‘ทีเส็บ’ มั่นใจ 3 ปีสร้างรายได้เข้าประเทศ 7,425 ล้าน

‘ทีเส็บ’ มั่นใจ 3 ปีสร้างรายได้เข้าประเทศ 7,425 ล้าน

‘ทีเส็บ’ เผยผู้นำอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าระดับโลกมั่นใจศักยภาพไทย จุดหมายจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ​ คาด Exhibition Industry Summit 2024 ส่งผลดึงงานใหม่ๆ เข้ามาจัดในไทยเพิ่มขึ้นอีก 60 งาน ตั้งเป้า 3 ปี 2568 - 2570 สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 7,425 ล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เผยความสำเร็จในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติระดับโลก หรือ Exhibition Industry Summit 2024 โดยผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้ตัดสินใจทางธุรกิจทั้งจากยุโรปและเอเชีย ย้ำมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยที่จะเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำของภูมิภาคในการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ  พร้อมชื่นชมนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลที่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐาน วัฒนธรรมการทำธุรกิจที่เปิดกว้าง เตรียมเดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทย และเสนอให้ไทยเร่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับการจัดงานให้ตอบสนองผู้จัดงาน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอนาคต

 

งาน Exhibition Industry Summit 2024 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้แนวคิด “See Tomorrow Now” เพื่อฉายภาพโอกาสทางธุรกิจในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในประเทศให้ผู้ร่วมงานมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรธุรกิจปรับทิศทางเจาะโอกาสทางธุรกิจได้ก่อนใคร โดยใช้อุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติเป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้น

‘ทีเส็บ’ มั่นใจ 3 ปีสร้างรายได้เข้าประเทศ 7,425 ล้าน

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า “การจัด Exhibition Industry Summit 2024 นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ระดับผู้นำซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจของบริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติยักษ์ใหญ่จากยุโรปและเอเชียได้มารวมตัวกัน ได้รับฟังวิสัยทัศน์ ข้อมูลเชิงลึก และทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการจัดงานสินค้านานาชาติโดยตรงจากผู้นำและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจระดับสูงของไทย จึงมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่จัดงานในอนาคตของผู้จัดงานขนาดใหญ่ระดับโลก และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความมั่นใจว่า ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับจัดงานแสดงสินค้า การทำธุรกิจที่เน้นการพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ 

นอกจากนี้ เรายังได้รับข้อเสนอแนะในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติเติบโตได้รวดเร็ว สอดรับกับความต้องการของตลาดโลก” นายจิรุตถ์กล่าว

ทั้งนี้ ทีเส็บนำโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำกับดูแล ทีเส็บ และ ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ได้นำคณะผู้นำอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติระดับโลก เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล 

โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการเติบโตและความสำเร็จของภาคธุรกิจในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์สำหรับการจัดนิทรรศการนานาชาติในทุกประเภท พร้อมทั้งย้ำว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติอย่างเต็มที่ และกำลังดำเนินการสร้างระบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการจัดงานแสดงสินค้า เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมั่นใจว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

‘ทีเส็บ’ มั่นใจ 3 ปีสร้างรายได้เข้าประเทศ 7,425 ล้าน

​หลังจากนั้น คณะได้ร่วมการประชุมโต๊ะกลมกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไทย ได้แก่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยผู้แทนภาครัฐของไทยแสดงความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และดึงดูดนักลงทุนเข้ามามากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาของธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่อง ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ประเทศคิดเป็นร้อยละ 12 ของ GDP

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับฟังข้อมูลที่น่าสนใจของประเทศไทย ทั้งในด้านศักยภาพของประเทศ  ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมีศักยภาพ และแนวโน้มทิศทางของอุตสาหกรรมการจัดการแสดงสินค้านานาชาติ ในการบรรยายเรื่อง Shaping Thailand’s Future in the Global Value Chain" โดยผู้แทนจาก International Financial Corporation และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  การเสวนาเรื่อง "Thailand’s Economic Potential and Integration into ASEAN: Future Frontiers" โดยผู้นำจาก 3 ธุรกิจที่เป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ ธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ฟินเทคและเทคโนโลยี และยานยนต์ และการเสวนาเรื่อง "Exhibition Industry Strengths and Emerging Trends" โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการจัดการแสดงสินค้านานาชาติ

ทั้งนี้ ผู้นำอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ได้ชี้ให้เห็นเทรนด์และโอกาสสำคัญ 3 เรื่องที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประการแรก การบริการที่ตรงตามความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Customised Service) สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ สอดคล้องกับเทรนด์ใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน คือ การสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งผู้จัดงานต้องคำนึงถึงและจัดสิ่งอำนวยความสะดวก บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานยังคงใช้ชีวิตปกติขณะมาร่วมงานได้ ประการที่ 2 คือ การใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย เช่น การจัดการฐานข้อมูลใหญ่ๆ การแปลคอนเทนต์เป็นภาษาต่างๆ  และประการที่ 3 คือ การเลือกสถานที่จัดงานซึ่งนอกจากจะมีความพร้อมแล้วยังต้องทำให้ผู้เข้าร่วมงานประทับใจ รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับที่ดี ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม มีกิจกรรมนอกโรงแรมให้ทำ และที่สำคัญคือวัฒนธรรมการต้อนรับของไทยที่ทำให้นักเดินทางประทับใจ

​ในการจัดงานครั้งนี้ ทีเส็บ ยังได้นำเสนอภาพประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางมูลค่าสูงแห่งเอเชีย (High-Value Added Destination) โดยใช้แนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การเดินทางด้วยรถยนต์ไฮบริดและเรือพลังงานไฟฟ้า การรังสรรค์เมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและชุมชน สมุนไพรที่ทางโรงแรมปลูกเองและใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า เพื่อลดของเหลือใช้จากการปรุงอาหาร รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสกับวัฒนธรรมไทยในทุกมิติ อาทิ ปรุงอาหารรสชาติแบบไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น โขน และหุ่นละครเล็ก ที่ผู้เข้าร่วมงานมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างใกล้ชิด 

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นธุรกิจกับความเป็นไทยได้อย่างลงตัว

​ทีเส็บคาดว่า การจัดงาน Exhibition Industry Summit 2024 จะส่งผลให้สามารถดึงงานใหม่ๆ เข้ามาจัดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 60 งานตลอดระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2568 - 2570) สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นมูลค่า 7,425 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากต่างประเทศและในประเทศรวมประมาณ 426,000 คน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากนักเดินทางที่มาร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยรวมประมาณ 11,649 ล้านบาท