‘ข่าวเด่น’ ปี 2565 เมื่อบริบทโลกเปลี่ยน เศรษฐกิจทั้งโลก ‘วิกฤติ’

‘ข่าวเด่น’ ปี 2565 เมื่อบริบทโลกเปลี่ยน  เศรษฐกิจทั้งโลก ‘วิกฤติ’

ปี 2565 เป็นปีที่ทั้งโลกเจอมรสุมวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแสนสาหัส เกิดเรื่องราวมากมายในรอบ 365 วััน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ “กรุงเทพธุรกิจ” คัดข่าวเด่นที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ และบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป

1. วิกฤติเศรษฐกิจโลก -ศึกรัสเซีย ยูเครน -วิกฤติพลังงาน - ตลาด 'คริปโท' พัง

ปี 2565 ที่กำลังจะผ่านไป เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 หลังเกิดการระบาดครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2563 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวได้ 3.1% ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 4% แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นจากโควิด แต่ถือว่าปีนี้ เศรษฐกิจโลกเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความผันผวน และความไม่แน่นอน

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก คือ “สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน” ที่กระทบไปถึงราคาพลังงานที่สูงเกินบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ “รัสเซีย” เป็นผู้ผลิต 1 ใน 3 ของโลก หลังรัสเซียระงับส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อก๊าซนอร์ดสตรีมเดือน ก.ย.2565 หลายประเทศในยุโรปที่นำเข้าก๊าซจากรัสเซียเผชิญความเสี่ยงด้านการขาดแคลนพลังงาน นำมาซึ่งผลกระทบราคาน้ำมันในไทยด้วย ไทยขยับเพดานราคาดีเซลขายปลีกจาก 30 บาท ที่ใช้มานับ 10 ปี ขึ้นเป็น 35 บาท

ราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อสูง เป็นประวัติการณ์โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มจาก 4.7% ในปี 2564 เป็น 8.8% ในปี 2565 ก่อนจะลดลงเป็น 6.5% ในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นสูงสุดรอบ 41 ปี อังกฤษและสหรัฐเผชิญเงินเฟ้อสูงสุดรอบ 40 ปี เพราะราคาพลังงานสูงขึ้นมากเพราะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องปรับนโยบายการเงินขนานใหญ่ โดยเฉพาะเฟด ที่ขึ้นดอกเบี้ยขึ้นถึงระดับ 4.5% ส่วนอังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 3.5% ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นมาอยู่ที่ 6.25% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนภาคธุรกิจในการกู้ยืมและชำระเงิน

ปี 2565 ยังเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโดยเศรษฐกิจจีนใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้เผชิญผลกระทบจากนโยบาย Zero Covid ขณะเดียวกันมีปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์

ปีนี้เรียกได้ว่า เป็นปีแห่งมรสุมตลาดคริปโทฯ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ปี 2565 เผชิญมรสุมรุนแรงต่อเนื่องมาจากท้ายปี 2564 โดยหลังจาก Bitcoin (BTC) ทำออร์ไทม์ไฮ ที่ราคา69,000 ดอลลาร์ หรือ2.4 ล้านบาท เมื่อ10 พ.ย.2564 หลังจากนั้นตลาดคริปโทพบขาลงขนาดใหญ่ต่อเนื่องตลอดปี 2565

2. เบี้ยวค่าหุ้นMOREสะเทือนตลาดทุนไทย

“หุ้น MORE” หรือ บมจ.มอร์ รีเทิร์น นับเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย สร้างความเสียหายอย่างมากแก่วงการตลาดทุนไทย โดยธุรกิจหลักทรัพย์(โบรกเกอร์) จากที่ผู้ซื้อหุ้น MORE จำนวน 1,500 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ผิดนัดชำระค่าซื้อหุ้น ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแก่โบรกเกอร์ที่เป็นฝั่งซื้อกว่า 10 แห่ง ต้อง “ควักเงิน” ของบริษัทออกมาจ่ายให้กับผู้ขายหุ้น

ขณะที่ผู้ถือหุ้นตื่นตกใจ แห่เทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นร่วงหนักติดฟลอร์ จากราคาปิด ณ วันที่ 9 พ.ย.2565 อยู่ที่ 2.78 บาท เหลือเพียงราว 0.30 บาท (27 ธ.ค.) ข้อมูล พบว่า มีผู้ซื้อรายเดียวเข้าไปซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าว โดยเปิดบัญชีกับโบรกกว่า 10 แห่ง เพื่อได้วงเงินจำนวนมากในการเข้าซื้อหุ้น MORE

