“ททท.” คงเป้ารายได้รวมท่องเที่ยวปี 66 เท่าเดิม 2.38 ล้านล้านบาท

“ททท.” คงเป้ารายได้รวมท่องเที่ยวปี 66 เท่าเดิม 2.38 ล้านล้านบาท

“ททท.” คงเป้ารายได้และนักท่องเที่ยวปี 2566 ไว้เท่าเดิม 2.38 ล้านล้านบาท ต่างชาติเที่ยวไทย 30 ล้านคน ไทยเที่ยวไทย 135 ล้านคน-ครั้ง แม้ “ครม.” อนุมัติงบกระตุ้นเพิ่มให้ 3,946 ล้านบาท แจงเพราะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอยู่แล้ว พร้อมนำงบมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการของไทย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้บริหารของ ททท.เป็นการภายใน ได้ข้อสรุปว่าจะ “คงเป้าหมาย” สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ไว้เท่าเดิมคือ 2.38 ล้านล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน สร้างรายได้  1.5 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 880,000 ล้านบาท

แม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,946 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงิน 2,016 ล้านบาท และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย 1,930 ล้านบาท เนื่องจาก ททท.เห็นว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ท้าทายอยู่แล้ว ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อที่นำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ดังนั้น นอกจากการสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ททท.จะใช้งบฯที่ได้รับมาเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อก้าวสู่การเป็นการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงและยั่งยืน จากนี้ไปจะไม่ให้ความสำคัญเฉพาะด้านอุปสงค์หรือความต้องการของนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเพิ่มน้ำหนักในการบูรณาการปรับด้านอุปทาน ได้แก่ อาหารและที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ให้สอดรับกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ 

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การที่ ททท.มาเพิ่มน้ำหนักในด้านอุปทาน เพราะแม้จะประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับมาอย่างรวดเร็ว แต่แหล่งท่องเที่ยวและบริการของไทย ตอนนี้กลับ “ทรงอย่าง BAD” ประกอบด้วย

B : Backing to normal กลับมาสู่ปกติ แต่เหมือนจะเป็นรูปแบบเดิมๆ เช่นก่อนโควิด

A : Accelerated Speed อย่างรวดเร็ว จนด้านอุปทานปรับตัวไม่ทัน

D : Development is badly needed

ฉะนั้น หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เป็นการเป็นการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงและยั่งยืน จำเป็นต้องสร้าง “ความมั่นคงทางการท่องเที่ยว” (Tourism Security) ให้กับประเทศ โดยหันมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านอุปทาน บนพื้นฐานของคุณภาพและความยั่งยืน ดูแลรักษาและปกป้องคุ้มครองโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวสำคัญและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความสี่ยงภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ความสี่ยงภายนอก คือ ความเสี่ยงที่เราไม่สามารถป้องกันให้เกิดขึ้นได้ เหนือการควบคุม มิอาจจัดการได้ เช่น ภัยธรรมชาติ ความวุ่นวายทางการเมือง และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก

ภายใต้เป้าหมายของการเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Goals (STGs)  จะมีเป้าหมายที่ต้องดำเนินการ ทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย เช่น แก้ไขความยากจนในพื้นที่ได้ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและห้องน้ำสะอาด การผลิตพลังงานสะอาด การลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาบุคลากรด้านท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน การสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว การร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งต่อไป ททท.จะมีการให้ดาวกับผู้ประกอบการ 

หากผู้ประกอบการสามารถดำเนินการหรือมีส่วนร่วมในการบรรลุ STGs ได้ 3 STGs จะได้ 1 Star (หนึ่งดาว) หากผู้ประกอบการสามารถดำเนินการหรือมีส่วนร่วมในการบรรลุ STGs ได้ 6 STGs จะได้ 2 Stars (สองดาว) และผู้ประกอบการสามารถดำเนินการหรือมีส่วนร่วมในการบรรลุ STGs อย่างน้อย 10 STGs จะได้ 3 Stars (สามดาว) 

“ททท.จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับเลื่อนดาวภายใต้โครงการ STAR เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้มากยิ่งขึ้นด้วย”