วิเคราะห์ตลาดน้ำมันโลก จะเป็นไปในทิศทางใด?

วิเคราะห์ตลาดน้ำมันโลก จะเป็นไปในทิศทางใด?

หลังจาก Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนต่างวิตกกังวล ว่าจะเกิดการเทขายสินทรัพย์รวมถึงน้ำมัน แนวโน้มตลาดน้ำมันโลกจะเป็นอย่างไรมาร่วมวิเคราะห์ได้จากบทความนี้

ก้าวเข้าสู่ปี 2566 ราคาน้ำมันดิบ ทรงตัวในระดับที่ไม่สูงเกินไปนัก แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังดำเนินต่อเนื่องขึ้นสู่ปีที่ 2 และจีนกลับมาเปิดประเทศ ซึ่งทำให้แนวโน้มการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีผลต่อราคาน้ำมัน มิใช่แค่ปัจจัยพื้นฐานทางด้านการผลิตหรือการใช้น้ำมันเท่านั้น หากยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจการเงินซึ่งเชื่อมโยงกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ซึ่งขณะนี้นักลงทุนต่างวิตกต่อนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ว่าหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างหนักและนานกว่าที่ประเมินไว้ จะทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงน้ำมัน 

ตั้งแต่ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบันราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ยังไม่เคยเคลื่อนไหวเหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งถ้าเทียบกับปีที่แล้วที่ราคาสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กินระยะเวลาถึงครึ่งปี (มีนาคม 2565 ถึง สิงหาคม 2565) ทั้งยังมีช่วงที่ทะยานขึ้นไปแตะ 128 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้วยซ้ำ

ประเด็นสำคัญคือ น้ำมันดิบรัสเซียมิได้หายไปจากตลาดอย่างที่วิตกกันในตอนแรก โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา รัสเซียผลิตน้ำมันดิบ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่แตกต่างจากช่วงก่อนเกิดสงคราม

ตั้งแต่ 5 ธันวาคม 2565 สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าน้ำมันดิบทางเรือจากรัสเซีย (แต่ยกเว้นให้นำเข้าทางท่อได้) นอกจากนี้ยังร่วมกับกลุ่มชาติมหาอำนาจ G7 และออสเตรเลียตั้งเพดานราคาน้ำมันดิบทางเรือจากรัสเซีย โดยห้ามบริษัทเรือขนส่ง ประกันภัย บริการทางเงินของกลุ่มประเทศดังกล่าวไปดำเนินงานให้การทำธุรกรรมและขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียหากราคาเกินกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาดโลก (ICE Brent) ที่อยู่ราว 70-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัสเซียสามารถหาลูกค้าในเอเชียได้ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับเป็นการเปลี่ยนเส้นทางการค้า (Trade Flow) ที่สำคัญของวงการน้ำมัน ทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันของรัสเซียและโดยรวมในตลาดโลก แม้ล่าสุดรัสเซียจะประกาศลดการผลิตสำหรับเฉพาะเดือนมีนาคม 2566 ปริมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญต่อตลาดนัก

ฝ่าย OPEC และพันธมิตร (ที่มีรัสเซียรวมอยู่ด้วย) ประคองราคาด้วยการตรึงปริมาณการผลิต ณ 40.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 ไปจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ รวมถึงผลิตต่ำกว่าโควต้าอีกประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หนุนให้ราคารักษาระดับอยู่บริเวณ 70-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ด้านการใช้น้ำมัน แม้จีนจะยุตินโยบายการควบคุมโควิด-19 เข้มงวด แล้วกลับมาเปิดประเทศเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นมา แต่ต้องใช้เวลาสักระยะในการฟื้นตัว ดังเห็นได้จากการนำเข้าน้ำมันดิบในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 ที่ลดลง 1.3 แสนบาร์เรลต่อวันจากปีก่อน มาอยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม การนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจ

สัญญาณเศรษฐกิจจีนดีขึ้นชัดเจน ตัวเลข PMI การผลิต (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ซึ่งทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนใช้ชี้วัดภาวะเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมรายเดือน) ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ของจีนสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ (52.6 จุด) สะท้อนภาพการขยายตัวขึ้น

ทั้งนี้ ปี 2565 การใช้น้ำมันของจีนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ อย่างไรก็ตามในปี 2566 ทาง ปตท. คาดการณ์ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5-1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การเติบโตของการใช้น้ำมันของจีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้การใช้น้ำมันโลกเพิ่มขึ้นกลับไปแตะระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 อุปสงค์น้ำมันโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 102 ล้านบาร์เรลต่อวัน

คาดว่าไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปีนี้ อุปสงค์น้ำมันโลกน่าจะกลับไปแตะ 102 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจาก เศรษฐกิจจีน กลับมาแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่อุปทานน้ำมันเพียงพอรองรับความต้องการใช้ จากอุปทานรัสเซียยังมีอยู่ในตลาด รวมถึงการผลิตจากสหรัฐก็เพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันไม่น่าจะแกว่งตัวรุนแรงมากนักในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เว้นแต่ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น การยกระดับของสงคราม หรือในทางตรงข้าม หากเจรจาสงบศึกยุติสงคราม รวมถึงวิกฤติภาคการเงินและการธนาคารที่แพร่กระจายอาจส่งผลให้ราคาลดลงรุนแรง

ประเด็นความเสี่ยงว่าจะเกิดวิกฤติธนาคาร ทั้งจาก Silicon Valley Bank (SVB), Signature Bank และ Silvergate Bank ในสหรัฐและ Credit Suisse ของยุโรป ทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาอุ้มและเสริมสภาพคล่องให้ระบบธนาคาร ทำให้สถานการณ์อาจไม่บานปลายเท่าวิกฤติ Lehman Brothers อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ของ ปตท. คาดว่าตลาดและราคายังคงกดดันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หากแต่รอแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันจีนที่ฟื้นตัวส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงหลังของปี 2566

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)