สำหรับโบรกเกอร์ที่ได้รับผลกระทบมาก จนถูกคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.)สั่งหยุดประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว คือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์  ส่วนการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีหุ้น MORE สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และโบรกเกอร์ อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ

3.ปลดล็อกโควิด-19สู่โรคเฝ้าระวัง

กว่า 3 ปีที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กระทบต่อการสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประเทศไทยนับแต่มีรายงานผู้ป่วยรายแรกเมื่อ ม.ค.2563 ก็เกิดการระบาดต่อเนื่องหลายระลอก ตามสายพันธุ์ไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ อู่ฮั่น อัลฟา เดลตา โอมิครอน จนถึงโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ข้อมูล ณ 24 ธ.ค.2565 ไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อสะสม 2,498,373 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 11,896 ราย และมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 150 ล้านโดส

เมื่อมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคมากขึ้น บวกกับประชาชนมีภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อธรรมชาติและการได้รับวัคซีนในอัตราครอบคลุมที่สูง ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 กระทรวงสาธารณสุข (สธ. )จึงลดระดับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นเพียงโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง

4.“แบงค็อก โกลส์” คัมภีร์ฟื้นเศรษฐกิจเอเปค

ไทยเป็นเจ้าภาพจัด ประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปค) ครั้งที่ 29 ที่กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ที่ประสบความสำเร็จโดยมีผู้นำสมาชิกเอเปค 21 เขตที่เป็นทั้งมหาอำนาจโลกและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเข้าร่วม และเห็นพ้องนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 พร้อมรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปี ค.ศ. 2022และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG

ไทยสามารถผลักดันให้เอเปคทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทหลังโควิด-19โดยมีแผนงานการขับเคลื่อนการหารือให้ต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ. 2023- 2026

5.บิ๊กคอร์ประดับโลกปลดคนครั้งใหญ่รอบหลายปี

ปี 2565 เป็นปีแห่งการโละพนักงานของบริษัทชั้นนำโลกอย่างแท้จริง เริ่มจาก “อูเบอร์”ที่ปลดพนักงานราว 3,700 คน ตามมาด้วย “แอร์บีแอนด์บี” เลิกจ้างพนักงานเกือบ 1,900 คน หรือประมาณ 25% ของพนักงานทั้งหมด

อเมซอน ดอท คอม ลดพนักงาน 3% หรือประมาณ 10,000 คน จากพนักงานทั่วโลกที่มีมากกว่า 1 ล้านคน และ“ทวิตเตอร์” ที่ยืนยันปลดพนักงานราว 3,700 คน หรือ 50% รวมไปถึงแผนกคัดกรองเนื้อหาอันตรายบนแพลตฟอร์ม ด้าน Shopee, Shopify, Stripe และ Lyft ก็เลิกจ้างประมาณ 10,000 คน ขณะที่เมตา ปลดพนักงาน 11,000 คน

ส่วนค่ายรถหรูอย่าง“โรลส์-รอยซ์ โฮลดิงส์” ก็ลดพนักงาน 15% เช่นเดียวกับบริษัทในอุตสาหกรรมการบิน อย่าง“ไอเอจี” บริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ก็ลดพนักงาน 12,000 ตำแหน่ง

6.โควิดสะเทือนธุรกิจประกันปิดตัวอื้อ

หลังจากที่ยอดติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2563-2565 กระทบต่อฐานะการเงินมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินของบริษัทประกันภัยที่ส่วนใหญ่จะรับประกันแบบ “เจอ จ่าย จบ” ส่งผลให้ 3 บริษัทประกันปิดกิจการตามกันมาติด โดย“เอเชียประกันภัย”ประเดิมรายแรก เมื่อ 15 ต.ค. 2564 และต่อมา 13 ธ.ค. 2564 “เดอะวันประกันภัย”โบกมือลาไปอีกราย

จากนั้น 26 ม.ค. 2565 “อาคเนย์ประกันภัย” ภายใต้ร่มเงา“เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ต้องจำใจปิดตัว หลังควักเงินพยุงกิจการเกือบ 1 หมื่นล้านบาทแต่ก็เอาไม่อยู่ สุดท้ายยอดเคลมโควิดทั้งระบบ 3 ปี พุ่งแตะ “แสนล้าน” และกองทุนประกันวินาศภัย เข้าแบกรับภาระจ่ายเคลมบริษัทปิดกิจการ ยอดเคลมล่าสุดแตะ 6 หมื่นล้านบาท

