‘สรวงศ์’ ถกเอกชนท่องเที่ยว ฟื้น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เบรก ‘ค่าเหยียบแผ่นดิน’
'สรวงศ์' รมว.การท่องเที่ยวฯ ป้ายแดงเครื่องฟิต นัดถกภาคเอกชนท่องเที่ยวกว่า 20 หน่วยงานครั้งแรกวันนี้ ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ด้าน 'แอตต้า' วอนรัฐบาลชะลอจัดเก็บ 'ค่าเหยียบแผ่นดิน' รอจังหวะท่องเที่ยวไทยฟื้นเต็มที่ ชง 'นายกฯ อุ๊งอิ๊ง' เป็นประธานใหญ่คุมท่องเที่ยว
KEY
POINTS
- 'สรวงศ์' รมว.การท่องเที่ยวฯ ป้ายแดงเครื่องฟิต นัดถกภาคเอกชนท่องเที่ยวกว่า 20 หน่วยงานครั้งแรกวันนี้ (18 ก.ย.67) ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
- ด้าน 'แอตต้า' วอนรัฐบาลชะลอจัดเก็บ 'ค่าเหยียบแผ่นดิน' รอจังหวะท่องเที่ยวไทยฟื้นเต็มที่ ชง 'นายกฯ อุ๊งอิ๊ง' เป็นประธานใหญ่คุมท่องเที่ยว
- ฟาก 'ทีเอชเอ' ไม่ขัด แต่ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ใช้เงินกองทุนเก็บค่าเหยียบแผ่นดินให้ชัด พร้อมหนุนคืนชีพโครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' หลัง 'สรวงศ์' แย้มไอเดียปัดฝุ่น กระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ด้าน 'ททท.' พร้อมออกสตาร์ตทันทีเมื่อนโยบายชัดเจน
วันนี้ (18 ก.ย.67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เชิญภาคเอกชนท่องเที่ยวรวมกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมประชุมหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องความต้องการของผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว
หลังจากวันที่ 16 ก.ย.67 นายสรวงศ์ ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ที่กระทรวงฯ เป็นวันแรก ยืนยันเป้าหมายปี 2567 สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เคยตั้งไว้ ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก และท้าทายมาก แต่จะผลักดันให้ดีที่สุด โดยเฉพาะช่วงไฮซีซันไตรมาส 4
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ารายได้รวมการท่องเที่ยวปีนี้จะทะลุ 3 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กลับไปเท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดได้อย่างแน่นอน
ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.ย.2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 24,810,988 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1,162,419 ล้านบาท โดยตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 5,002,975 คน มาเลเซีย 3,517,586 คน อินเดีย 1,442,978 คน เกาหลีใต้ 1,316,895 คน และรัสเซีย 1,119,768 คน
“สรวงศ์” เห็นด้วยเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน”
นายสรวงศ์ กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ ค่าเหยียบแผ่นดิน ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการจัดเก็บ เพราะเห็นถึงความจำเป็นในการนำเงินไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ต้องขอดูรายละเอียด และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ว่าจะจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินในรูปแบบใด เพื่อไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังมีไอเดียนำโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือ “คนละครึ่ง” กลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทย เพราะเป็นแคมเปญที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ แม้แต่ร้านอาหารขนาดเล็กก็ได้อานิสงส์ไปด้วย โดยต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแคมเปญลักษณะนี้อย่างละเอียดอีกครั้งว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
ททท.รอนโยบายชัด คืนชีพ “เราเที่ยวด้วยกัน”
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ตามที่ นายสรวงศ์ ได้กล่าวถึงแนวคิดการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นไทยเที่ยวไทย สร้างความต่อเนื่องของการเดินทาง และใช้จ่ายมากขึ้น เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง หลังเข้าปฏิบัติหน้าที่ ที่กระทรวงฯ วันแรก เบื้องต้น ททท.ประเมินความพร้อมว่าสามารถดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ทันทีหากรัฐบาลมีความชัดเจนด้านนโยบาย เพราะเป็นโครงการที่เคยทำมาแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถใช้งานผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย และแอปพลิเคชันเป๋าตัง
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม รูปแบบการลงทะเบียน หรือรูปแบบของโครงการ ว่าจะเน้นให้เที่ยวเฉพาะวันธรรมดาอย่างเดียวหรือไม่ ช่วงเวลาในการเดินทางเป็นช่วงใด หากเป็นช่วงไฮซีซันที่มีนักท่องเที่ยวออกเดินทางมากอยู่แล้ว ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะราคาโรงแรมที่พักจะสูงกว่าช่วงปกติ ซึ่งต้องประเมินงบประมาณที่จะใช้ในโครงการด้วยว่ามีเป็นก้อนใหญ่มากน้อยแค่ไหน รวมถึงจำนวนประชากรที่เข้าร่วมโครงการ เพราะเดิมกำหนดให้คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้าร่วมได้แบบไม่จำกัดอายุสูงสุด ปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่อายุ 18 ปีขึ้นไปแล้วมากขึ้น จึงต้องพิจารณาทุกเงื่อนไขอย่างละเอียด และรอบคอบ เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง
“หากรัฐบาลมีนโยบายออกมาชัดเจนว่าจะดำเนินโครงการในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือคนละครึ่ง ก็พร้อมทำได้ทันที เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ให้นโยบายการทำงานหลักๆ มาแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการหรือเรื่องอะไรที่ดีอยู่แล้ว เราจะสานต่อให้ดีขึ้นไปอีก ส่วนโครงการที่ดีแต่จบไปแล้ว ก็สามารถพิจารณาเพื่อกลับมาทำใหม่อีกครั้งก็ได้”
แอตต้ากังวล “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ฉุดมู้ดทัวริสต์
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สำหรับมาตรการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ในมุมแอตต้ามองว่าอยากให้รัฐบาลชะลอการจัดเก็บออกไปก่อน เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ประกอบกับไทยยังต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว หากมีการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินอาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่สะดวกใจในการเดินทางเข้าไทย และเปลี่ยนไปเที่ยวประเทศอื่น
“แอตต้ามองว่าการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาทนั้น ไม่คุ้มกับรายได้ที่เราจะได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 40,000-50,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนในอนาคตเมื่อมีนักท่องเที่ยวระดับ 70-80 ล้านคน ค่อยเริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดินในตอนนั้นดีกว่า เพื่อชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยว ไม่ให้เกินขีดความสามารถในการรองรับของประเทศไทย”
ชง “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” เป็นประธานคุมท่องเที่ยว
นายศิษฎิวัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านภาพรวมข้อเสนออื่นๆ ภาคเอกชนท่องเที่ยวต้องการเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งยกระดับภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งแหล่งท่องเที่ยว ความปลอดภัย และบุคลากร เพราะตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องแข่งกับหลายประเทศ ซึ่งต่างดึงรายได้เข้าประเทศด้วยการท่องเที่ยว
โดยเตรียมเสนอให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นประธานด้านการท่องเที่ยว เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน เช่น การดูแลความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ ต้องการให้สานต่อนโยบายเดิมของรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง 55 จังหวัด) ด้วยการสั่งการตรงถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะผู้ว่าฯ เป็นคนในพื้นที่ มีความรู้ ความเข้าใจว่าแต่ละจังหวัดมีความพร้อมหรือขาดอะไร ควรพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ห้องน้ำ หรือระบบอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมอย่างไร โดยในมุมเอกชนอยากให้มุ่งไปที่เมืองที่มีความพร้อมทั้งสนามบิน แหล่งท่องเที่ยว และโรงแรมก่อน จากนั้นค่อยกระจายไปเมืองรอบๆ
“ทีเอชเอ” แนะวางกรอบใช้เงินกองทุนฯ ชัด
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เห็นด้วยว่าควรจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ถ้าได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องจัดเก็บ ทางสมาคมฯ ไม่ได้ติดขัด แต่ต้องเป็นประโยชน์กับภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด โดยเฉพาะกรอบการใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าจะนำเงินค่าเหยียบแผ่นดินที่จัดเก็บส่งเข้ากองทุนฯ ไปใช้พัฒนาด้านใดบ้าง และใครเข้ามาบริหารกองทุนนี้ ส่วนกำหนดเริ่มจัดเก็บ มองว่าควรเป็นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป
ด้านข้อเสนออื่นๆ จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนส.ค.2567 จัดทำโดย ทีเอชเอ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระหว่างวันที่ 19-30 ส.ค.67 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 106 แห่ง พบว่ามาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ต้องการจากภาครัฐมี 5 มาตรการด้วยกัน ได้แก่
1.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย เน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว และเที่ยวในวันธรรมดา (วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี) กระตุ้นการท่องเที่ยวของลูกค้ากลุ่มประชุมสัมมนามากขึ้น มีมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซัน รวมถึงประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยให้กับลูกค้าต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
“สมาคมฯ เห็นด้วยกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีไอเดียนำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือคนละครึ่ง มาดำเนินการอีกครั้งเพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ โดยมองว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมควรเป็นโลว์ซีซันปี 2568 คิกออฟหลังเทศกาลสงกรานต์ไปจนถึงเดือนต.ค. และสามารถออกแบบให้เที่ยวเฉพาะวันธรรมดาได้ แต่ก็ต้องรอดูอีกทีว่าหากโครงการเราเที่ยวด้วยกันผ่านการอนุมัติอีกครั้ง จะได้รับงบประมาณสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน”
หนุนปราบต่างชาติทำธุรกิจผิดกฎหมาย
2.มาตรการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค และพลังงาน ลดภาษีสิ่งปลูกสร้าง และมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจโรงแรมเพิ่มเติม
3.มาตรการด้านแรงงาน โดยมีหน่วยงานรัฐที่ช่วยจัดหาแรงงานสำหรับธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร โดยเฉพาะพนักงานที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มและพนักงานแผนกต้อนรับส่วนหน้า (Front Office) นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐช่วยจัดอบรมด้านภาษาให้กับแรงงานในธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และจีน
4.มาตรการด้านการเงิน เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงที่พักแรม เน้นช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง และเล็ก
และ 5.มาตรการอื่นๆ เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุม และสะดวกในการเดินทาง รวมถึงการดูแลขยะ มลพิษทางอากาศ และน้ำในพื้นที่ท่องเที่ยว ตรวจสอบการขายห้องพักของกิจการที่ไม่ใช่โรงแรมอย่างจริงจัง พร้อมปราบปรามผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายในไทย และส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์