3 กิจการไปต่อไม่ไหว ปิดถาวรในปี 2566
ลาแล้วประเทศไทย! เปิดลิสต์ “3 กิจการ” ไปต่อไม่ไหว-ปิดตัวถาวร แม้ได้รับความนิยมในต่างแดนแต่กลับซบเซาในตลาดไทย ด้าน “Farm Design” คาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นปิดกิจการครบทุกสาขา แง้มดูผลประกอบการ พบติดลบต่อเนื่องทุกปี
Key Points:
- แม้ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศปีนี้จะมีแนวโน้มเป็นบวก แต่พิษสะสมจากช่วงล็อกดาวน์ก็มีผลทำให้ภาคธุรกิจเกิดแผลเป็นระยะยาวขึ้น
- “ฟาร์ม ดีไซน์” เชนคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นที่ประกาศปิดสาขาสุดท้ายภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พบว่า รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงระบาดใหญ่ ทั้งยังเผชิญกับปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องมานานหลายปี
- ด้าน “สควีซ บาย ทิปโก้” ประสบปัญหาคล้ายกัน คือขาดทุนสะสมต่อเนื่อง และไม่สามารถทะยานสู่รายได้หลัก “ร้อยล้าน” ได้เหมือนกับช่วงก่อนเหตุการณ์โควิด-19 ตัดสินใจปิดตัวลงหลังเสิร์ฟความอร่อยมานานร่วม 20 ปี
เป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจที่มีขึ้น มีลง มีสำเร็จ มีผิดหวัง แม้กระทั่งเคยได้รับความนิยมสูงสุดแต่เมื่อเทรนด์เหล่านั้นเริ่มซาลงก็อาจมีผลทำให้ธุรกิจดังกล่าวต้องปิดตัวลงในที่สุด โดยในปีนี้มีธุรกิจที่ตัดสินใจปิดตัวไปหลายเจ้าด้วยกัน “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 3 แบรนด์ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี โดยเหตุผลที่ทั้ง 3 ธุรกิจตัดสินใจปิดตัวลงมีจุดร่วมคล้ายคลึงกัน คือตัวเลขผลประกอบการและยอดขายที่ซบเซาลงต่อเนื่อง
- ฟาร์ม ดีไซน์ (Farm Design)
ร้านคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นส่งตรงจากเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มีจุดเด่นเป็นวัตถุดิบชีสเค้กหอมนมทั้งตัวเครื่องดื่มปั่นและเมนูขนมหวานชีสเค้ก “ฟาร์ม ดีไซน์” เข้ามาเปิดตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2552 ภายใต้การบริหารของ บริษัท เอส คอมพานี (1993) จำกัด ในกลุ่ม “ฟู้ด แฟคเตอร์” (Food Factors) ธุรกิจร้านอาหารใต้ร่ม “บุญรอดบริวเวอรี่” โดยมีเชนร้านอาหารอื่นๆ ในเครือ อาทิ “ซานตาเฟ่” “คิตะโอจิ” “เอส.33” เป็นต้น
รายงานข่าวปี 2562 ระบุว่า “ฟาร์ม ดีไซน์” มีสาขากระจายตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 26 สาขา ก่อนจะพบว่า ได้ทยอยปิดทำการร้านแฟรนไชส์สาขามาเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 พบว่า สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งเป็น 1 ใน 2 สาขาสุดท้ายของ “ฟาร์ม ดีไซน์” จะให้บริการถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เท่านั้น ทำให้เหลือเพียงสาขาแฟชั่น ไอส์แลนด์ เป็นสาขาสุดท้าย จนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ “Farm Design Thailand” โพสต์ประกาศขอบคุณลูกค้าตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งกับการปิดกิจการสาขาสุดท้ายในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า หลังจากนี้จะไม่มีร้าน “ฟาร์ม ดีไซน์” ในไทยอีกแล้ว
