ฐานผลิต ‘Apple’ ทั่วโลกเสี่ยงจมน้ำ
อนาคตบิ๊กเทค “Apple” อาจระส่ำ เหตุพื้นที่ฐานการผลิตเสี่ยงน้ำท่วม-เกิดภัยพิบัติรุนแรง ผู้เชี่ยวชาญชี้ โรงงาน “Apple” สร้างวิกฤติสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ กระทุ้งภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น
Key Points:
- อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั่วโลกตั้งเป้าลดปริมาณการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ “Apple” คือหนึ่งในบริษัทที่ประกาศกร้าวลดการใช้คาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2030 แต่กลับต้องเผชิญกับอุปสรรคในกระบวนการผลิตที่อาจไปไม่ถึงดวงดาว
- สื่อนอกรายงานว่า มีโอกาสที่ฐานการผลิตของ “Apple” จะจมน้ำในอนาคต เนื่องจากที่ตั้งส่วนใหญ่อยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุณหภูมิสูง อากาศแปรปรวน เสี่ยงเกิดน้ำท่วม
- ด้านหนึ่ง “Apple” ก็มีความพยายามลดการใช้พลังงานประเภทถ่านหินและฟอสซิล แต่ก็ต้องยอมรับว่า “Apple” เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรอยเท้าการผลิต มีส่วนทำให้อุณหภูมิในประเทศเหล่านี้เกิดวิกฤติ
วิกฤติภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นยาวนานจนมาถึง “ภาวะโลกเดือด” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่ออุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเริ่มฉายชัดถึงอนาคตที่มนุษยชาติต้องเผชิญ ฤดูกาลแปรปรวนที่ยากจะคาดเดา สภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ จำนวนพืชผลทางการเกษตรที่ลดลงจนทำให้ความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน ทั้งหมดถูกเร่งปฏิกริยาให้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด คือกระบวนการผลิตของภาคเอกชน
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรม คือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “Green house effect” ยิ่งก๊าซหนาแน่นมากเท่าไร อุณหภูมิบนโลกก็ยิ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับ “เตาอบ” มากเท่านั้น นำไปสู่เสียงเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้เร่งปรับตัวเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยมี “Apple” บิ๊กเทคที่มีห่วงโซ่การผลิตกระจายอยู่ทั่วโลกร่วมปักธงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดย “Apple” ยังเรียกร้องให้ซัพพลายเชนที่ทำงานร่วมกันยึดมั่นในกรอบการผลิตดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย
ฟังแล้วก็ดูจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทผู้ผลิตที่มีมูลค่า “Top 5” ระดับโลกตระหนักรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน ภาพของ “Apple” ถูกนำเสนอในฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเพียงไม่กี่แห่งที่กล้าออกมาประกาศกร้าว-ทะเยอทยานที่จะต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยที่ผ่านมา “ทิม คุก” (Tim Cook) ผู้บริหาร “Apple” เสนอแผนต่อสาธารณชนมาตั้งแต่ปี 2015 ว่า บริษัทวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศลง 45 เปอร์เซ็นต์ และภายในปี 2030 อุปกรณ์ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ “Apple” จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เขาให้คำมั่นว่า ภายในปี 2030 “Apple” จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสมบูรณ์แบบ
ในขณะที่บริษัทเดินหน้าสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ พร้อมกันนั้นก็เป็นช่วงเวลาระทึกใจของ “Apple” เช่นกัน เมื่อมีการประเมินจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ถึงอนาคตของวิกฤติสภาพอากาศในภายภาคหน้าว่า บริเวณที่ตั้งของฐานการผลิต “Apple” เป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ปัจจุบัน “Apple” มีโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนกระจายอยู่ 400 แห่งใน 30 ประเทศทั่วโลก ทอดยาวตั้งแต่เทือกเขาแอลป์ ประเทศออสเตรีย จนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ทว่า ภูมิภาคที่มีความหนาแน่นของฐานการผลิตมากที่สุด คือเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการคาดการณ์ว่า เป็นจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสภาพอากาศ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและอุณหภูมิที่สูงขึ้นเร็วที่สุดในโลก
- น้ำท่วมประเทศไทย ศึกหนักในอดีต ทำยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นเร่งปรับตัว
