เศรษฐกิจไทย-เวียดนาม ชะลอตัวดึงธุรกิจ เหล้า-เบียร์ ไทยเบฟ หดตัว

แม้ผลงาน ไทยเบฟ 9 เดือนแรก จะทำเงิน 217,055 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย ทว่า หากดูการบริโภคที่สะท้อนถึงยอดขายเชิงปริมาณ “เหล้า-เบียร์” ที่เป็นหัวใจสำคัญ ยังเผชิญผลกระทบจาก 2 ตลาดหลักคือไทยและเวียดนาม ที่เศรษฐกิจชะลอ ทำความมั่งคั่งหดตัว
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม เหล้า-เบียร์ ของ ภูมิอาเซียน เคลื่อนธุรกิจผ่านไป 9 เดือนแล้ว(ปีงบประมาณ ต.ค.-66 ก.ย.67) โดยผลประกอบการยังคงต้องเผชิญความท้าทายด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค เช่นกับธุรกิจเซ็กเตอร์อื่นๆ
สำหรับ 9 เดือน บริษัทมีรายได้จากการขาย 217,055 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย 0.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษี(EBITDA) 38,595 ล้านบาท เติบโต 2.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
แบ่งรายได้ตามกลุ่มธุรกิจ ไทยเบฟ เป็นดังนี้
สุรา : มีรายได้จากการขาย 92,788 ล้านบาท ลดลง 0.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 23,460 ล้านบาท ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เบียร์ : มีรายได้จากการขาย 93,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 11,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ : มีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อาหาร : มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรก่อนหักภาษี 1,438 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เมื่อดูปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจทั้ง “เติบโต” และ “หดตัว” พบว่ากลุ่มสุราที่เห็น “หัวใจสำคัญ” ของ ไทยเบฟ ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ชะลอตัว ตัวแปรดังกล่าวสะท้อนถึงการบริโภค ส่งผลถึง “ยอดขายเชิงปริมาณ” ที่ลดลง 2.7% จึงยังผลต่อเนื่องทั้งยอดขายและกำไรก่อนหักภาษี ทว่า ธุรกิจสุราในเมียนมา ยังขยายตัวได้ทั้งในแง่ของยอดขายและกำไรก่อนหักภาษี
ส่วนกลุ่มเบียร์ แม้ยอดขายจะเติบโต 0.6% แต่เมื่อดูไส้ในจะพบว่า “ยอดขายเชิงปริมาณ” ลดลง 2.9% โดยตลาดเบียร์เวียดนาม ภายใต้บริษัท ไซ่ง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์เบฟเวอเรจคอร์เปอเรชั่น หรือซาเบโก้ หรือ SABECO ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนตลาดเบียร์ในประเทศไทยยังคงขยายตัว จากอานิสงส์การท่องเที่ยว และการทำตลาดที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ การเติบโตของยอดขายทั้งเชิงมูลค่า และเชิงปริมาณอยู่ที่ 5.3% เพราะมีการทำตลาดและสร้างแบรนด์ต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจอาหาร การทำตลาด สร้างแบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การขยายสาขาทำให้เติบโต ทว่า ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยกระทบความสามารถการทำกำไร และดึงกำไรก่อนหักภาษีลดลง 0.6%