ช้อปออนไลน์ โตก็จริง แต่ผู้บริโภคก็ยังชอบมาที่ร้านค้าอยู่ดี
ปัจจุบันการ “ชอปปิงออนไลน์” ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากสะดวกทั้งในเรื่องการเลือกซื้อสินค้าและการชำระเงิน แต่จากการสำรวจนักช้อปชาวไทย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงตบเท้าเดินเข้าช้อปแบรนด์เนมเพื่อซื้อสินค้ามากกว่าการซื้อสินค้าแบรนด์เนมผ่านระบบออนไลน์
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพฤติกรรมในการชอปปิง พบว่า นักช้อปชาวไทย 9 ใน 10 คน ยังชอบชอปปิงในร้านค้าควบคู่ไปกับการส่องหาสินค้าบนออนไลน์ จากการสำรวจสรุปได้ว่า 4 เหตุผลสำคัญที่คนยังชอบที่มาช้อปในร้าน ดังนี้
เหตุผลที่ 1 : ก็แค่อยากออกจากบ้านคลายเหงา Shopping Therapy
การออกจากบ้านไปชอปปิง ก็ทำให้หลายๆ คนรู้สึกดีได้เพียงแค่นึกถึง “การชอปปิง” ไม่ได้มีข้อเสียที่ทำให้เราเสียเงินเท่านั้น ความจริงแล้วมันมีประโยชน์อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะต่อสุขภาพจิตของคนเรา Scott Bea นักจิตวิทยาแห่งคลินิกคลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา ยืนยันยันว่า “การชอปปิงมีคุณค่าทางจิตใจ และมีบทบาทในการเยียวยาอาการเจ็บป่วยทางใจด้วย” Shopping therapy หมายความว่าการชอปปิงสามารถช่วยบำบัดให้คนเรารู้สึกผ่อนคลายความเครียดและมีความสุขได้จริงๆ ถึงขนาดที่มีหลายคนบอกว่าการนั่งสมาธิยังช่วยให้จิตใจสงบได้ไม่เท่ากับการได้ไปออกจากบ้าน ได้สัมผัสกับกระเป๋าถือคอลเลกชันใหม่ในร้านหรู
หลายคนยกให้การชอปปิงเปรียบเสมือนโลกอีกใบที่แตกต่างจากโลกที่ตัวเองต้องเผชิญกับความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวง พวกเขารู้สึกว่าเมื่อได้ชอปปิง มันสามารถคลายความเครียด ลดความกังวลที่มีในจิตใจลงได้ มีผลการศึกษาจาก TNS Global ที่ทำการศึกษาผู้ใหญ่อเมริกันจำนวน 1,000 คน พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าการบำบัดทางจิตด้วยการชอปปิงนั้นดีจริงๆ พวกเขารู้สึกถึงการปลอบประโลมให้กำลังใจตัวเอง รวมถึงมันยังเหมือนกับการเฉลิมฉลองบางอย่าง ที่ทำให้เกิดความสุขได้แล้วความเครียดก็จะหายไป
เหตุผลที่ 2 : ชอปปิงในห้าง-ศูนย์การค้าเป็นกิจกรรมทางสังคม
ถึงเวลาตอนเย็นที่นักเรียน นักศึกษาคาบบ่ายเลิกเรียน ส่วนคนวัยทำงาน หากทำงานเสร็จสิ้นภารกิจเรียบร้อยแล้ว หลายคนหากไม่กลับบ้านเลย ก็มักหาสถานที่ผ่อนคลายหลังใช้พลังงานหนักมาทั้งวัน บ้างก็นัดไปกินข้าวอร่อยๆ กับเพื่อนฝูง ชอปปิงให้รางวัลตัวเอง ซื้อของใช้เข้าบ้าน หรือหากิจกรรมบันเทิงทำ ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หากไม่อยู่บ้าน ก็ต้องเดินทางออกไป Spend Time ตามความต้องการ หรือตามหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำ แต่ไม่ว่าความต้องการของแต่ละคนจะแตกต่างกันยังไง คนในสังคมไทยก็มักมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ “ห้างสรรพสินค้า” และ “ศูนย์การค้า”
