชาติ ถ้าคุณไปท้าทายเขา ก็เท่ากับว่า คุณไปต่อสู้กับรัฐบาลของประเทศนั้น”

ไมเนอร์ฯ ไม่มีตำรา แต่คว้าชัยในสมรภูมิการค้า

วิลเลียม อี. ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (Minor International) กล่าวว่า ได้เริ่มต้นเส้นทางทำธุรกิจตั้งแต่ช่วงอายุ 17 ปี และสนใจนำเสนอธุรกิจพิซซ่าสู่ภูมิภาคเอเชีย โดยช่วงเวลาดังกล่าวคนในประเทศไทยอาจไม่คุ้นชินกับ พิซซ่าและชีสมากนัก จึงได้เริ่มสร้างธุรกิจด้วยลงมือทำ เนื่องจากไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย จึงไม่มีพื้นฐานองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยและการทำวิจัย มาเป็นกรอบในการบริหาร และวิธีการคิดออกแบบต่างๆ

ทั้งหมดมาจากการลงมือทำและเรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกวัน ร่วมต่อยอดธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูด มาทำให้คนรู้จักมากขึ้น ทุกอย่างมีความท้าทายองค์ความรู้เก่าทั้งหมด ทำให้ร้านอาหารในปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 แห่ง และมีการขยายสู่ธุรกิจโรงแรมด้วยจำนวนกว่า 500 แห่งในทั่วโลก ใน 50 ประเทศแล้ว

“ผมอาจโชคดีที่ไม่ได้เข้าเรียนเลยในมหาวิทยาลัย จึงไม่มีกรอบองค์ความรู้มากำหนดในการทำธุรกิจ ผมคิดแค่ว่าอยากทำ พิซซ่า ที่เป็นอาหารฟาสต์ฟูดให้คนรู้จัก ให้คนไทยได้ชื่นชอบพิซซ่าและชีส คือความสำเร็จแล้ว”

เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต  สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

อย่าหยุดเรียนรู้ ถ้าหยุดคือวันที่เกษียณแล้ว

สำหรับวิธีการบริหารธุรกิจให้สำเร็จ ต้องมุ่งมองโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำ โดยเฉพาะการมองในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็น พร้อมมุ่งมั่นก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และไม่หยุดนิ่ง รวมถึงต้องมีเงินทุนที่เพียงพอในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทุกคนต้องมีมุมมองว่า เป็นผู้ประกอบการต้องมีใจรักหรือแพสชัน (passion) ในสิ่งที่ทำเสมอ

ทั้งนี้เมื่อประเมินช่วงความท้าทายขององค์กรหลายครั้งที่ผ่านมา มีทั้ง ช่วงเกิดสึนามิ ทำให้ธุรกิจโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยซึ่งเปิดให้บริการเพียงสามเดือน ประสบปัญหาขาดทุนครั้งใหญ่ รวมถึงช่วงที่เกิดโรคระบาดและต้องปิดสนามบิน ทุกอย่างใช้แนวทางการ ต้องปรับตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วให้ทันกับสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ต้องไม่หยุดนิ่ง

รวมถึงต้องมีเงินทุนที่เพียงพอในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทำให้ในช่วงดังกล่าวต้องกู้เงินจำนวนมากมาบริหารองค์กร จากการมุ่งมั่นและไม่ล้มเลิก ธุรกิจจึงกลับมาฟื้นตัวได้ ทั้งที่หลายฝ่ายมองว่า องค์กรไม่สามารถอยู่รอดได้เกินสองปีแน่นอน

นอกจากนี้สูตรการบริหารโรงแรม ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะมีแบรนด์ของตัวเองที่สร้างขึ้น แต่มีพอร์ตโฟลิโอ เชน ของแบรนด์โรงแรมอื่น ๆ อีกหลากหลาย มาจากการที่ไม่หยุดนิ่งในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุกวัน รวมด้วยการมีความมุ่งมั่น และการมีความพยายามอยู่เสมอ

“วันไหนที่ผมหยุดเรียนรู้ คือวันที่ผมต้องการเกษียณแล้ว ผมยึดแนวทางเรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกวัน นำมาบริหารธุรกิจ”

 

เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต  สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

อาจไม่สามารถเอาชนะวิกฤตได้ แต่ต้องปรับตัวอยู่กับวิกฤตให้ได้ 

เอ็นริเก้ เค. ราซอน จูเนียร์ ประธานกรรมการและประธาน บริษัท อินเตอร์เนชันแนล คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล เซอร์วิสเซส (International Container Terminal Services, Inc.) ประเทศฟิลิปปินส์ บริษัทผู้พัฒนาท่าเรือและท่าเทียบเรือทั่วโลก เสริมว่า การทำธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายและวิกฤตตลอดเวลา ในบางครั้งไม่สามารถเอาชนะวิกฤตได้ แต่สิ่งสำคัญต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับวิกฤตให้ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือและปรับตัวเสมอ

รวมถึงเมื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้นั้น อาจต้องกล้าสละบางอย่างไป อย่างเช่น การมีเวลาอยู่กับครอบครัวลดลง และทำงานตลอดเวลา แต่ท้ายที่สุดต้องกลับมารักษาสมดุลของตัวเองให้ได้ 

“คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการและซีอีโอคือ ให้ทำงานหนักตลอดเวลา และผมเชื่อมั่นว่าทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้” 

 

เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต  สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

วิธีบริหารแบบปิรามิดหัวกลับ ความสำเร็จอาจไม่ใช่การพิชิตยอดเขา

แจ็ค โควิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร  บริษัท คอมเพททิทีฟ ฟู้ดส์ ออสเตรเลีย (Competitive Foods Australia) ธุรกิจร้านแฟรนไชส์ที่ใหญ่สุดในออสเตรเลียในชื่อ Hungry Jack’s ให้มุมมองว่า การทำธุรกิจต้องเริ่มจากการมองสิ่งที่แตกต่าง สร้างสิ่งใหม่ และสร้างโมเดลธุรกิจที่ดีๆ มาร่วมขับเคลื่อน ร่วมด้วยการมีใจรัก มีความมุ่งมั่นและความเพียรพยายามในการทำงานสม่ำเสมอ ตลอดจนการไม่ล้มเลิกหรือยุติไปกลางทาง และกล้าเสี่ยงในการทำ

“ส่วนใหญ่ของคนที่สนใจทำธุรกิจประมาณ 99% คิดไม่ออกและล้มเหลวไปก่อน แต่มี 1% ที่มุ่งมั่นและมองหาอะไรใหม่ๆ มาทำได้” 

รวมถึงเมื่อบริหารธุรกิจถึงจุดประสบความสำเร็จแล้ว ต้องใช้โมเดลความยั่งยืนคือ การบริหารธุรกิจแบบปิรามิดหัวกลับ คือมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากร การให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และการให้รางวัลแก่พนักงานที่ทำงานผลงานได้ยอดเยี่ยม ทั้งหมดเป็นฟันเฟืองที่ดีต่อองค์กรในระยะยาว โดยยึดสุภาษิตที่ว่า ผมเป็น เพราะว่าเราเป็น หมายถึง ความสำเร็จในเรื่องใดก็ตามของธุรกิจ มาจากการทำงานร่วมกัน

“การทำธุรกิจคือการผจญภัย ทุกคนมีเป้าหมายต่างต้องการขึ้นไปสู่ยอดเขาให้สำเร็จ แต่ความสนุกคือระหว่างทางที่ได้เดินทางไป การได้หยุดพูดคุยกับผู้คนระหว่างทาง การให้รางวัลกับคนที่ทำงานกับเราและได้รับประสบการณ์ในการปืนเขา จนในตอนนี้ผมไม่รู้สึกว่าในทุกวันเป็นการทำงานเลย แต่รู้สึกมีความ Enjoy ในสิ่งที่ทำอยู่”

 

เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤต  สู่สุดยอดซีอีโอระดับโลก

แม่ทัพต้องตั้งใจทำงานเสมอ มีความสร้างสรรค์เป็นพลังขับเคลื่อน

อัลลัน ซีแมน ประธานกรรมการ กลุ่มหลานไควฟง กรุ๊ป (Lan Kwai Fong Group) หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ จากฮ่องกง ที่มีพอร์ตโฟลิโอธุรกิจหลากหลาย กล่าวว่า จากการทำธุรกิจในฮ่องกงมายาวนานหลายสิบปี เผชิญคลื่นความท้าทายมาโดยตลอด ไปจนถึงมีเทคโนโลยีเข้ามาร่วมดิสรัปชันทุกธุรกิจ โดยบทบาทในการเป็นผู้นำ ต้องมุ่งมั่นและตั้งใจทำงาน รวมด้วยการมีความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลาและมองเห็นความเสี่ยงต่างๆ ได้ล่วงหน้าอย่างที่คนอื่นไม่เห็น 

อีกทั้งต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมปรับตัวและใช้เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือ เอไอ มาร่วมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต พร้อมวางเป้าหมายนำพาองค์กรก้าวไปสู่ความยั่งยืน (ESG)

“ในช่วงที่ผ่านมาฮ่องกงเผชิญหลายเหตุการณ์ นักท่องเที่ยวหายไป การย้ายประเทศ เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการต้องอยู่กับวิกฤตเหล่านี้ให้ได้ การปรับตัวสำคัญเสมอ และต้องมองไปข้างหน้า และมองหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ”