‘พรีเมียร์ลีก’ King of Content บทเรียนเจ็บ! ธุรกิจทีวี
การประมูลคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล "พรีเมียร์ลีก" มักถูกยกมากล่าวขานว่าแพงขึ้นทุกปี แต่ราคาจะแรงแค่ไหน ผู้ประกอบการ ค่ายทีวี ต่างอยากเป็นเจ้าของ JAS ควักกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท กุมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และฟุตบอลเอฟเอ คัพ เดิมพันใหญ่ที่มีบทเรียนเจ็บ! นำร่องมาก่อน
กลายเป็นประเด็นฮือฮา! เมื่อบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ที่คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยี ผู้ให้บริการ 3BB GIGATV สามารถชนะการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” และ “ฟุตบอลเอฟเอ คัพ” รวม 2 รายการ
โดย JAS เป็นผู้ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) ใน 3 ประเทศคือ ไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ในฤดูกาล 2025/26 ส่วนเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนในครั้งนี้เป็นก้อนโตกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
เบื้องต้น บริษัทระบุว่า สิทธิในการถ่ายทอดสดภาพ และเสียงรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ บนอินเทอร์เน็ตทีวี ทีวีดิจิทัล รวมถึงชุดวิดีโอสั้น(Clips package)ตลอดระยะเวลารายการของฟุตบอลทั้ง 2 จะมี 3 ฤดูกาล โดยเริ่มตั้งแต่ต้นฤดูกาลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ 2025/2026 หรือ 6 ฤดูกาลในกรณีที่บริษัทได้รับแจ้งจาก FAPL เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567
อย่างไรก็ตาม เมื่อมี “ผู้ชนะ” การประมูล ในเกมธุรกิจย่อมมี “ผู้แพ้” พ่ายให้กับคู่แข่งที่ใจป้ำทุ่มทุนมากกว่า ซึ่งแน่นอนผู้ปราชัยคือ “ทรูวิชั่นส์” เจ้าของธุรกิจทีวีแบบบอกรับสมาชิกหรือ Pay TV ที่ยืนหนึ่งในตลาดมาอย่างยาวนาน
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ทรูวิชั่นส์” ชวดคว้าสิทธิถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก
การถ่ายทอดสดกีฬาชนิดต่างๆ ถูกยกให้เป็นหนึ่งใน King of Content หรือที่สุดของรายการที่จะตรึงคนดู และแน่นอน ยังเป็น “สูตร” ของธุรกิจทีวี ที่มักหยิบยกมาใช้ในการต่อกรแข่งขันในสนาม เพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณา
พรีเมียร์ลีกถือเป็น Content is King ที่ผู้ประกอบการทีวีต่างอยากได้มาครอบครองไว้ในช่อง เพื่อถ่ายทอดสดให้แฟนๆ ได้รับชม เพราะ “กีฬา” เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ต้อง “รับชมสดเท่านั้น” จึงจะฟิน! คนดูได้ลุ้น สนุก ถ้ารู้ผลแล้ว ทุกอย่างก็แทบไม่น่าตื่นเต้นอะไร แต่ยังมีคลิป ไฮไลต์หล่อเลี้ยงกระแสได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อ “พรีเมียร์ลีก” เป็นคอนเทนต์ชั้นเลิศ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจึง “แพงระยับ” ต่อเนื่อง แต่กระนั้น ผู้ประกอบการทีวีก็ยังต่างอยากได้มาไว้ดึงผู้ชมอยู่ดี
สำหรับการคว้าสิทธิถ่ายทอดสดล่าสุดของ JAS มีความน่าสนใจหลายประการ แต่อย่างแรกคือ “ทรูวิชั่นส์” แทบจะ “ผูกปิ่นโต” กับพรีเมียร์ลีกมาอย่างยาวนาน มีบ้างที่หลุดมือไป โดยเฉพาะ “เจ้าสัววิชัย ทองแตง” ทนายความนักลงทุนอยากลุกขึ้นมาทำเพย์ทีวีอย่าง “ซีทีเอช”
“ซีทีเอช” เดิมพันใหญ่ประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกขณะนั้นด้วยมูลค่าทะลุ “หมื่นล้านบาท” แพงกว่าที่ “ทรูวิชั่นส์” เคยจ่ายระดับ 1,800 ล้านบาท
เป็นการโค่นหน้าเก่า “ทรูวิชั่นส์” ที่ครองลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกมากว่า 20 ปี
ทว่า การลงทุนที่สูง! แต่ผลลัพธ์คนดู สมาชิกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงทำให้บริษัท “ขาดทุนยับ” ที่สุดต้องพ่าย! ในสงครามแย่งคนดู Pay TV
“พีพีทีวี” ค่ายทีวีดิจิทัล เป็นอีกช่องทีวีที่สนใจคอนเทนต์ “พรีเมียร์ลีก” มีการประมูลซื้อช็อตเด็ด ไฮไลต์การแข่งขันมาออกอากาศให้คนไทยได้ดูผ่าน “ฟรีทีวี” ด้วย
