ถอดรหัส “แจ็คหม่า-ธนินท์” จับตาบิ๊กดีล หลังเจอกัน 2 ครั้งในรอบ 1 เดือน

ถอดรหัส “แจ็คหม่า-ธนินท์” จับตาบิ๊กดีล หลังเจอกัน 2 ครั้งในรอบ 1 เดือน

จับตาความเคลื่อนไหว 2 เจ้าสัว “แจ็คหม่า-ธนินท์” เจอกัน 2 ครั้ง ในรอบ 1 เดือน หุ้นเจียไต๋ในตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้นทันที 251% คาดเจรจาธุรกิจร่วมกัน เผยแจ็คหม่าลงทุนไทย 4 กลุ่มธุรกิจ วงการธุรกิจมองกลยุทธ์แจ็คหม่า เลือกขยายลงทุนในประเทศพันธมิตรจีน จับตาเพิ่มลงทุนในอีอีซี

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ “แจ็ค หม่า” เจ้าของอาลีบาบา ที่ประเทศไทยเมื่อต้นเดือน ม.ค.2566 ถูกจับตามองถึงความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทั้งในประเด็นที่ แจ็ค หม่า ทำตัวโลว์โฟร์ไฟล์ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเป็นไปได้ในการมาเจรจาธุรกิจในไทย โดยเฉพาะการที่มีภาพถ่ายร่วมกับนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นผู้ดูแลธุรกิจของซีพีในประเทศจีน เช่น Chia Tai Enterprises International Limited ,C.P.Lotus Corporation ,Shanghai Kinghill ,Super Brand Mall

หลังจากนั้นมีรายงาน แจ็ค หม่า และนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้มีการพบกันในช่วงตรุษจีนที่ฮ่องกง รวมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

การพบกันที่ฮ่องกง ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Chia Tai Enterprises International Limited บริษัทในเครือซีพีพุ่งขึ้นกว่า 200% โดยราคาหุ้นเจียไต๋ทะยานขึ้น 251.88% ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี หลังฮ่องกง อิโคโนมิก ไทม์ส รายงานว่านายธนินท์ พร้อมบุตรชายได้พบกับ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบา ที่ฮ่องกงในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยคาดว่าทั้ง 2 ฝ่าย มีการหารือเกี่ยวกับการลงทุนธุรกิจร่วมกัน

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า แจ็คหม่า และนายธนินท์ รู้จักกันมานาน โดยที่ผ่านมาเคยพบกันหลายครั้ง รวมถึงการเดินทางมาไทยในช่วงต้นเดือน ม.ค.2566 ก็ได้มีการพบกับนายธนินท์และผู้บริหารของซีพีหลายคน

แหล่งข่าวจากซีพี กล่าวว่า นอกจากการพบกันระหว่างแจ็คหม่ากับนายธนินท์ที่กรุงเทพฯแล้ว ยังมีการพา แจ็คหม่า ไปดูกิจการในเครือซีพีหลายแห่งในไทยด้วย เช่น โรงงานแปรรูปอาหาร

"แจ็ค หม่า"ลงทุนธุรกิจ4กลุ่มในไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรใหญ่ “อาลีบาบา” มีธุรกิจในไทยจากการลงทุนของ “กลุ่มอาลีบาบา” แบ่งออกได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 

1.กลุ่มการเงิน โดยบริษัท แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) หรือชื่อเดิมคือ “Ant Financial Services Group” เป็นพาร์ทเนอร์ และผู้ถือหุ้นใน บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money Group) บริษัทฟินเทคของกลุ่มซีพี ภายใต้บริการ ทรู มันนี่

รวมทั้งปัจจุบัน ทรู มันนี่ นับได้ว่าเป็นบริษัทฟินเทคชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำเสนอนวัตกรรมในการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางการเงินอันหลากหลาย ครอบคลุม 7 ประเทศในภูมิภาคฯ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย มีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านราย ผ่านแอปพลิเคชันทรูมันนี่ วอลเล็ทและเครือข่ายตัวแทน (ศูนย์ TrueMoney) จำนวนกว่า 88,000 แห่งใน 7 ประเทศ

ปัจจุบันทรู มันนี่ นับเป็นแอปโมบาย วอลเล็ท เบอร์ 1 ของไทยที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 26 ล้านราย

ขณะที่แอสเซนด์ มันนี่ ยังได้ชื่อว่าเป็น ยูนิคอร์น อีกตัวของไทย หลังได้รับเงินลงทุน Series C มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทในปัจจุบันทะลุ 1.5 พันล้านดอลลาร์

บริษัท แอนท์ กรุ๊ป เป็นเจ้าของแอปดังอย่าง อาลีเพย์ (Alipay)ซึ่งเป็นแอปชำระเงิน และศูนย์รวมบริการออนไลน์ของคนจีน ซึ่งนอกจาก อาลีเพย์ แล้ว แอนท์ กรุ๊ป ยังมีบริการด้านการเงินแบบครบวงจร เช่น ให้สินเชื่อรายบุคคล และกลุ่มเอสเอ็มอี บริการด้านการลงทุน ธนาคารออนไลน์ ฯลฯ ด้วย ซึ่งธุรกิจทั้งหมดในเครือ แอนท์ กรุ๊ป ก็เพื่อสนับสนุนธุรกิจของ อาลีบาบา กรุ๊ปในแง่ของบริการและโครงสร้างระบบการเงินทั้งหมด

2.ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยอาลีบาบายังเป็นบริษัทแม่ และเป็นแบคอัพสำคัญให้กับแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสชื่อดังในเอชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเบอร์ใหญ่ในไทยอย่าง “ลาซาด้า” ที่มีรายได้รวมปี 2565 อยู่ที่กว่า 2 หมื่นล้านบาท

3.ธุรกิจคลาวด์ โดยอาลีบาบา คลาวด์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ อาลีบาบา ปักหมุดลงทุนในไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ที่ผ่านมา อาลีบาบาคลาวด์ มีแผนเข้ามาเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนงานครอบคลุม ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การทำงานร่วมกับพันธมิตร และการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรไทย

อาลีบาบา คลาวด์​ ยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ “ทรูบิสิเนส” รุกเรื่องการทรานสฟอร์มภาคธุรกิจไทยสู่ดิจิทัลผ่านบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ (IaaS) รวมถึงยังได้ร่วมทุนกับ ทรู ไอดีซี ที่ให้บริการด้านคลาวด์ในไทยด้วยขณะที่ ล่าสุด อาลีบาบา ยังเป็นแบคอัพของกลุ่มทุนใหญ่ภายใต้ชื่อ “กลุ่มeWTP capital”​ที่เพิ่งเข้าไประดมทุนรอบล่าสุดในบริษัทแฟลช เอ็กซ์เพรส อีกหนึ่งยูนิคอร์นด้านขนส่งพัสดุโลจิสติกส์รายใหญ่ของไทยด้วย

4.ธุรกิจโลจิสติกส์ โดยมีการพัฒนาคลังสินค้า ในพื้นที่ของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ที่ จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งมีการร่วมลงทุนใน แฟลช เอ็กซ์เพรส ในนาม กลุ่ม eWTP Capital และมีการเปิด Digital Free-Trade Zone ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“ซีพี-แจ็คหม่า”หนุนธุรกิจกัน

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การเดินทางมาเยือนไทยดังกล่าวสามารถมองในเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ทั้งในมุมของอาลีบาบาและในมุมของซีพี โดยปัจจุบันธุรกิจของแจ็ค หม่า และธุรกิจของซีพี ได้มีการร่วมมือเป็นพันธมิตรหลายโครงการ เช่น Ant Group , อาลีบาบา คลาวด์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ซีพีอาจจะมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับแจ็ค หม่า เพิ่มเติม

สำหรับกลยุทธ์ของ แจ็ค หม่า ในการไปลงทุนทุนต่างประเทศมองได้ว่าจะเลือกลงทุนในประเทศที่ไม่มีข้อขัดแย้งกับประเทศจีน ดังนั้น การเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี เพราะประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับประเทศจีน รวมทั้งการมาลงทุนในต่างประเทศควรจะมีพันธมิตรในประเทศนั้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วจะมีบริษัทไทยเข้าร่วมด้วย

ส่วนกลยุทธ์ของซีพีในการดึงแจ็คหม่าเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรจะทำให้โครงการลงทุนในอีอีซีของกลุ่มซีพีน่าสนใจเพิ่มขึ้น โดยการที่ แจ็ค หม่า มีฐานธุรกิจบางส่วนอยู่ในอีอีซี อาจทำให้แจ็ค หม่า มองโอกาสการลงทุนในอีอีซีเพิ่มเติม โดยถ้าพิจารณาธุรกิจของซีพีในอีอีซีจะมีหมายธุรกิจ เช่น การลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ผ่านบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ที่กลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

รวมทั้งมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งโครงการส่วนตัวของคนในตระกูลเจียรวนนท์ เช่น นางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ประธานกรรมการบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บุตรสาวคนเล็กของนายธนินท์ รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของซีพี เช่น บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่มีโครงการนิคมอุตสาหกรรมและโรงแรมในอีอีซี

แหล่งข่าว กล่าวว่า ซีพี มีแผนที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอีอีซีมานาน โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะเชื่อมกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงและรองรับความต้องการในอนาคต โดยการดึงแจ็คหม่าเข้ามาเป็นพันธมิตรจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนโครงการของซีพีให้น่าสนใจในสายตาชาวต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งการที่ แจ็ค หม่า มีชื่อเสียงในหมู่คนรุ่นใหม่ของชาวจีนย่อมส่งผลต่อการทำการตลาดกลุ่มนี้