‘ไทยเที่ยวนอก’ กำลังซื้อครึ่งปีหลังทรุด! จีนเบียดญี่ปุ่น ชิงคนไทย 1 ล้านคน
บรรยากาศตลาด 'คนไทยเที่ยวต่างประเทศ' ช่วงครึ่งปีหลังเงียบลงจนน่าใจหาย! จากปัญหาเงินเฟ้อฉุดกำลังซื้อ รวมถึงตลาดหุ้นเข้าโซนขาลง ล้วนกระทบต่อ 'สภาพคล่อง' ของคนไทย ชะลอการจับจ่ายอย่างหนัก ผู้ประกอบการ 'ทัวร์เอาต์บาวด์' พาคนไทยไปเที่ยวเมืองนอก ต้องปรับตัวจนเอวกิ่ว!
เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ซึ่งเป็นสมาคมบริษัทนำเที่ยวพาคนไทยไปต่างประเทศ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เมื่อรายได้ไม่แน่นอน ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เลือกชะลอแผนเดินทางเที่ยวต่างประเทศ เพราะไม่อยากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในช่วง “เศรษฐกิจถดถอย” แบบนี้ สมาคมฯจึงประเมินสถานการณ์ตลาดไทยเที่ยวนอกช่วงครึ่งปีหลังได้ยากมาก โดยเฉพาะไฮซีซันไตรมาส 4 เนื่องจากปัจจุบันยอดจองแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้าแทบไม่มี ยอดจองเดินทางช่วงโลว์ซีซันเดือน ก.ค.-ต.ค. เองถือว่าเงียบมาก!
และในภาวะปกติ สมาคมฯ มีกำหนดจัดคอนซูเมอร์แฟร์งานใหญ่ด้านท่องเที่ยว “เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก” (Thai International Travel Fair : TITF) ในกรุงเทพฯ 2 ครั้งต่อปี แบ่งเป็นจัดต้นปีราว ม.ค. หรือ ก.พ. กับกลางปีราว ก.ค. หรือ ส.ค. แต่ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 10 ปีที่ไม่มีการจัดงานช่วงกลางปีที่กรุงเทพฯ จากสถานการณ์กำลังซื้อและเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ไม่ค่อยสู้ดี โดยมีกำหนดจัดอีกทีคือวันที่ 16-19 ม.ค. 2568 ซึ่งหวังว่าปีหน้าภาพรวมตลาดไทยเที่ยวนอกจะเริ่ม “เห็นแสงสว่าง” ฟื้นตัวดีขึ้น
“เบื้องต้นเรามองว่าปี 2567 มีความเป็นไปได้ว่าจะเห็นคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด 7-8 ล้านคน ยังน้อยกว่าปี 2562 ก่อนโควิดที่มีจำนวน 12 ล้านคน แต่ด้วยปัญหากำลังซื้อในตอนนี้ ต้องรอเช็กสถานการณ์อีกทีว่าไตรมาส 4 เป็นอย่างไร”
'ทัวร์เที่ยวจีน' เล่นราคา ชิงคนไทยแห่เดินทางเฉียดล้าน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อทรุดตัว แต่เดสติเนชันที่ได้รับความนิยมจากคนไทยคือ “จีน” เพราะสามารถ “เล่นราคา” แพ็กเกจทัวร์ได้ คาดปีนี้มีคนไทยเที่ยวจีน 1 ล้านคน น่าจะเป็นปีแรกที่ทะลุหลักล้านคนได้ หลังมีมาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) ถาวรระหว่างไทย-จีน มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป เป็นตัวกระตุ้นการเดินทาง แต่ถึงราคาแพ็กเกจทัวร์จีนจะค่อนข้างถูก ก็ยังเห็นสัญญาณตลาดชะลอตัวในช่วงนี้อยู่ดี
ทั้งนี้ ประเมินว่าตลอดปี 2567 เดสติเนชันอันดับ 1 ที่มีคนไทยไปเที่ยวมากที่สุดคือ “ญี่ปุ่น” คาดปิดที่จำนวน 1.2 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิดซึ่งปิดที่จำนวน 1.3 ล้านคน อันดับ 2 จีน จำนวนใกล้เคียง 1 ล้านคน
มาเลย์-เวียดนาม-ลาว ติด TOP 5 สะท้อนกำลังซื้อคนไทย เน้นเที่ยวใกล้
ส่วนอันดับ 3-5 คาดทั้งหมดเป็นเดสติเนชันใน “อาเซียน” ได้แก่ มาเลเซีย น่าจะมีคนไทยไป 6-7 แสนคนเพราะสามารถเดินทางข้ามแดนทางบกได้ ด้าน เวียดนาม ใกล้เคียง 5 แสนคน และ สปป.ลาว 4 แสนคน ต่างจากปีก่อนๆ ที่เดสติเนชันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง แต่ปีนี้น่าจะหลุดจาก TOP 5
“การเปลี่ยนแปลงของอันดับใน TOP 5 ที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงปัญหากำลังซื้อของคนไทยที่ยังอยากไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ด้วยงบที่มีจำกัด จึงเลือกไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนแทน หรือประเทศในเอเชียที่ใช้งบเที่ยว 1-2 หมื่นบาท นี่คือเพดานที่คนไทยส่วนใหญ่ยอมจ่าย แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่น แพ็กเกจทัวร์เริ่มต้น 2.5 หมื่นบาท ก็เป็นราคาที่ยอมจ่ายเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการบริษัททัวร์ต้องปรับโปรแกรมให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ เช่น กำหนดวันฟรี (Free & Easy) จากเดิมเคยเว้นมื้ออาหาร 1 มื้อ ให้อิสระแก่ลูกทัวร์เลือกร้านรับประทานและจ่ายเอง ก็ต้องเพิ่มเป็น 2 มื้อ เพื่อให้ลูกทัวร์สามารถคุมงบกินเที่ยวได้”