ส่วนบริษัทที่เริ่มได้รับผลกระทบ คือ “สินมั่นคงประกันภัย” เดือนก.ค. 2564 ออกมาประกาศหยุดรับคุ้มครองประกันประเภทนี้กลางคันแต่สุดท้ายก็ถูก คปก. สั่งเบรก และให้กลับมาคุ้มครองตามเดิมทำให้บริษัทมีหนี้สินล้น

7.‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำจีนวาระ 3

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 เมื่อกลางเดือน ต.ค. เป็นการประชุมที่ทั้งโลกจับตา การครองตำแหน่งในพรรคเป็นไปตามคาด คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนรับรอง ‘สี จิ้นผิง’ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพรรคเป็นสมัยที่ 3 อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยสีและพันธมิตรอีก 6 คน ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการถาวร องค์กรทรงอำนาจสูงสุดในพรรค

แม้กระชับอำนาจได้แล้วสี ยังประกาศเดินหน้านโยบายโควิดเป็นศูนย์โดยให้เหตุผลว่า เป็นนโยบายที่เหมาะสมเห็นความสำคัญของชีวิตประชาชนมาก่อนเศรษฐกิจ จุดเปลี่ยนอยู่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อพาร์ทเมนท์ในเมืองอุรุมฉี เขตปกครองตนเองซินเจียง มีผู้เสียชีวิต 10 คน ประชาชนลุกฮือประท้วงทั่วประเทศ จนรัฐบาลปักกิ่งต้องรีบผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดจนนำไปสู่การประกาศเปิดประเทศ

8.ไทย-ซาอุฯฟื้นความสัมพันธ์

หลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-26 ม.ค.2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน“ระดับปกติ”อย่างสมบูรณ์

ส่งผลต่อเนื่องถึงความสัมพันธ์ทุกด้านมีการยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ จาก “อุปทูต” ให้กลับมาเป็นระดับ “เอกอัครราชทูต” รวมทั้งมีความร่วมมือด้านแรงงาน การค้าและการลงทุน

9.ลูกค้าแห่จอง “BYD Atto3” ข้ามวัน

การเข้ามาเปิดตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ของ บีวายดี จากจีน ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างมาก ด้วยชื่อเสียงของผู้ผลิตรายนี้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบตเตอรี ที่เรียกว่า Blade Battery และระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่าย 1.199 ล้านบาท บวกกับกระแสความนิยมอีวีก่อนหน้านี้ที่มีมากกว่าปริมาณรถที่จะส่งมอบของหลายผู้ผลิต ทำให้เมื่อ บีวายดี เปิดรับจองวันแรก วันที่ 1 พ.ย. เกิดปรากฏการณ์ลูกค้าแน่นโชว์รูมที่เปิดบริการ 33 แห่งทั่วประเทศ

หลายแห่งลูกค้าล้นออกมานอกอาคาร ทาง เรเว่ ออโตโมีฟ ผู้แทนจำหน่ายในไทย ระบุว่ามีโควต้าส่งมอบ 5,000 คัน ในปี 2565 ส่วนยอดจองที่เกิดขึ้นในวันแรกประมาณ 2,500 คัน และล่าสุดวันที่ 12 ธ.ค. เรเว่ฯ ประกาศหยุดรับจองชั่วคราว หลังจากยอดสะสมทะลุ 1 หมื่นคันไปแล้ว

10.“ชัชชาติแลนด์สไลด์”

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งแรกรอบ 9 ปี เกิดปรากฎการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” หลังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ได้รับเสียงเลือกตั้งแบบท่วมท้น 1,386,215 คะแนน ทิ้งห่างลำดับที่ 2 คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ 254,723 คะแนนกว่า 1 ล้านคะแนน

ไม่ต่างจากผลการเลือกตั้ง “สมาชิกสภากทม.” ปรากฎภาพการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ หลังพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งพรรคเพื่อไทย และก้าวไกลปักธงเมืองหลวง ได้เกินครึ่งของจำนวนส.ก.ทั้งหมด ต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล เกิดจุดพลิกคะแนนนิยมหล่นวูบอย่างน่าใจหายได้สก.เพียง 2 ที่นั่ง