เมื่อย้อนดูตัวเลขผลประกอบการของ “บริษัท เอส คอมพานี (1933) จำกัด” โดยมี “บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด” ถือหุ้นสัดส่วน 100% พบว่า ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 โดยที่สัดส่วนรายได้หลักและรายได้อื่นๆ ลดลงจากปีก่อนหน้า (ปี 2556 ถึง 2559) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ปี 2561: รายได้รวม 207 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้รวม 141 ล้านบาท ขาดทุน 38 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้รวม 98 ล้านบาท ขาดทุน 44 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้รวม 46 ล้านบาท ขาดทุน 19 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้รวม 90 ล้านบาท ขาดทุน 12 ล้านบาท
จะเห็นว่า ตัวเลขผลประกอบการเริ่มลดลงชัดเจนตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา คาดการณ์ว่า ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เนื่องจากร้านอาหารในเครือ “เอส คอมพานี” เกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์การค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง แม้ในเวลาต่อมาการบริโภคภายในประเทศจะทยอยฟื้นตัวตามลำดับแล้วก็ไม่สามารถต่อลมหายใจให้กับคาเฟ่จากเกาะฮอกไกโดแห่งนี้ได้
- บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ (Baskin Robbins)
เชนไอศกรีมสัญชาติอเมริกันที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 27 ปี ตัดสินใจถอนทัพออกไปอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 โดยสัญญาณการโบกมือลาของ “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” เริ่มเห็นเค้าลางมาตั้งแต่ปี 2563 ที่จำนวนสาขาร้านไอศกรีมลดน้อยลงเรื่อยๆ กระทั่งปี 2565 หน้าร้านไอศกรีม “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” เหลือเพียง 4 สาขาเท่านั้น ได้แก่ สาขาโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สาขาเค วิลเลจ, สาขาสยามพารากอน และสาขาเดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ กระทั่งมีรายงานข่าวออกมาในวันที่ 13 มีนาคม 2566 ว่า “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ปิดตัวลงในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว
“บาสกิ้นส์ ร็อบบิ้นส์ ประเทศไทย” นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย “บริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด” บริษัทลูกที่อยู่ใต้ร่มเครือ “มัด แอนด์ ฮาวด์” หรือ “บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งมีร้านอาหารในเครือมากมาย อาทิ “ดังกิ้น โดนัท” (Dunkin’ Donuts) “โอ บอง แปง” (au bon pain) และร้านตระกูล “ฮาวด์” ทั้งหลาย อาทิ “เกรย์ฮาวด์ คาเฟ่” (Greyhound Cafe’) และ “เกรย์ฮาวด์ คอฟฟี่” (Greyhound Coffee) เป็นต้น
เมื่อย้อนดูผลประกอบการของ “บริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด” พบว่า ขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันนาน 10 ปี โดยมีผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปีล่าสุด ดังนี้
ปี 2561: รายได้รวม 112 ล้านบาท ขาดทุน 9.8 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้รวม 103 ล้านบาท ขาดทุน 10.2 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้รวม 63 ล้านบาท ขาดทุน 10.4 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้รวม 52 ล้านบาท ขาดทุน 7.4 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้รวม 76 ล้านบาท ขาดทุน 2.3 ล้านบาท