ตลาด 'ไทยเที่ยวเกาหลี' ปีนี้ได้ 3-4 แสนคน ถือว่าเก่งแล้ว
ขณะที่ “เกาหลีใต้” ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยไปเที่ยวลดลง ยังไม่ฟื้นตัวดี เป็นเพราะระบบ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) มีความเข้มงวดสูงในการอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า จึงมองว่าปีนี้มีคนไทยไปเที่ยวเกาหลีใต้ 3-4 แสนคนก็ถือว่าเก่งแล้ว
ส่วน “ยุโรป” ด้วยราคาแพ็กเกจทัวร์ในปัจจุบันค่อนข้างสูง 6-7 หมื่นบาท จากปัจจัยต้นทุนพุ่ง ต่างจากยุคก่อนโควิด ขายกันที่ 3-4 หมื่นบาทเท่านั้น ทำให้ไม่ได้ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนเดิม
ธนพล ชีวรัตนพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เอ็กซ์เพรส จำกัด และอุปนายก TTAA กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากมาตรการวีซ่าฟรีถาวร ไทย-จีน ผ่านไป 5 เดือนพบว่าภาพรวมการขาย “แพ็กเกจทัวร์เที่ยวจีน” แก่นักท่องเที่ยวไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดเกิน 100% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีวีซ่าฟรี
'จีน' แหล่งท่องเที่ยวฮอต ปลอดภัยสูง
อีกปัจจัยสำคัญคือประเทศจีนมีสินค้าท่องเที่ยวน่าสนใจจำนวนมาก และมีความปลอดภัยในการเดินทางสูง จึงเป็นเดสติเนชันที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2567 คนไทยนิยมไปเที่ยวเส้นทางจางเจียเจี้ย หุบเขาอวตาร และเมืองฉางซา, เส้นทางหุบเขาจิ่วจ้ายโกว และเมืองเฉิงตู, เส้นทางคุนหมิง ต้าหลี่ และลี่เจียง แพ็กเกจทัวร์ราคาประมาณ 2 หมื่นบาท สำหรับการเดินทาง 5 วัน 4 คืน โดยคาดว่าตลอดปีจะมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าจีน 8 แสนคน และมีโอกาสใกล้เคียง 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ที่มีกว่า 6 แสนคน
หวั่นระบบ 2 มาตรฐานราคาใน 'ญี่ปุ่น' ฉุดมู้ดทัวริสต์คนไทย
“ตลาดคนไทยเที่ยวจีนปีนี้เติบโตแรงมาก เบียดชิงตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นที่แม้ 6 เดือนแรกจะมีจำนวนคนไทยไปญี่ปุ่นสะสมถึง 6.2 แสนคน และมีปัจจัยเงินเยนอ่อนค่าส่งผลดีต่อจิตวิทยาการจับจ่ายก็ตาม แต่ยังต้องจับตาช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไฮซีซันไตรมาส 4 ว่ายอดจองแพ็กเกจทัวร์ญี่ปุ่นจะยังดีหรือไม่ หลังมีข่าวว่าผู้ประกอบการร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากต่างต้องการเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เกิดระบบราคาสองมาตรฐานสำหรับนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่น ส่วนในเดือน มิ.ย.-ส.ค. เข้าสู่โลว์ซีซันหน้าร้อนของญี่ปุ่น ถือเป็นช่วงที่ตลาดแผ่วตัวอยู่แล้ว”
ธนพล มองด้วยว่า ตลอดปี 2567 ตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นจะมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 ของตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด เดสติเนชันที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือจีน ตามด้วยเดสติเนชันอื่นๆ ในเอเชีย เช่น เวียดนาม, ฮ่องกง-มาเก๊า เดินทางเชื่อมเซินเจิ้น และไต้หวัน ด้านเกาหลีใต้ เป็นเดสติเนชันที่ไปได้เรื่อยๆ แต่ถือว่าฟื้นตัวค่อนข้างช้า ด้วยความเข้มงวดของระบบ K-ETA ทำให้นักท่องเที่ยวไทยไม่แน่ใจว่าจองตั๋วเครื่องบินแล้วจะได้ไปเที่ยวจริงหรือไม่ จึงปรับแผนเลือกไปเที่ยวจีนแทน
“ขณะที่ ฝรั่งเศส เจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 แม้ว่าพิธีเปิดจะดึงความสนใจนักท่องเที่ยวไทยอยากไปฝรั่งเศสมากขึ้น แต่ก็ยังกังวลเรื่องความปลอดภัย ขณะเดียวกันการขอวีซ่ายังเป็นเรื่องยาก ทำให้เดสติเนชันที่ได้รับความนิยมในยุโรปปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นฝั่งยุโรปตะวันออกมากกว่า”