ปี 2566 สมาชิก “ทรูวิชั่นส์” ลดลงทุกไตรมาส
“ทรูวิชั่นส์” ธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก(Pay TV) ใต้เงากลุ่มทรู หนึ่งในอาณาจักรธุรกิจของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ที่มีพันธกิจสร้างความแตกต่าง และเสริมแกร่งให้กับช่องด้วยการดึงคอนเทนต์หรือรายการคุณภาพระดับโลกมาตอบโจทย์คนดู และ “คอนเทนต์กีฬา” เป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่บริษัทนำมาตอกย้ำการเป็นผู้นำ หรือ King of Sports มีสารพัดรายการกีฬานำเสนอคนดู รวมถึง “พรีเมียร์ลีก”
นอกจาก Pay TV ทรูวิชั่นส์แล้ว ยังมีการเปิดตัว True Visions NOW แอปพลิเคชันที่คนดูคอนเทนต์จะเสพรายกายโปรดเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ แม้ทรูวิชั่นส์จะมีรายการกีฬาเด็ดๆ ทว่า พฤติกรรมคนดูทีวีเปลี่ยนอย่างมาก การเสพคอนเทนต์เกิดหลายแพลตฟอร์ม หลากช่องทาง และต่างมี “ไพรม์ไทม์” หรือนาทีทองเป็นของตัวเอง ทำให้ “สมาชิก” ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่จำนวนกว่า 1.37 ล้านราย เทียบกับปี 2565 มีสมาชิกกว่า 1.48 ล้านราย
หากลงรายละเอียดสมาชิกที่ลดลงต่อไตรมาส เป็นดังนี้
-ไตรมาส 4 ปี 2566 กว่า 1.37 ล้านราย
-ไตรมาส 3 ปี 2566 กว่า 1.40 ล้านราย
-ไตรมาส 2 ปี 2566 กว่า 1.41 ล้านราย
-ไตรมาส 1 ปี 2566 กว่า 1.44 ล้านราย
ละเมิดลิขสิทธิ์ ศัตรูตัวร้ายธุรกิจ Pay TV
แม้สมาชิกทรูวิชั่นส์ในปี 2566 จะปรับตัวลดลง ทว่า ด้านรายได้ต่อผู้ใช้บริการรายเดือนเพิ่มเพียงเล็กน้อย ปี 2567 เฉลี่ย 279 บาทต่อเดือน(ARPU)เทียบปี 2565 อยู่ที่ 271 บาทต่อเดือน
โดยปี 2566 ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการจำนวน 6,311 ล้านบาท และ “รายได้จากการให้บริการแบบสมาชิกลดลงตลอดทั้งปี” เพราะการจัดกิจกรรมกีฬา การจัดคอนเสิร์ตต่างๆ ส่งผลต่อรายได้
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหญ่ของธุรกิจ Pay TV ไม่ใช่แค่การแข่งขันกับสารพัดจอ แพลตฟอร์ม แต่ยังมีเรื่อง “การละเมิดลิขสิทธิ์” เพราะด้วย “ราคาแพ็กเกจ” การรับชมพรีเมียร์ลีกที่ผู้บริโภคมองว่า “แพง” บ้าง “ไม่คุ้มค่า” บ้าง ทำให้เกิดการรับชมผ่าน “ช่องทางธรรมชาติ” หรือเถื่อน! กลายเป็นกระทบรายได้ของบริษัทอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งทรูเอง พยายามแก้เกมด้วยการให้ชมคอนเทนต์ผ่านทรูไอดี ทรูไอดีทีวี กล่องไฮบริด และทรูวิชั่นส์ นาว
พรีเมียร์ลีก King of Content เจ็บ!
เมื่อพรีเมียร์ลีกเป็นสุดยอดคอนเทนต์กีฬาระดับโลก แฟนบอลมีมหาศาล ทว่า กลับมามองประเทศไทย กลับเป็นบทเรียนเจ็บ! ของผู้ประกอบการ เพราะความคุ้มทุน! ไม่ค่อยมีให้เห็น
แม้ว่าการได้คอนเทนต์มาถ่ายทอดสดแล้ว ต่อยอดกิจกรรมอื่นๆ ทั้งออนไลน์ และออนกราวด์ กลับไม่ได้ทำเงินให้อู้ฟู่! มากนัก แต่ช่องทีวีอาจได้กระแสให้พูดถึงกีฬาบ้าง แต่ไม่ได้พูดถึงสถานีโทรทัศน์นั้นๆ มากนัก
องค์ประกอบธุรกิจทีวี คอนเทนต์ดีอาจมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่สำหรับ “พรีเมียร์ลีก” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฐานแฟน” หรือสาวก ไม่ได้มีมากพอที่จะ “จ่ายเงิน” เพื่อดูคอนเทนต์โปรด เพราะฟุตบอล แต่ละคนมี “ทีมรัก” ในใจเพื่อรอเชียร์อยู่แล้ว และปัจจุบันผู้ได้ลิขสิทธิ์มา “ซอยแพ็กเกจ” มากมาย เพื่อให้คนดูมีโอกาสเข้าถึงรายการโปรด เช่น เฉพาะแมทช์ที่อยากดู
สำหรับ ทรูวิชั่นส์ ซีทีเอช และพีพีทีวี เอง ต่างก็ “ขาดทุน” เพราะพรีเมียร์ลีกมาแล้ว ต้องจับตาการเดินเกม และ “เดิมพันใหญ่” ของ JAS ว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไร หลังทุ่มทุนกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท คว้าสิทธิการถ่ายทอดสดมาครอง และที่น่าสนใจ พรีเมียร์ลีกจะมีเงื่อนไขให้ถ่ายทอดสดผ่าน “ฟรีทีวี” 30 นัด ซึ่ง “ช่องโมโน29” เป็นพันธมิตรสำคัญ จะกลับมาเฉิดฉายในทีวีดิจิทัล และดึงเม็ดเงินโฆษณา สร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้แค่ไหน เกาะติด!
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์