เศรษฐกิจขึ้น-ลง โอกาสทอง ‘เชฎฐ์’ บริหารจัดการ-ทวงหนี้ หนุนเติบโต

เศรษฐกิจขึ้น-ลง โอกาสทอง ‘เชฎฐ์’  บริหารจัดการ-ทวงหนี้ หนุนเติบโต

นับวันคนไทยเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจบริหารจัดการหนี้ ติดตามทวงหนี้เติบโต จับตาผลกระทบโควิด หนี้เสียทะลักปีหน้า โอกาส "เชฎฐ์" เร่งเบ่งพอร์ต เจาะแผนหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขายหุ้นไอพีโอ 562 ล้านหุ้น ลุยซื้อหนี้เสียปีละ 1,000 ล้าน พร้อมรุกหนักเอเอ็มซี

เมื่อเร็วๆนี้ แม่ทัพใหญ่ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ประกาศแผน นำทัพองค์กรสร้างการเติบโต ดันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปทะยานสู่ “แสนล้านบาท” ภายใน 3 ปี มีกลยุทธ์สำคัญผลักดันบริษัทในเครือ และที่มีการเข้าไปลงทุนถือหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนขยายธุรกิจ

หนึ่งในบริษัทที่ “อาร์เอส” เข้าไปลงทุน และเตรียมเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก(ไอพีโอ)จำนวน 562 ล้านหุ้น คือ “เชฎฐ์ เอเชีย” ผู้มีประสบการณ์บริหารจัดการ ติดตามทวงหนี้กว่า 25 ปี

จิ๊กซอว์การเติบโตหลังจากนี้ จะเป็นอย่างไร “ประชา ชัยสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE ฉายภาพว่า ธุรกิจการบริหารจัดการหนี้ครบวงจร การติดตามทวงหนี้ ถือว่ามีโอกาส “เติบโต” ไม่ว่าจะเผชิญเศรษฐกิจ “ขาขึ้น” หรือ “ถดถอย”

“บริหารจัดการหนี้ ติดตามหนี้เป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ แต่เสน่ห์ของธุรกิจนี้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ธุรกิจสามารถอยู่ได้ โดยเศรษฐกิจ ธุรกิจดี คนมีหนี้น้อย ทวงหนี้ได้ไม่ยาก แต่เศรษฐกิจไม่ดี อย่างเกิดวิกฤติโควิด หนี้เสียมาก เก็บเงินลูกหนี้ยาก แต่มีโอกาสรับหนี้เข้ามาบริหารจัดการมากขึ้น”

ด้านความเสี่ยง ธุรกิจการบริหารจัดการหนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพื่อ “สต๊อกหนี้” ทำให้ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายน้ำไฟ เหมือนกับการซื้อสินค้ามาสต๊อกไว้ ซึ้งมีความเสี่ยง

เศรษฐกิจขึ้น-ลง โอกาสทอง ‘เชฎฐ์’  บริหารจัดการ-ทวงหนี้ หนุนเติบโต ส่วนสถานการณ์ “หนี้เสีย” หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)หลังวิกฤติโควิด ยอมรับว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้น โดยปี 2564 อัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์มากถึง 5.31 แสนล้านบาท จากก่อนหน้าอยู่ระดับ 4 แสนล้านบาท และคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องทยอยขายหนี้เสียออกมาหลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบของโรคโควิดในช่วงสิ้นปี 2565 ทำให้เป็นโอกาสในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

โควิดทำให้เกิดอุบัติเหตุเอ็นพีแอลสูงมาก หนึ่งในภาพสะท้อนคือธนาคารพาณิชย์มีการตั้งสำรองเงินมากขึ้นหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 62 บางกลุ่มชำระหนี้ได้ พอเกิดโรคระบาด มีการพักชำระ ชะลอหนี้ ทำให้เอ็นพีแอลยังไม่ไหล แต่คาดว่าปี 2566 เอ็นพีแอลจะทะลัก”

 สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นหนี้ค่อนข้างมาก อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โรคระบาด แต่เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามา ส่งผลบวกต่อการติดตามทวงหนี้ปรับตัวดีขึ้น และคาดการณ์ปลายปี 2566 การบริหารจัดการหนี้จะเทคออฟด้วย

อย่างไรก็ตาม เชฎฐ์ฯ มีธุรกิจหลักคือให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน(Collection) และบริการจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ(AMC) หลังการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทวางแผนสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ ดังนี้ 1.ขยายพอร์ตเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอล เบื้องต้นจะลงทุนซื้อเอ็นพีแอลประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2567 วางเป้าหมายซื้อพอร์ตเอ็นพีแอล 2,250 ล้านบาท

“บริษัทจะพิจารณาการเข้าลงทุนอย่างรอบคอบ และเน้นการลงทุนในอัตรากำไรที่ดี”

2.เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ผ่านระบบอัตโนมัติ 3.พัฒนาและขยายทีมติดตามทวงหนี้และเร่งรัดหนี้สิน 4.สร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินต่าง ๆ และ5.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการและเพิ่มช่องทางการสื่อสาร

เศรษฐกิจขึ้น-ลง โอกาสทอง ‘เชฎฐ์’  บริหารจัดการ-ทวงหนี้ หนุนเติบโต สำหรับผลการดำเนินงานบริษัท ปี 2562 – 2564 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 10.8% รายได้หลักมาจากธุรกิจบริหารหนี้เสีย 60% และธุรกิจติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินราว 34% ส่วนรายได้ 9 เดือนปี 2565 อยู่ที่ 516.14 ล้านบาท กำไรสุทธิ 121.9 ล้านบาท

“ประชา” รุกธุรกิจบริหารจัดการ ติดตามทวงหนี้กว่า 25 ปี แต่สั่งสมประสบการณ์ในวงการกว่า 30 ปี พบพฤติกรรม “ลูกหนี้” มี 2-3 ประเภท เช่น ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย และดื้อ ไม่ยอมจ่าย ฯ แต่การทำธุรกิจดังกล่าว ยืนยันว่า “การเป็นหนี้ ย่อมระงับด้วยการจ่ายหนี้” ไม่จ่ายวันนี้ ต้องจ่ายพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า ฯ ที่ผ่านมา การติดตามทวงหนี้บางรายยากลำบากใช้เวลาเป็น “สิบปี” ซึ่งในการทำงานบริษัทเคยสร้างคอมมิชชั่นได้สูงถึง 30% แต่อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 21.6%

“มองว่า เชฎฐ์ฯ ไม่มีคู่แข่ง หากเปรียบธุรกิจเหมือนคนหาปลาผมหาปลาในบ่อผม ไม่มีคนมาทวงหนี้บัญชีนี้แข่งกับเรา ส่วนภารกิจปี 2567 บริษัทพร้อมแล้วที่จะก้าวออกไปลุยบริการจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ”

สำหรับ CHASE การเสนอขายหุ้นไอพีโอจะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้