ร้านอาหารวอนรัฐต่อลมหายใจ กำลังซื้อคนไทยไม่มีเหลือ ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง 50%
‘ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร’ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ ‘เศรษฐา’ ออกมาตรการต่อลมหายใจด่วน ก่อนธุรกิจร้านอาหารจะได้รับความเสียหาย ปิดกิจการไปมากกว่านี้ หลังกำลังซื้อคนไทยไม่มีเหลือ สภาพเศรษฐกิจซบเซาหนัก ต้นทุนค่าวัตถุดิบและพลังงานพุ่งกระฉูด
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า ชมรมฯ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเร่งด่วนเรื่องมาตรการช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่ธุรกิจ ร้านอาหารจะปิดตัวลงมากกว่านี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันซบเซาอย่างหนัก จากกำลังซื้อของประชาชนคนไทยที่ไม่มีเหลือ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบทั้งผักสดและอื่นๆ ขึ้นราคาสูงถึง 50% รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่เป็นปัญหาหลัก ที่สำคัญนักท่องเที่ยวยังมาน้อยลงอย่างมาก
ดังนั้น ทางชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารอยากให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเป็นการด่วน ตั้งแต่ร้านอาหารสตรีทฟู้ดริมทาง จนถึงร้านอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก่อนที่จะได้รับความเสียหายตายกันหมด ที่สำคัญธุรกิจร้านอาหารยังสามารถสร้างจีดีพีของประเทศให้โตขึ้นได้ เพราะเป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่ซัพพลายเชนใหญ่มาก ส่งผลกับผู้ค้าขายในตลาดสด ภาคการเกษตรต่างๆ ภาคแรงงาน และพนักงานในธุรกิจนี้มหาศาล
โดยชมรมฯ เสนอให้เร่งพิจารณาเป็นการด่วนในมาตรการเหล่านี้ ซึ่งจะพอช่วยพยุงให้ภาคเศรษฐกิจร้านอาหารยังต่อลมหายใจไปได้ ดังนี้
1. แก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในช่วงเวลา 14.00 น. - 17.00 น. ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2515 โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ โดยในช่วงนั้นเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันข้าราชการไปนั่งดื่มในเวลางาน ขัดแย้งกับยุคสมัยในปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามาก และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก
2. ลดภาษีโรงเรือนให้สำหรับธุรกิจร้านอาหาร เพราะเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทุกวันนี้โดนภาษีต่างๆ มากมายอยู่แล้วและยังมาโดนภาษีโรงเรือนที่เปลี่ยนมาใช้อัตราก้าวหน้าอีก ทำให้เป็นภาระใหญ่กับผู้ประกอบการมาก
3. เร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- มาตรการกระตุ้นให้กับร้านอาหารอย่างกลุ่ม SMEs เช่น บุคคลธรรมดาสามารถเก็บใบกำกับภาษี เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 20,000 บาท และในส่วนของบริษัท ห้างร้าน นิติบุคคล สามารถนำบิลไปลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น
- ออกมาตรการเงินสด ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทั่วไปคนละ 2,000 บาท 3 เดือน โดยให้เป็นเงินเติมในแอป “เป๋า ตัง” เพื่อให้ประชาชนไปใช้จ่ายซื้ออาหารได้อย่างเดียว ตั้งแต่ร้านข้างทางไปจนถึงร้าน SMEs ด้วย