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาทให้กับ “Apple” เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์และชิ้นส่วนอะไหล่คอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วโลก กินสัดส่วนการผลิตมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การส่งมอบ “Macbook” มีความล่าช้า เนื่องจากซัพพลายเออร์ต้องหยุดทำงานชั่วคราว ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น “Apple” คิดหาสารพัดวิธีเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์คล้ายกันในอนาคต พูดกันตามตรงแล้วความพยายามที่ว่าก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาแบบหลวมๆ เท่านั้น เพราะผลลัพธ์ที่ได้ คือห่วงโซ่อุปทานการผลิตของ “Apple” ยังอยู่ที่เดิม และพื้นที่ดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ทว่า ไม่ใช่แค่ “Apple” ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่ยังมีฐานการผลิตยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งในไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องการพึ่งพาการผลิตที่มีต้นทุนต่ำในไทย นับตั้งแต่นั้นมาบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป” ก็ได้ปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์เรื่องระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นจาก 30 วันเป็น 49 วัน โดยมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน ด้าน “Apple” เพิ่มจาก 5 วัน เป็น 11 วัน วิธีการนี้ช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าคงคลังขนาดใหญ่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่ต้องแบกรับมากกว่าเดิมเช่นกัน
- อาเซียน-ไทย กระทบหนักสุด ยักษ์ใหญ่การผลิต คือ “ตัวเร่งโลกร้อน”
นอกจากไทยแล้วประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติรุนแรงด้วย โดยผลสำรวจจาก “บลูมเบิร์ก” ระบุว่า ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือภูมิภาคที่มีผู้ผลิตหนาแน่น นอกจาก “Apple” แล้วยังมียักษ์ไอทีอีกหลายแห่งที่มีฐานผลิตตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น “ซัมซุง” “โซนี่” “เดล” ฯลฯ “บลูมเบิร์ก” ระบุว่า จุดที่ “Apple” สร้างฐานการผลิตขึ้นมา คือจุดที่เสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง ตั้งแต่ภาวะโลกร้อน คลื่นความร้อน น้ำท่วม ไปจนถึงพายุไซโคลน
ส่วนหนึ่งเกิดจากภูมิประเทศเดิมในภูมิภาคเหล่านี้ที่ตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อนและเขตกึ่งร้อน แต่อีกปัจจัยสำคัญที่เป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือประเทศเหล่านี้ล้วนถูกเลือกให้เป็นฐานที่ตั้งการผลิตของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมหาศาล บวกกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่นฐานตามการเติบโตของธุรกิจ ฉะนั้น หากจะพูดว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีส่วนในการสร้าง “Carbon Footprint” ก็คงไม่ผิดนัก
แต่เรื่องนี้ก็มีความสลับซับซ้อนในตัวเองและเป็นปมปัญหาที่ยากจะคลี่คลายได้ เนื่องจากประเทศแถบนี้ไม่มีนวัตกรรมเป็นของตนเอง การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตจึงเป็นวิธีการเดียวที่จะสามารถดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ แม้ว่าท้ายที่สุดแนวคิดดังกล่าวจะสร้างผลกระทบในระยะยาวก็ตาม
- ภาพฝัน “Net Zero” ของ “Apple” ในวันที่ฐานผลิตใช้ถ่านหิน ปล่อยคาร์บอนเข้มข้น
ปัจจุบันประเทศแถบเอเชียยังมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวสูงกว่าโซนยุโรปตะวันตก ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตในห่วงโซ่ของ “Apple” ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ “Apple” ทราบดี โดยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2022 บริษัทเรียกร้องให้บรรดาซัพพลายเออร์เดินตามนโยบายสีเขียวของตนสู่การใช้พลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2030 แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศเหล่านี้ยังคงใช้พลังงานในการผลิตด้วยถ่านหินและฟอสซิลเป็นหลัก การผลิตในประเทศจีนและอินโดนีเซียใช้ถ่านหินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และในอินเดียฐานผลิตสำคัญที่ “Apple” ตั้งเป้าให้เป็นโรงงานเรือธงก็มีสัดส่วนการใช้พลังงานจากถ่านหินมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์
แม้ฝั่งยุโรปจะเหยียบคันเร่งผลักดันให้โรงงานทั่วโลกงดเว้นการใช้เชื้อเพลิงที่มีความเข้มข้นของปริมาณคาร์บอนสูงผ่านการกำหนดเกณฑ์เสียภาษีนำเข้า โดยหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้คาร์บอนเครดิตสูงก็จะมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าการใช้พลังงานสีเขียว นี่คือโจทย์ยากของ “Apple” เพราะการเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานแถบเอเชียต้องใช้ต้นทุนในการยกเครื่องเครือข่ายทั้งระบบ
วิธีการที่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ใช้เรียกว่า “Carbon Leakage” คือการตั้งฐานการผลิตในประเทศที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมปริมาณคาร์บอน ความลักลั่นของบรรดาบิ๊กในตลาดทั้งหลายจึงอลหม่านไม่น้อย มุมหนึ่งก็ต้องการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพราะส่งผลกระทบกับบริษัทโดยตรง แต่การไปให้ถึงปลายทางพลังงานสะอาดก็มีราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อยเช่นกัน
“Apple” กับการเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 จะหาวิธีออกแบบระบบการผลิตที่ตอบโจทย์เม็ดเงินและความมั่นคงขององค์กรได้อย่างไร และต้องพิสูจน์ตัวเองอีกหรือไม่ว่า การทำงานขององค์กรมีส่วนในการสร้างหายนะให้กับโลกในอนาคตด้วย
อ้างอิง: Bloomberg 1, Bloomberg 2, Bloomberg 3, Thai Publica