ถอดศาสตร์บริหารธุรกิจผ่านกระดานหมากล้อม 'ก่อศักดิ์' นำทัพเซเว่นฯ โตแกร่ง
ส่องแนวคิดจากผลวิจัยหมากล้อม (โกะ) กรณีศึกษา ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ซีพี ออลล์ ถ่ายทอดศาสตร์แห่งการบริหารธุรกิจ การพัฒนาภาวะผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์ นำทัพ "เซเว่น อีเลฟเว่น" โตแกร่ง
กว่า 30 ปีบนเส้นทางหมากล้อม หรือ โกะ ของ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ บุคคลต้นแบบผู้บุกเบิกและสร้าง “หมากล้อม” ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย ไปพร้อมๆ กับการนำทัพขับเคลื่อนความสำเร็จ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น อยู่คู่สังคมไทยมานานกว่า 36 ปี มีเครือข่ายสาขากว่า 14,545 แห่งทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากศาสตร์การบริหารที่ได้แนวคิดมาจาก “กระดานหมากล้อม” นั่นเอง
“หมากล้อมเป็นเกมที่แปลก หากคิดเอาชนะก็จะแพ้ เมื่อทุ่มทรัพยากรไปแต่ละจุดเพื่อเอาชนะ ก็จะชนะได้แค่ ‘สนามรบ’ แต่แพ้ ‘สงคราม’ โดยรวม แต่จะชนะได้เพราะไม่คิดเอาชนะ..."
นั่นเป็นเพราะ หมากล้อม ไม่ได้ฝึกให้เอาชนะ แต่ก็ไม่สอนให้ยอมแพ้ เป็นการเล่นที่ประคับประคองไม่เอาเปรียบกัน ซึ่งระหว่างเล่น ย่อมต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผลออารมณ์ ดังนั้นจึงต้องเล่นแบบคุมไม่ให้คิดเอาชนะ แล้วทนกับกิเลสที่จะอยากเอาชนะให้นานกว่า หากคิดแต่จะเอาชนะ นั่นคือการกำลังทำให้ตนเองแพ้
“หมากล้อม” กำเนิดขึ้น 3,000-4,000 ปีในจีน ปัจจุบันแพร่หลายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย รวมถึง ไทย ที่วันนี้มีผู้เล่นกีฬาหมากล้อมมากกว่า 2 ล้านคน
“หมากล้อมเสมือนเกมสงครามที่มีหลากหลายสมรภูมิรบ แม้จะพ่ายแพ้ในสมรภูมิหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนกระดาน แต่ก็สามารถชนะในสมรภูมิอื่นได้ จึงมีความลึกซึ้งและความยากในการเดินหมาก อีกทั้งมีการพลิกผันของรูปเกมที่ยากจะคาดเดาได้ล่วงหน้า ดังนั้นในบางครั้งอาจดูเหมือนว่ากำลังจะพ่ายแพ้ แต่หากผู้เล่นมีความคิดและสายตายาวไกล เข้าใจจุดอ่อนของคู่ต่อสู้และของตนเองก็อาจพลิกเกมเป็นผู้ชนะได้”
อาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรัตน์ ที่ปรึกษาคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวถึงงานวิจัยหมากล้อม (โกะ) กับการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ กรณีศึกษา ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมุ่งนำเสนอแนวคิดและผลสำเร็จที่ได้จากหมากล้อม ศาสตร์แห่งการบริหาร และเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์
แนวคิดจากการเล่นหมากล้อมถูกนำไปใช้เป็นหลักการบริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จนประสบความสำเร็จ ถูกถ่ายทอดไปยังทีมงาน และบุคคลทั่วไป
“หมากล้อม ช่วยเสริมสร้างการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล พัฒนาทักษะทางสังคม การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำทีมและองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
ผู้เล่นต้องคำนึงถึงการมองภาพรวมของกระดานหมากล้อมจากการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว เช่นเดียวกับการบริหารธุรกิจด้วยการมองภาพรวมขององค์กรและตลาด เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดก่อนที่จะตัดสินใจหรือดำเนินการใดๆ ยิ่งภายใต้ภาวะกดดันสูง
หมากล้อม จะสอนให้ผู้เล่น...
“วางกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น” หมากล้อมสอนให้ผู้เล่นวางกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งองค์กรสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างแผนงานที่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือการแข่งขัน และไม่ยึดติดกับแผนเดิมมากเกินไป
“คิดอย่างละเอียดและรอบคอบ” การเล่นหมากล้อม ทุกการเคลื่อนไหวต้องผ่านการคิดอย่างละเอียดและรอบคอบ เนื่องจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดสามารถนำไปสู่ความพ่ายแพ้ได้ ในการบริหารองค์กร ซึ่งหลักการนี้สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหา วางแผน และตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
“ทำงานเป็นทีม” หมากล้อมเป็นเกมที่ต้องมีการเข้าใจการเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้และทำงานร่วมกับผู้อื่นในทีมเดียวกัน ในการบริหาร จึงต้องเน้นการสร้างความร่วมมือและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในองค์กร เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน
“ยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด” การเล่นหมากล้อมเป็นกระบวนการของการเรียนรู้จากความผิดพลาดและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในองค์กรควรสนับสนุนให้พนักงานกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และไม่กลัวที่จะทำผิดพลาด แต่ต้องเรียนรู้และปรับปรุงจากข้อผิดพลาดนั้นๆ
“ควบคุมอารมณ์และความกดดัน” การเล่นหมากล้อมต้องใช้การควบคุมอารมณ์อย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งหลักการนี้ถูกนำมาใช้ในการบริหารองค์กร โดยการฝึกให้ผู้บริหารและพนักงานสามารถควบคุมอารมณ์และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย
“พัฒนาความสามารถในการคาดการณ์” หมากล้อมสอนให้ผู้เล่นคาดการณ์การเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้และผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในการบริหารหลักการนี้จะถูกใช้ในการประเมินแนวโน้มของตลาดและพฤติกรรมของคู่แข่ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
จะเห็นว่าแนวคิดของ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ที่ถ่ายทอดผ่านงานวิจัยนี้ "หมากล้อม" เป็นหนึ่งในเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการพัฒนาภาวะผู้นำ ผู้เล่นหมากล้อมต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผนล่วงหน้า และการตัดสินใจภายใต้ความกดดัน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับผู้นำในทุกองค์กร
หมากล้อมยังมีอิทธิพลต่อ 4Q ได้แก่
IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางปัญญาเป็นพื้นฐานในการวางกลยุทธ์และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งการเล่นหมากล้อมช่วยฝึกให้คิดเชิงวิเคราะห์และคาดการณ์ล่วงหน้า
EQ (Emotional Quotient) หมากล้อมส่งเสริมการควบคุมอารมณ์และความเข้าใจผู้อื่นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาวะผู้นำที่ดี ซึ่งการเล่นหมากล้อมเป็นวิธีการที่ดีในการฝึก EQ
MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่หมากล้อมเน้นผ่านความเคารพต่อคู่ต่อสู้และการเล่นที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่มีคุณธรรม
AQ (Adversity Quotient) ความสามารถในการรับมือกับความยากลำบากและอุปสรรค หมากล้อมช่วยเสริมสร้าง AQ โดยการฝึกให้ผู้เล่นรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน หมากล้อมเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจและศึกษาอย่างลึกซึ้ง นำไปใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจในระดับสากล หมากล้อมยังได้รับการนำไปใช้ในโรงเรียนและองค์กรในหลายประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะการคิด การบริหารเวลา และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ไม่เพียงเท่านั้น "ก่อศักดิ์" ยังได้เรียนรู้ความผิดพลาด จากกีฬาหมากล้อม เห็นได้จากหนึ่งในคำกล่าวที่ว่า
“...เป้าหมายสูงสุดของหมากล้อมในฐานะที่เป็นศิลปะและเกมอย่างหนึ่งก็คือ เน้นการฝึกตนเองเป็นสำคัญให้มีความสุขุม อดทน เข้มแข็ง ไม่ก้าวร้าว คิดมองอย่างกว้างไกล รู้เขารู้เรา และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฯลฯ ด้วยการเรียนรู้บทเรียนแห่งชีวิตผ่านกระดานหมากล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลทุกคน เพราะมนุษย์ทุกคนไม่มีเวลามากพอที่จะเรียนรู้ความผิดพลาดทุกอย่างด้วยตนเองในชีวิตจริง ด้วยเหตุนี้ หมากล้อมจึงเป็นหมากกระดานแห่งชีวิต เป็นตัวแทนของสมรภูมิรบ และเป็นยุทธจักรบู๊ลิ้มที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ทั้งด้านครอบครัวและธุรกิจการงาน”
การฝึกฝนหมากล้อม จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการคิดเชิงกลยุทธ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ และการสร้างความสัมพันธ์ ทำให้ผู้เล่นคำนึงถึง“การมองภาพรวม” จากการวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การมองถึงภาพรวมของกระดานหมากล้อมทั้งหมด หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในการบริหาร โดยการมองภาพรวมขององค์กรและตลาด เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดก่อนที่จะตัดสินใจหรือดำเนินการใดๆ
เรียกได้ว่า ขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมๆ กับการสร้าง “งานสมดุล-ชีวิตสมดุล-คนสมดุล”