‘ศูนย์การค้า’ แนวคิดใหม่ในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
แนวคิดในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อเร่งกระจายความเจริญสู่ชนบทตลอดจนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ลดปัญหามลภาวะด้านต่างๆ รวมถึงลดการหลั่งไหลของแรงงานจากชนบทสู่เมืองหลวง เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานกว่า 4 ทศวรรษ
ปัจจุบัน ปัญหาการจราจรที่ติดขัดคับคั่งมาก ปัญหาที่ดินมีราคาแพง การเติบโตของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ผลักดันให้ผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการศูนย์การค้าเริ่มสนใจไปลงทุนในภูมิภาค
“ศูนย์การค้า” ทางเลือกใหม่กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
1.มิติการลงทุน ศูนย์การค้ากระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการขยายความเจริญสู่ท้องถิ่น เนื่องจากศูนย์การค้าเป็นแหล่งรวมสินค้าและบริการที่ครบครัน ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมที่จะอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงเพื่อความสะดวกในการซื้อหาสินค้าและบริการต่างๆ
ดังนั้นการขยายตัวของศูนย์การค้านั้น ทำให้ท้องถิ่นบริเวณใกล้เคียงมีการพัฒนาของมูลค่าที่ดินและการพัฒนาของอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ เช่น หมู่บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา เป็นต้น
2.มิติการจ้างงาน ศูนย์การค้าเป็นผู้ริเริ่มเกิดการลงทุนในท้องถิ่น การลงทุนของศูนย์การค้าซึ่งแต่ละโครงการมีมูลค่าเฉลี่ย 5,000- 10,000 ล้านบาท ในแต่ละศูนย์การค้ามีอัตราจ้างงานโดยตรง เฉลี่ย 3,000-5,000 คน โดยทางอ้อมอีกกว่า 5,000 คน
เมื่อศูนย์การค้าพัฒนาไปยังจังหวัดใดก็เป็นโอกาสที่พนักงาน ลูกจ้าง จะได้กลับภูมิลำเนา มาอยู่กับครอบครัว พ่อแม่ สนับสนุนให้คนท้องถิ่นไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ ทำให้สถาบันครอบครัวมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
3.มิติการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม ศูนย์การค้าเป็นแกนหลักช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยรายย่อย (SMEs) เนื่องจากศูนย์การค้าให้บริการพื้นที่เช่า โดยการให้บริการและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยรายย่อยสามารถเริ่มธุรกิจใหม่ หรือขยายธุรกิจที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นโดยไม่ต้องกังวลถึงการบริหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักๆ ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้อย่างเต็มที่ ลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการไทยรายย่อยสามารถพัฒนาธุรกิจและยกระดับสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ
4.มิติการสร้างโอกาสการพัฒนาสินค้า OTOP ศูนย์การค้าเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้าที่ดีสำหรับสินค้า OTOP โดยเฉลี่ยในแต่ละสัปดาห์ศูนย์การค้าขนาดใหญ่จะมีผู้คนสัญจรกว่า 30,000-50,000 คนต่อวัน ทำให้สินค้า OTOP ที่จำหน่ายในศูนย์การค้า มีโอกาสสู่สายตาผู้คนเป็นจำนวนมาก เพิ่มโอกาสการขายและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ OTOP ก็มีโอกาสที่จะรับทราบถึงพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคต่อไป
5.มิติการเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่น การลงทุนของศูนย์การค้าเป็นการพัฒนาสู่ความทันสมัย เนื่องจากศูนย์การค้า ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและเสน่ห์แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ โดยทั่วไป ในมุมมองของนักท่องเที่ยว ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว คือ สถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการที่หลากหลาย มีแหล่งรวมร้านอาหารนานาชาติ รวมไปถึงมีแหล่งนันทนาการต่างๆ การมีศูนย์การค้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่เน้นการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมแบบ Contemporary ร่วมสมัย ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สะท้อนแนวคิดศิลปะวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ นับแต่แรกเห็น และเป็นที่กล่าวขานและภาคภูมิใจในท้องถิ่นนั้นเป็นอันมาก นอกจากนี้ ศูนย์การค้าไทยหลายแห่งยังเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นศูนย์การค้าชั้นนำในประเทศอาเชียนอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป แนวคิดในการพัฒนาเมืองโดยการให้ศูนย์การค้าเป็นหัวหอกในการนำความเจริญสู่ภูมิภาค กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของวิถีชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งก็เป็นต้นแบบที่พบเห็นกันทั่วโลก แต่การพัฒนา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อความยืดหยุ่นเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูงและสังคมที่อ่อนไหวต่อการรับรู้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก อีกทั้งภาครัฐต้องเข้าใจในแนวคิดและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท