พานาโซนิครับมือปัจจัยเสี่ยง ผนึกอสังหาฯ ปั้นบ้านอนาคต
‘พานาโซนิค’ เร่งแผนรับมือทุกปัจจัย ปักแผนขยายกลุ่มลูกค้าองค์กร - ผนึกอสังหาฯ รายใหญ่ ทำบ้านอนาคตที่น่าอยู่ที่สุดเพื่อคนไทย
ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 2.10-2.20 แสนล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัวในหลักเดียวในปี 2567 ได้เผชิญความท้าทาย ทั้งกำลังซื้อชะลอตัว และการแข่งขัน อีกทั้งไม่ได้ปัจจัยบวกมาตรการ เงินดิจิทัลวอลเล็ตของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต้องเร่งวางกลยุทธ์ มุ่งขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพสูงคือ ลูกค้าองค์กร (Business to business : B2B) ทำให้แบรนด์เครื่องไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง พานาโซนิค มุ่งปักขยายองค์กร ตามตลาดกำลังโต
พงษ์วุฒิ แสงประเสริฐ ผู้อำนวยการ ฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร (B2B) บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) ที่มีความท้าทายจากสภาพตลาดในประเทศ โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีทิศทางชะลอตัวลง ยกเว้นตลาดท่องเที่ยวที่มีการเติบโตดี สะท้อนได้จากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ชะลอตัวประมาณ 10-15% เป็นผลจากผู้ประกอบการชะลอเปิดโครงการใหม่ ส่วนลูกค้าโรงแรมขยายตัว 10-20% มาจากผู้ประกอบการได้มีการรีโนเวทใหม่
แผนของพานาโซนิค ได้วางกลยุทธ์ในการรุกธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้น ด้วยการมุ่งนำเสนอรูปแบบโซลูชัน โปรวายเดอร์ อย่างครบวงจร ทั้งบริการก่อนและหลังให้แก่ลูกค้า โดยเป็นกลุ่มลูกค้าที่กำลังเติบโต เน้นกลุ่มบี บวกขึ้นไป โดยวางเป้าหมายทำให้ฐานธุรกิจจากกลุ่มลูกค้าองค์กร ขยายตัวถึงระดับ 70% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จากในปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากองค์กร มีสัดส่วนประมาณ 60% ส่วนอีก 40% มาจากลูกค้าทั่วไป (Business to consumer : B2C)
“หากประเมินกลุ่มลูกค้า B2B ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนคือ อสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ลดลงประมาณ 10-15% เป็นผลตามภาพรวมตลาดที่ผู้ประกอบการมีการชะลอเปิดโครงการใหม่ แต่กลุ่มลูกค้าโรงแรม ยังมีการขยายตัวที่ดีอยู่ 10-20% มาจากกลุ่มลูกค้าโรงแรมได้มีการรีโนเวทใหม่ๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ”
ขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มลูกค้าองค์กร
จากแผนการรุกตลาดองค์กร ส่งผลทำให้บริษัทตลาดกลุ่มนี้สร้างการเติบโตได้ 5-10% ต่อเนื่องจากปีก่อน สัดส่วนมาจาก อสังหาริมทรัพย์ 40% กลุ่มอาคารพาณิชย์ 30% และโรงแรม 10% ภาพรวมปัจจุบัน บริษัท เป็นโซลูชัน โปรวายเดอร์ ในลำดับที่สามของประเทศไทย และมีแบรนด์คู่แข่งมาจากยุโรป ส่วนการให้บริการแก่ลูกค้าหลัก ทั้งวางระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ระบบแสงสว่าง และการวางจอโปรเจคเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยี ไอโอทีอย่างครบวงจร
เร่งแผนทำวิจัย สภาวะน่าสบาย และการประหยัดพลังงาน
“ฮิเดคาสึ อิโตะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมถึงแผนของพานาโซนิคในประเทศไทยระยะยาว ได้ร่วมสนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสร้างความยั่งยืน และสร้างโมเดลร่วมลดใช้พลังงานให้แก่ประเทศไทย ทำให้พานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมืองานวิจัย “การทดลองระบบ Home IoT เพื่อทดสอบ “สภาวะน่าสบาย และการประหยัดพลังงาน” ในโครงการที่อยู่อาศัย” ที่มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 3 รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด ที่เป็นลูกค้าที่สำคัญกับพานาโซนิค ร่วมสร้างนวัตกรรมที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน
รวมถึงได้ทดลองติดตั้งระบบ โฮม ไอโอที (Home IoT) ในบ้านตัวอย่างเพื่อค้นหาสภาวะอยู่สบาย ทั้งกำหนดอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเปิดเครื่องปรับอากาศ การระบายอากาศ และวางระบบความชื้น เพื่อร่วมลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน พร้อมร่วมสร้างบ้านแห่งอนาคตที่ดี และน่าอยู่สำหรับคนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากทำวิจัยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากด้านรัฐบาลไทย จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยภาครัฐญี่ปุ่นโดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้งบในการสนับสนุนโครงการ รวมประมาณ 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ร่วมปรับโฉมให้แก่ประเทศไทยได้ในระยะยาว พร้อมประเมินว่าจะได้รับผลสรุปการวิจัยกับสภาวะน่าสบายในบ้าน ได้ในช่วงปลายปี 2568
เข้าสู่ยุคสามบ้านประหยัดพลังงาน ไอโอทีนำ
สุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด เล่าเสริมว่า ภาพรวมในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคสามของการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ได้มุ่งใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีไอโอทีมาร่วมออกแบบบ้านให้เหมาะสมมากที่สุด และร่วมประหยัดพลังงาน โดยจากการลดอุณหภูมิลง 1 องศาเซลเซียส มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และพลังงาน ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 10-15% จากปัจจุบันค่าใช้จ่ายค่าไฟของคนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนใน กทม. เฉลี่ยที่ 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน และต่างจังหวัด 500 บาทต่อคนต่อเดือน ดังนั้นหากมุ่งนำนวัตกรรมบ้านและเทคโนโลยีใหม่อย่าง ไอโอที มีโอกาสทำให้ค่าไฟลดลงได้ เฉลี่ยมาที่ 700 บาทต่อเดือน
สมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ซึมตัวลง และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้บริษัทได้มีการร่วมออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่กลุ่มลูกค้าผ่านมาหลายโครงการ แต่ในปีนี้ได้ขยายมาสู่การผนึกกำลังร่วมมือทำวิจัย ที่จะเป็นการร่วมส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ นำไปพัฒนา และต่อยอดในการลงทุน และออกแบบบ้านได้ในระยะยาว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์