“ห้างสรรพสินค้า” และ “ศูนย์การค้า” ในไทย เป็นศูนย์รวมกิจกรรมที่เรียกได้ว่าทำครบจบได้ในที่เดียว ตั้งแต่มี Supermarket สำหรับซื้อของ Groceries เข้าบ้าน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง อุปกรณ์สำหรับการใช้งานในออฟฟิศ อุปกรณ์เทค มีศูนย์อาหาร ร้านอาหารหลายรูปแบบเรียงราย มีร้านถ่ายรูป โชว์รูมรถ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงคลินิกต่างๆ โซนเล่นเกม โรงเรียนสอนพิเศษหลากหลายแขนง ฟิตเนส โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ อีกมากมายตามการจัดวางของแต่ละห้าง จึงไม่แปลกที่ห้างสรรพสินค้าจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวหลักของคนไทยไม่ว่าจะอยากทำอะไรก็ตาม
เหตุผลที่ 3 : คุณภาพและประสบการณ์เป็นปัจจัยดึงดูดให้มาที่ร้าน
จากการสำรวจพบว่า มีเพียงแค่ 16% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าพวกเขาจงรักภักดีอย่างต่อเนื่องต่อร้านค้าและแบรนด์ แล้วอะไรเป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภคเลือกแบรนด์ที่เฉพาะเจาะจงและร้านค้าที่เจาะจง? 65% ระบุว่าคุณภาพเป็นเกณฑ์หลัก ขณะที่ 59% ระบุถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา 40% ระบุราคา ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่พิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะคุณภาพของสินค้า ประสบการณ์การใช้งานที่ผ่านมา และราคา ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า แม้ราคาจะมีผล แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจ ผู้บริโภคยินดีจ่ายแพงขึ้นหากได้รับคุณภาพและประสบการณ์ที่ดี
ดังนั้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังชอบบรรยากาศและประสบการณ์ของการเดินเลือกซื้อสินค้าในร้าน การได้เห็น สัมผัส และทดลองสินค้าได้จริงก่อนตัดสินใจซื้อ ความเชื่อมั่น รู้สึกปลอดภัยกว่าเมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าจริง
เทรนด์ที่ 4 สินค้าสร้างความเร้าใจ แต่การบริการช่วยตัดสินใจ
ผลสำรวจทำให้เห็นว่า การให้บริการที่หน้าร้านยังคงมีความสำคัญ และเป็นการช่วยผลักดันให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าในขั้นตอนสุดท้าย การให้บริการที่ดียังเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริโภคมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้ามากพอแล้ว ขณะเดียวกันการให้บริการที่ไม่ดีก็จะส่งผลต่อการยับยั้งการตัดสินใจซื้ออย่างถาวร จากการสำรวจร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมกว่า 57 แบรนด์ พบว่า ลูกค้าพึงพอใจในด้านคุณภาพการให้บริการและความประทับใจ นอกจากนี้ ผู้บริโภคกว่า 97.9% ยังประทับใจในบรรยากาศและการตกแต่งของร้านค้าแบรนด์เนมอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป แม้ช้อปออนไลน์จะสะดวกสบาย แต่การไปที่ร้านจริงมีหลายมิติที่ออนไลน์ยังไม่แทนที่ได้ อาจจะเป็นเรื่องของการสัมผัสสินค้า การทดลองใช้ การพูดคุยกับพนักงาน หรือแม้กระทั่งการได้สัมผัสบรรยากาศของร้านนั้นๆ สุดท้าย การเลือกซื้อของก็เป็นเรื่องของความรู้สึกและประสบการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่ความสะดวกสบายเท่านั้น และบางครั้ง ผู้บริโภคอาจต้องการออกไปข้างนอก เปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ได้นะครับ