มีความเป็นไปได้สูงว่า เหตุผลที่ไอศกรีมเจ้าดังตัดสินใจถอนกำลังออกจากประเทศไทยน่าจะมาจากเรื่องของรายได้และภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ขณะที่แบรนด์คู่แข่งอย่าง “สเวนเซ่นส์” กลับมีรายได้และกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี
- สควีซ บาย ทิปโก้ (Squeeze by Tipco)
รายล่าสุดที่โบกมือลาไทย คือ ร้านน้ำผลไม้ปั่นพรีเมียมที่แตกไลน์ออกมาจาก “ทิปโก้” (Tipco) บริษัทแม่ผู้ผลิตน้ำผลไม้พร้อมดื่มชื่อดัง “สควีซ บาย ทิปโก้” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2547 รวมระยะเวลาทั้งสิ้นเกือบ 20 ปี มีจุดเด่นเป็นเนื้อผลไม้สดใหม่ที่มาพร้อมกับเมนูหลากหลาย ซึ่งหากลูกค้าต้องการ “มิกซ์แอนด์แมตช์” ผลไม้ด้วยตัวเองก็สามารถทำได้เช่นกัน ที่ผ่านมาแม้การตลาดของร้านจะไม่ได้หวือหวามากนักแต่ก็มี “แฟนบอย” ของทางร้านที่รู้สึกเสียดายต่อการตัดสินใจครั้งนี้ หลังจากเฟซบุ๊กเพจ “Squeeze by Tipco” โพสต์ขอบคุณและอำลาด้วยโปรโมชัน “ซื้อ 1 แถม 1” แทนคำขอบคุณตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากเว็บไซต์หลักของแบรนด์ระบุว่า “Squeeze by Tipco” มีทั้งหมด 28 สาขา ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และโรงพยาบาล โดยก่อนหน้านี้ทางร้านได้ทยอยปิดสาขาบางส่วนไปบ้างแล้ว รวมถึงการสั่งผ่านช่องทางเดลิเวอรีก็ไม่สามารถทำได้แล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ “สควีซ บาย ทิปโก้” จะปิดตัวลง “ออกัส ออแกนิก อีทเทอรี” (August Organic Eatery) ร้านอาหารภายใต้การบริหารของ “บริษัท ทิปโก้ รีเทล จำกัด” ได้ปิดตัวลงไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2566 โดยพบว่า ในพอร์ต “ทิปโก้ รีเทล” มีธุรกิจเพียงสองส่วน คือ ร้านอาหาร “ออกัส ออแกนิก อีทเทอรี” และร้านน้ำผลไม้ปั่นพรีเมียม “สควีซ บาย ทิปโก้” จึงมีความเป็นไปได้ว่า การตัดสินใจปิดกิจการร้านอาหารอาจมาจากงบการเงินที่ติดลบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผลประกอบการย้อนหลังของ “บริษัท ทิปโก้ รีเทล จำกัด” มีรายละเอียดดังนี้
ปี 2561: รายได้รวม 168 ล้านบาท ขาดทุน 56 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้รวม 76 ล้านบาท ขาดทุน 74 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้รวม 49 ล้านบาท ขาดทุน 24 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้รวม 50 ล้านบาท ขาดทุน 26 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้รวม 75 ล้านบาท ขาดทุน 56 ล้านบาท
แม้จะคงเหลือไว้เพียงร้านน้ำผลไม้ปั่น แต่ก็ไม่อาจ “ห้ามเลือด” จากภาวะขาดทุนสะสมได้ จนท้ายที่สุด “สควีซ บาย ทิปโก้” ก็มีอันต้องเก็บกระเป๋าโบกมือลาไปอีกราย หลังจากนี้ “ทิปโก้ รีเทล” จะปั้นแบรนด์กลับมาสู้ศึกอีกครั้งหรือไม่คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะจุดแข็งของ “ทิปโก้” คือการเป็นผู้ผลิตที่คร่ำหวอดในสมรภูมิน้ำผลไม้มานานเกือบ 5 ทศวรรษ อีกทั้งยุคสมัยนี้ยังเป็นการมาถึงของเทรนด์รักสุขภาพด้วย จะทำอย่างไรให้สินค้าตอบสนองผู้บริโภคมากที่สุดคงเป็นโจทย์ที่ผู้เล่นในตลาดต้องหาทางไขคำตอบกันต่อไป
อ้างอิง: Bangkokbiznews, Brand Buffet, Creden Data, August Organic Eatery, Food Factors, Baskin Robbins Thailand, PPTV, Squeeze by Tipco